หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน การบริการพิเศษ

หมอสมศักดิ์ชวนคุย-50


หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน การบริการพิเศษ

เช้าวันนี้มีผู้ป่วยมาพบผมที่คลินิก แจ้งว่าไปหาหมอที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง แล้วมีเจ้าหน้าที่อธิบายว่าถ้าต้องการรักษาเร็วกว่าปกติ (เนื่องจากนัดคิวผ่าตัดต้อกระจก ต้องรอคิวนานอีก 9 เดือน) ต้องเสียเงินเพิ่มเติมให้หมออีก 10,000 บาท ผมฟังแล้วตกใจมากว่าเรื่องที่คนไข้บอกนั้นจริงหรือไม่ จึงได้รีบสอบถามกลับไปที่โรงพยาบาล เป็นไปตามคาดไว้ไม่มีผิด คือ การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ทำให้คนไข้เข้าใจผิดว่าต้องมีการจ่ายเงินพิเศษให้หมอที่รักษา แต่จริงๆ แล้ว ก็คือ ระบบการบริการนอกเวลาราชการ หรือที่นิยมเรียกกันว่า Special Medical Clinic : SMC คลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ หรือ คลินิกนอกเวลา

เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย ในการพบแพทย์เฉพาะทางโดยเฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปที่เปิดให้บริการคลินิกเฉพาะทาง จึงได้เปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการของหน่วยบริการในสังกัด เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่มารับบริการ ซึ่งการบริการรูปแบบนี้ในระบบราชการของกระทรวงสาธารณสุขนั้นเพิ่งเริ่มมีการให้บริการ ในโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์นั้นให้บริการมาเป็นเวลานานมากกว่า 10 ปีแล้ว แต่การสื่อสารกับผู้ป่วย และญาติยังไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสม หรืออะไรก็ไม่ทราบได้ ทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันว่า ค่าบริการที่เสียเพิ่มเติมไม่สามารถใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลได้นั้น เป็นเงินพิเศษที่ต้องเสียให้กับหมอผู้ทำการรักษา ผมขออธิบายดังนี้ครับ

การบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการนั้น คือ การให้บริการการตรวจรักษาเฉพาะโรคโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคนั้นๆ เช่น โรคระบบประสาท โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคตา เป็นต้น เพื่อเป็นการลดความแออัด และลดระยะเวลาการรอคอยในเวลาราชการ เพราะคิวการตรวจรักษาในเวลานั้นยาวนาน และมีผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาจำนวนมาก ซึ่งการบริการแบบนี้ มีทั้งการบริการแบบผู้ป่วยนอก (out-patient department : OPD) คือ การตรวจแล้วกลับบ้าน บางโรงพยาบาลมีการตรวจรักษาแบบผู้ป่วยใน (in-patient department : IPD) คือ การตรวจรักษาแล้วรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เช่น ต้องให้การผ่าตัด ฉีดยาต่อเนื่องวันละหลายๆ ครั้ง เป็นเวลาหลายวัน เป็นต้น ซึ่งการบริการนั้นทั้งแบบผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ก็จะให้บริการนอกเวลาราชการ และในวันหยุดราชการ แตกต่างจากการบริการแบบปกติ ซึ่งให้การบริการตรวจแบบผู้ป่วยนอกในเวลาราชการเท่านั้น การผ่าตัดเฉพาะในเวลาราชการเท่านั้น

ค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยการบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ หรือ SMC นั้น จะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเบิกได้จากระบบหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิการรักษาต่างๆ ได้ เช่น ค่าตรวจรักษาของแพทย์เฉพาะทาง ทั้งกรณีเป็นผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน รวมทั้งค่าบริการอื่นๆ เช่น ค่าผ่าตัด ค่าดมยาสลบ ค่าบริการพิเศษ และอื่นๆ ที่มีการระบุไว้ในระเบียบการเบิกจ่ายไว้แล้ว ดังนั้น ผู้ป่วย และญาติต้องเข้าใจและรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากสิทธิ์การรักษาปกติ หรือที่รักษาในระบบปกติ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ไม่ได้เป็นเงินพิเศษให้หมอเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเงินที่ต้องใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับระบบบริการแบบพิเศษของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ย้ำว่าไม่ใช่เงินพิเศษใต้โต๊ะ หรือเงินค่าลัดคิวให้หมอหรือพยาบาลใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้นการบริการ SMC หรือบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการนั้น ถ้าเรามามองให้รอบด้าน ก็จะพบประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งผมจะไม่สรุป หรือบอกว่าเป็นสิ่งดี หรือสิ่งไม่ดี ดังนี้

1. ประเด็นการลดความแออัด และระยะเวลารอคอยในเวลานั้น คงแก้ปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน แต่ก็อาจไปเพิ่มความแออัดในระบบคลินิกพิเศษ เพราะในระบบปกติมีแพทย์ร่วมให้บริการตรวจจำนวนมาก แต่ในระบบพิเศษนี้อาจมีเฉพาะแพทย์เฉพาะทางเท่านั้นที่ให้บริการ

2. ประเด็นค่าใช้จ่ายของผู้รับบริการ ก็ต้องสูงขึ้นในกรณีใช้บริการคลินิกพิเศษนี้ เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่สามารถนำไปเบิกจากสิทธิ์การรักษาได้ นอกจากเป็นบริษัทเอกชน หรือบางหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจที่สามารถนำไปเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้

3. ประเด็นการเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว ดูเหมือนจะทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องเป็นเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรคที่โรงพยาบาลเปิดให้บริการเท่านั้น และต้องมีความพร้อมในการจ่ายค่าส่วนพิเศษนี้ด้วย ซึ่งในการตรวจรักษาแบบผู้ป่วยนอกนั้น ค่าบริการอาจเริ่มตั้งแต่ 100-400 บาทหรือมากกว่านั้น แต่ก็จะยังต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชนแน่นอน ส่วนค่ารักษาแบบผู้ป่วยในนั้นก็ขึ้นกับวิธีการรักษา การผ่าตัดหรือไม่ อาการหนักรุนแรงหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ผมกะประมาณว่าก็ต้องเริ่มตั้งแต่หลักพันจนหลักแสนก็เป็นไปได้ ขึ้นกับภาวะผิดปกติ ชนิดการรักษาของแต่ละโรค

4. ประเด็นการรักษา 2 มาตรฐาน เรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าไม่มี 2 มาตรฐาน แต่ยอมรับครับว่าคงมีการบริการเป็น 2 กลุ่มในการรักษา คือ กลุ่มผู้ป่วยรักษาในเวลาปกติทั่วไป และนอกเวลา คือ กลุ่ม SMC นี้ครับ แต่วิธีการรักษา ยา การผ่าตัดก็เป็นแบบเดียวกัน แตกต่างคือช่วงเวลาที่ให้การรักษา ช่วงระยะเวลาการรอคอย ความรวดเร็วในการรักษา แต่ถ้าเป็นการรักษาเร่งด่วนฉุกเฉินนั้น จะไม่มีความแตกต่างแน่นอน เพราะการรักษาแบบ SMC นี้จะเป็นการรักษาภาวะที่ไม่เร่งด่วนทั้งหมด อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้ให้การรักษาในเวลาปกติอาจเป็นแพทย์ทั่วไป แพทย์ที่กำลังเรียน ฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะโรค ภายใต้การกำกับควบคุมโดยอาจารย์แพทย์ แต่การรักษาในระบบ SMC นั้น เกือบทั้งหมดจะให้การรักษาโดยแพทย์เฉพาะโรค หรืออาจารย์แพทย์เท่านั้น

5. ประเด็นระยะเวลาการรอคอยนั้น เมื่อผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาใช้บริการคลินิก SMC ก็จะช่วยทำให้จำนวนผู้ป่วยในการบริการปกติลดลง ก็น่าจะมีส่วนทำให้ลดความแออัด และลดระยะเวลาการรอคอยลงได้เช่นเดียวกัน

6. ประเด็นทางสังคมหรือจริยธรรมว่าคนมีเงินก็เข้าถึงการรักษาได้ดีกว่าคนไม่มีเงิน ผมว่าอย่ามองประเด็นนี้ว่าเป็นประเด็นสำคัญครับ เพราะในปัจจุบันก็มีโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐอยู่แล้ว แต่ค่าใช้จ่ายต้องเสียเองทั้งหมด ดังนั้นการให้บริการ SMC นั้นน่าจะเป็นการช่วยทำให้ผู้ป่วยที่ไม่มีเงินจ่ายเพิ่มนี้ได้รับการรักษาที่เร็วขึ้นกว่าเดิม จากเหตุผลข้างต้นที่ผมอธิบายไว้แล้ว และกลุ่มคนที่พอมีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ ก็ยังประหยัดกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน

7. ประเด็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่านี้ ผมว่าเป็นประเด็นที่สำคัญหนึ่ง คือ ทำให้มีการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแต่เดิมใช้ทรัพยากรเฉพาะในเวลาราชการ แต่ถ้ามีคลินิก SMC นี้ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ทีอยู่อย่างคุ้มค่ามากขึ้น

8. ประเด็นแพทย์ผู้ให้การรักษานั้นแตกต่างกันหรือไม่ ตรงนี้ก็ขึ้นกับระบบของแต่ละโรงพยาบาล ผมไม่สามารถให้ความเห็นในรายละเอียดได้ ในการบริการปกติการรักษาอาจให้โดยแพทย์เฉพาะโรค ร่วมกับแพทย์ทั่วไป ซึ่งการรักษาก็เป็นไปตามแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐาน แต่อาจไม่สามารถระบุการตรวจกับแพทย์เฉพาะทางที่ต้องการได้ ส่วนการตรวจรักษาใน SMC นั้นก็สามารถระบุการตรวจกับแพทย์เฉพาะโรคแต่ละท่านได้ตามที่ต้องการ

ถ้ามองในภาพรวมทั้งหมดเลย ผมมองว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกๆ ฝ่าย ตามที่ผมได้นำเสนอข้างต้น ถ้าผู้ให้บริการทุกๆ ทีมที่เกี่ยวข้องนั้นทำการรักษา ทำตามหน้าที่ให้เหมือนกัน ไม่ได้แบ่งแยกว่า กลุ่มนี้ให้บริการแบบปกติ กลุ่มนี้ให้การบริการแบบพิเศษ เพราะจริงๆ แล้วการให้บริการทั้ง 2 กลุ่มนี้ คือ แบบปกติในเวลา และแบบ SMC ควรต่างกันเพียงแค่ช่วงระยะเวลาที่ให้บริการรักษา ระยะเวลารอคอย ความแออัดที่ต่างกันเท่านั้น แต่มาตรฐานการรักษาที่เหมือนกัน ดังนั้นการสื่อสาร การอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติ ต้องชัดเจนครับ ไม่อย่างงั้นจะเกิดความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ แล้วจะทำให้สังคมเข้าใจทีมสุขภาพผิดไปอีกครับ