หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน การรักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยยาละลายลิ่มเลือด
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 25 กันยายน 2563
- Tweet
ผมได้อ่านกระทู้หนึ่งในพันทิปที่เกี่ยวกับการสอบถามว่าใครมียาละลายลิ่มเลือดแบบฉีดติดไว้ที่บ้าน เพื่อไว้รักษาอาการอัมพาตที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ผมดีใจมากเลยนะครับที่ประชาชนให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพตนเองอย่างมาก และมีความรู้ที่ดีด้วยว่าถ้าเป็นโรคอัมพาตต้องรีบให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด วันนี้ผมเลยอยากเล่าให้ฟังว่า การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดนั้นมีความเหมาะสมในผู้ป่วยอัมพาตแบบไหน และมีขั้นตอนอย่างไรครับในการเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง
1. ผู้ป่วยโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเท่านั้นที่ให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดได้ ถ้าเป็นชนิดเลือดออกในเนื้อสมองไม่สามารถรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดได้ จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งครับ
2. ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตนเองจะเป็นอัมพาต คือ มีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ที่เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใด คือ ปากเบี้ยว แขน ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด พูดลำบาก นึกคำพูดไม่ออก ปวดศีรษะอย่างรุนแรง วิงเวียนศีรษะ เดินเซ ให้รีบไปที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทันที หรือโทร 1669 หรือใช้ application ชื่อ “fast track” หรือ “เรียกรถพยาบาล”
3. เมื่อไปถึงห้องฉุกเฉินให้แจ้งอาการผิดปกติกับเจ้าหน้าที่ พยาบาล หมออย่างชัดเจนว่ามีอาการอะไรที่สงสัยว่าเป็นอาการของอัมพาต และบอกเวลาที่เริ่มผิดปกติอย่างชัดเจน ย้ำต้องรีบไปโรงพยาบาล และจำเวลาที่เริ่มมีอาการผิดปกติให้แม่น ถ้ามียาอะไรที่ทานประจำก็นำไปด้วย จะดีที่สุด
4. แพทย์ พยาบาลและทีมสุขภาพจะรีบทำการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว ถ้าการประเมินอาการผิดปกติแล้วเข้าได้กับโรคอัมพาต ซึ่งมีอาการมาไม่นานกว่า 270 นาที แพทย์จะรีบนำผู้ป่วยไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทันที พร้อมกับตรวจเลือด
5. ถ้าผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเข้าได้กับอัมพาตชนิดสมองขาดเลือด และไม่มีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วย และญาติถึงข้อดี และข้อเสียของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด
6. ข้อห้ามของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด คือ พบมีเลือดออกในสมอง อาการทางระบบประสาทที่รุนแรงมาก หรือรุนแรงเพียงเล็กน้อย มีเลือดออกทางเดินอาหารหรือทางเดินปัสสาวะ ผ่าตัดใหญ่มาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ ความดันเลือดที่สูงเกินเกณฑ์ 185/110 มม.ปรอท และไม่สามารถลดความดันลงมาได้ทันเวลา 270 นาที ผู้ป่วยที่มีอาการมานานกว่า 270 นาที ทานยาละลายลิ่มเลือดแล้วมีผลการแข็งตัวของเลือดยาวนานกว่าค่าปกติ 1.7 เท่า และอื่น ๆ ที่อาจเป็นเหตุให้เลือดออกได้ง่าย เป็นต้น แพทย์จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและพูดคุยกับผู้ป่วย ญาติ
7. ถ้าผู้ป่วยไม่มีข้อห้าม แพทย์พิจารณาแล้วว่าได้ประโยชน์ ผู้ป่วยและญาติเห็นด้วยกับการรับยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะรีบให้ยาทันที ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เลยครับ
ย้ำว่าการรักษาต้องทำในโรงพยาบาลที่ระบบเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันมีโรงพยาบาลมากกว่า 150 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ในทุก ๆ จังหวัดมีความสามารถในการรักษาได้หมด ไม่สามารถรักษาฉีดยานี้เองที่บ้าน หรือที่คลินิกได้ครับ ที่สำคัญต้องรีบไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีอาการสงสัยว่าตนเองจะเป็นอัมพาต