หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน แพทย์กับการทานอาหาร
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 17 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ซึ่งทุกคนต้องทานอาหารเพื่อให้ร่างกายสามารถมีชีวิตต่อไปด้วยดี การทานอาหารที่ถูกต้อง ควรทานอาหารตรงเวลา ครบ 5 หมู่ และใช้เวลาทานอาหารที่เหมาะสม ไม่รีบเร่งเกินไป แต่ในชีวิตแพทย์นั้นมีโอกาสในการทานอาหารตรงเวลา และมีเวลาทานอาหารที่ใช้เวลาพอเหมาะนั้นน้อยมากในวันทำงาน เพราะเราไม่มีเวลาพักทานอาหารเลย ลองดูนะครับว่าแพทย์ใช้ทุนหรือแพทย์ประจำบ้านใช้ชีวิตกับการทานอาหารอย่างไรบ้าง
เริ่มทำงานตั้งแต่เช้าประมาณ 6.00 หรืออย่างช้า 6.30 น. ด้วยการเริ่มราวด์วอร์ดหรือการดูแลรักษาผู้ป่วยแต่เช้า ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้ทานอาหารเช้าอย่างแน่นอน เพราะเลือกที่จะนอนตื่นประมาณ 5.30-6.00 ดีกว่าตื่นเช้ากว่านั้น เพื่อมาทานอาหารเช้า บางคนก็อาจดื่มกาแฟเพียงแก้วเดียวแล้วรีบมาทำงานทันที พวกเราดูคนไข้ถึงประมาณ 8.00 น. บางแผนกก็ต้องรีบไปนำเสนอผู้ป่วยที่เข้านอนรักษาเมื่อคนนี้ เพื่อวางแผนการรักษาร่วมกับอาจารย์แพทย์ บางส่วนก็แยกย้ายกันทำงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษา บางท่านก็เตรียมไปออกตรวจผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก ช่วงนี้ก็อาจมีเวลาแวะไปทานอาหารเช้าได้บ้างเป็นเวลาสั้น ๆ ประมาณ 10-15 นาทีที่โรงอาหาร เพื่อรีบออกตรวจผู้ป่วยต่อ
กิจกรรมด้านการรักษาพยาบาลต่าง ๆ ก็ดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งรับผู้ป่วยใหม่ เตรียมเอกสารผู้ป่วยกลับบ้าน ทำหัตถการต่าง ๆ ตามผลการตรวจเพิ่มเติม ขอตรวจเพิ่มเติมที่ต้องรีบทำเพื่อให้ได้แนวทางผลการรักษารวดเร็ว ส่วนที่ตรวจผู้ป่วยนอกก็ตรวจกันต่อไปจนผู้ป่วยหมด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะแล้วเสร็จไม่ตรงเวลา ดังนั้นการทานอาหารเที่ยงนั้นได้ทานเป็นส่วนใหญ่ แต่มักจะไม่ตรงเวลาเป็นส่วนใหญ่ งานตอนบ่ายก็ดำเนินต่อไปจนเกือบถึง 4-5 โมงเย็น ก็เตรียมการส่งเวร ช่วงเวลาการส่งเวรอาจใช้เวลานาน 30-60 นาที ก็แล้วแต่ความยุ่งในแต่ละแผนก
เมื่อรับเวรเสร็จ แพทย์ส่วนที่อยู่เวรก็เริ่มทำงานทันทีอย่างต่อเนื่อง เพราะชาวงบ่ายและเย็นจะมีผู้ป่วยรายใหม่เข้าเป็นจำนวนมาก ถ้าโชคดีไม่มีผู้ป่วยมีอาการผิดปกติแบบฉุกเฉินก็มักจะใช้เวลารับผู้ป่วยใหม่ไม่นานมากนัก แต่ถ้ามีผู้ป่วยเก่าที่มีอาการหนักมากขึ้น หรือมีผู้ป่วยรายใหม่ที่อาการหนักก็จะต้องใช้เวลายาวนานเลยในการให้การรักษาผู้ป่วยเหล่านั้น ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถมีเวลาปลีกตัวไปทานอาหารเย็น บางโรงพยาบาลก็จะจัดอาหารเวรตอนเย็นให้ ซึ่งอาหารเวรนั้นก็มักจะไม่แตกต่างกับอาหารที่ผู้ป่วยทานครับ เพียงแต่เตรียมมาในภาชนะที่แตกต่างกัน พวกเราก็ทานอย่างเอร็ดอร่อยครับ โดยไม่เคยสนใจในรสชาติใด ๆ เพียงแค่พอให้อิ่มเท่านั้น แล้วก็ใช้เวลาไม่มากนัก อาจเพียง 5-10 นาที ก็เพียงพอในการทานอาหารเย็นแล้ว
ดังนั้นชีวิตของพวกแพทย์เรานั้นไม่มีความประณีตด้านการทานอาหารเลยครับ แค่ขอให้อิ่มท้องไปวัน ๆ ก็พอ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้แพทย์มีโรคที่กวนใจเป็นประจำ เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน แล้วก็ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น บางครั้งผมก็มานั่งคิดในว่า ทำไมแพทย์เราส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ใส่ใจเรื่องสุขภาพ เรามีหน้าที่ดูแลสุขภาพคนอื่น ๆ แต่ลืมดูแลสุขภาพตนเอง เราควรมาใส่ใจสุขภาพของเราด้วยครับ จะได้มีร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่ดีในการดูแลสุขภาพของประชาชนครับ