หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน การบริหารเวลาของแพทย์

หมอสมศักดิ์ชวนคุย-26


หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน การบริหารเวลาของแพทย์

อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่มีความรับผิดชอบต่อชีวิตคน ต้องมีหน้าที่รักษาผู้ป่วยให้หายดี หรือมีความเจ็บปวดลดลง แต่บางครั้งก็ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ เพราะความรุนแรงของโรคที่มาก จนแพทย์ไม่สามารถรักษาให้หายได้ การเจ็บป่วยของคนเราก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่สามารถเลือกเวลา ไม่สามารถเลือกวันราชการ หรือวันหยุดได้ ดังนั้นผู้ป่วยก็จะมารับการรักษาได้ตลอดทั้งวัน แพทย์จึงต้องมีความพร้อมตลอดเวลาในการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย แพทย์จึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องมีการทำงานในเวลา และการอยู่เวรนอกเวลาราชการ ยิ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรค หรือช่วยในการรักษามากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้แพทย์มีเวลามากขึ้น แต่กลับต้องทำงานกันหนักมากขึ้น เพราะด้วยจำนวนผู้ป่วย ความต้องการ ความคาดหวังของสังคมที่มีมากขึ้นต่อระบบการรักษาของแพทย์และทีมสุขภาพ ส่งผลให้ภาระงานของแพทย์และทีมมีมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาการรอคอยที่นานมากขึ้น ทุกคนทำงานหนักมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ลดระยะเวลารอคอยหรือคิวรอลงได้ แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่ต้องทำงานหนักมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วต้องทำงานต่อเนื่องกันประมาณ 30 ชั่วโมง บางครั้งเจ็บป่วยก็ไม่ได้พัก คนในครอบครัวเจ็บป่วยก็ไม่สามารถลาไปให้การดูแลรักษาพ่อ แม่หรือลูกของตนเองได้ ซึ่งคนในวิชาชีพอื่น ๆ นอกจากแพทย์ พยาบาล และทีมสุขภาพอาจไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ยอมลาไป ทำไมแพทย์ พยาบาลถึงไม่สามารถบริหารเวลาได้ ไม่มีใครทำหน้าที่แทนได้เลยเหรอ งานอะไรจะยุ่งขนาดนั้น ผมขออธิบายให้คนในสังคมเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น ดังนี้

1. ภาระงานของแพทย์และพยาบาลในปัจจุบันที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ ยิ่งโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลจังหวัดขนาดเล็กมีปัญหาการขาดแคลนกำลังคนอย่างยิ่ง ถึงแม้จะมีตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถหาแพทย์ พยาบาลมาทำงานได้ ดังนั้นงานจึงมีมากกว่าคน ทุกคนต้องทำงานเกินศักยภาพที่ควรจะเป็น เช่น การดูแลคนไข้ของพยาบาล 1 คน ควรดูแลผู้ป่วย 4 - 6 ราย ก็ต้องดูแลผู้ป่วย 10 - 15 ราย แพทย์ควรตรวจผู้ป่วยประมาณ 6 - 8 คนต่อชั่วโมง ก็ต้องตรวจประมาณ 30 คนต่อชั่วโมง คือการทำงานที่มากกว่าควรจะเป็นประมาณ 3 เท่า ดังนั้นถ้าต้องมีใครลาไปเพียงหนึ่งคน คนที่เหลือก็ต้องทำหน้าที่แทน ซึ่งมันก็จะเป็นงานที่หนักหนาสาหัส ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานนั้น ๆ แน่นอน

2. งานบางอย่างไม่สามารถให้ใครทำหน้าที่แทนได้ เพราะเป็นงานเฉพาะบุคคล เป็นความสามารถเฉพาะตัว เช่น แพทย์ พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เฉพาะโรค คนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถทดแทนได้ เช่น แพทย์ได้นัดผู้ป่วยมาตรวจการทำงานของหัวใจ (echocardiogram) ไว้ 10 คน ถ้าวันนั้นแพทย์ไม่สบาย หรือมีภารกิจด่วน ถ้ามาไม่ได้จริง ๆ เช่น เจ็บป่วยหนักลุกไม่ไหวเลย หรือญาติเสียชีวิต ผู้ป่วยที่นัดไว้ก็ไม่ได้รับการตรวจดังกล่าว แต่ถ้าแพทย์เดินไหว พ่อแม่ป่วย พอให้ลูก ๆ คนอื่นช่วยดูแลไปก่อน จริงแล้วแพทย์พยายามจะทำการตรวจรักษาผู้ป่วยที่นัดไว้หรือมารับการรักษาโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าไว้ให้มากที่สุด เพราะเข้าใจดีว่าผู้ป่วยทุกคนที่มารอแพทย์ตรวจนั้นมีความลำบากอย่างไรในการเดินทางมาตรวจแต่ละครั้ง ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่ได้เป็นเหตุสุดวิสัยจริง ๆ แพทย์ก็จะรับผิดชอบตรวจผู้ป่วยนั้นเอง โดยไม่ได้หาทางออกด้วยการหาแพทย์ท่านอื่น ๆ ตรวจผู้ป่วยแทน เพราะแพทย์ท่านอื่น ๆ ก็ไม่สามารถตรวจแทนได้ ผู้ป่วยก็ไม่สบายใจที่ไม่ได้ตรวจโดยแพทย์ท่านเดิม

3. บางกรณีแพทย์ก็มีภารกิจด่วน เช่น การประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน หรือมีผู้ป่วยอาการหนักด่วน ทำให้ไม่สามารถตรวจผู้ป่วยได้ตรงเวลาที่นัดหมายไว้ แพทย์ก็จะรีบมาตรวจผู้ป่วยภายหลังจนแล้วเสร็จ ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคอย ไม่ได้ตรวจตรงเวลา กรณีแบบนี้ก็เป็นเหตุสุดวิสัยที่แพทย์ไม่สามารถบริหารเวลาได้ เพราะมีเหตุการณ์ที่ได้คาดคิดไว้ก่อน

4. จำนวนแพทย์ในแต่ละหน้าที่ แต่ละช่วงเวลามีจำนวนจำกัด เพราะงานมีมากกว่ามาก ๆ ทำให้ไม่สามารถจัดการทุกอย่างให้ได้เรียบร้อยในเวลา และไม่สามารถมีแผนสำรอง หรือแก้ไขได้เลยเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดเกิดขึ้น แล้วความเป็นจริง เหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ ทำให้แพทย์และทีมก็ทำงานหนักมากขึ้น ผู้ป่วยก็รอคอยมากขึ้น

ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้แพทย์จึงต้องทำงานต่อเนื่องเกินความเหมาะสมที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามเพิ่มจำนวนแพทย์และทีมสุขภาพให้เพิ่มขึ้นเพียงใด แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นผมอยากให้สังคมเข้าใจแพทย์และทีม รวมทั้งควรให้กำลังใจและที่สำคัญ ควรดูแลสุขภาพให้ดี ถ้ามีอาการผิดปกติเบื้องต้น ก็ควรดูแลตนเองเบื้องต้น อย่าลืมว่า สุขภาพเป็นเรื่องของคนทุกคนนะครับ