หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน โอกาสพัฒนาของบัตรทอง

หมอสมศักดิ์ชวนคุย-25


หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน โอกาสพัฒนาของบัตรทอง

ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมานั้นบัตรทองมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และต้องบอกว่าสร้างผลงานได้เป็นอย่างดี เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติ ที่สำคัญคือก่อให้เกิดความเสมอภาค ความมีศักดิ์ศรีของคนไทยที่เท่าเทียมกัน ลดความล้มละลายด้านการเงินเหตุปัญหาสุขภาพได้ ทำให้คนไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพ แต่อย่างไรก็ดีบัตรทองก็ถูกกล่าวหาว่าสร้างปัญหาด้านการเงินให้กับโรงพยาบาลของรัฐ เนื่องจากรายจ่ายด้านการรักษาพยาบาล และเงินเดือนของบุคลากรนั้นมีมูลค่าสูงกว่ารายรับที่ได้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ จนรัฐบาลต้องหางบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มเติม รวมทั้งการรับบริจาคจากคนไทย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ รวมทั้งจำนวนผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบการรักษานั้นมีจำนวนมากขึ้นอย่างมาก เกินศักยภาพและกำลังของบุคลากรด้านสุขภาพในโรงพยาบาลทุกระดับ ผมจึงอยากเสนอความคิดว่าบัตรทองควรพัฒนาหรือแก้ไขด้านไหนบ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

1. การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจในระบบการบริการมากขึ้นกว่านี้ และต้องพูดให้คนไทยเข้าใจว่า 30 บาทรักษาโรคอะไรได้บ้าง รักษาโรคอะไรไม่ได้บ้าง และต้องเข้ารับการรักษาตามระบบที่วางไว้ เพราะในปัจจุบันผู้ป่วยยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และยังมีผู้ป่วย/ญาติบางส่วนร้องเรียนผ่านสื่อ หรือนำเสนอผ่านสื่อโซเชียลเมื่อไม่พอใจระบบบริการ ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

2. การเพิ่มงบประมาณรายหัว รวมทั้งการแบ่งสัดส่วนของงบประมาณรายหัวให้มีความเหมาะสมในแต่ละเขตสุขภาพหรือรายจังหวัดที่แตกต่างกัน เนื่องจากปัญหาสุขภาพในแต่ละเขตสุขภาพ หรือแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการใช้งบประมาณควรมีความเหมาะสมมากกว่าปัจจุบัน

3. พัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณ และกิจกรรมของบัตรทองโดยชุมชน เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นร่วมในการจัดหางบประมาณมาร่วมในบางส่วนของงบประมาณด้านการดูแลต่อเนื่อง การส่งเสริมสุขภาพ หรือระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การส่งตัวผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาลจังหวัด และอื่นๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน เป็นต้น

4. พัฒนาระบบการร่วมจ่ายที่ต้องไม่ส่งผลกระทบกับการเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพ เพื่อให้มีงบประมาณมากพอในการบริหารระบบดังกล่าวอย่างยั่งยืน และมีคุณภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดกับคนไทย

5. พัฒนาระบบการจัดหายาที่มีความจำเป็นและค่าใช้จ่ายสูงจากส่วนกลาง แล้วจัดส่งยาให้แต่ละโรงพยาบาล เพื่อลดภาระของโรงพยาบาล ปัจจุบันยาที่จำเป็น อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ราคาแพง บางโรงพยาบาลก็ไม่จัดหายาให้อยู่ในบัญชียาโรงพยาบาล เพราะไม่สามารถจัดการด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอได้

6. ระบบการเบิกกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และไม่ควรมีการระงับการจ่าย หรือเรียกเงินคืน เพราะอย่างไรผู้ป่วยก็ได้รับการรักษาพยาบาลไปแล้ว โรงพยาบาลก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่ควรไม่มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือเรียกเงินคืน

7. หน่วยงานในการประสานสิทธิหรือรับเรื่องร้องเรียนขั้นตอนการรักษานั้นควรให้ความเป็นธรรมกับโรงพยาบาล เพราะในปัจจุบันการพิจารณามักจะให้ผู้ป่วยเป็นผู้ถูกเสมอ ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ เช่น การรักษาข้ามเขตสุขภาพ การต้องการรักษาในโรงพยาบาลศูนย์ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์

8. พัฒนาระบบการเยียวยาผู้ป่วยให้เกิดความเป็นธรรมมากกว่านี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจกับผู้ให้การรักษา บางกรณีแพทย์ผู้ให้การรักษาไม่เห็นด้วยกับการเยียวยา เพราะจะทำให้แพทย์รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ผิด เสียขวัญและหมดกำลังใจไปได้

9. การกำหนดกฎระเบียบการเบิกจ่ายที่เข้มงวดมากเกินไป ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ย่อมทำให้เกิดปัญหาการเบิกจ่าย ยิ่งส่งผลให้โรงพยาบาลมีรายรับที่ลดลงไป และก่อใหเกดความไม่เป็นธรรมกับโรงพยาบาล

10. ผู้บริหารกองทุนบัตรทองต้องพยายามทำให้ทีมสุขภาพในโรงพยาบาลต่างๆ มีทัศนคติที่ดีต่อกองทุนบัตรทอง เพราะในปัจจุบันผู้ให้การรักษาส่วนมากมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีกับการบริหารกองทุน

11. ต้องทำให้กองทุนบัตรทองกับกระทรวงสาธารณสุขมีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น มีความเข้าใจที่ดีต่อกัน จะได้ก่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานเพื่อคนไทยมากขึ้น

12. หาแนวทางการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองที่ดีกว่าในปัจจุบัน เพราะบางส่วนผู้ป่วยมีการย้ายที่อยู่เฉพาะการขึ้นทะเบียนบัตรทอง โดยไม่ได้อาศัยอยู่จริง แบบนี้ก็ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาล และไม่เป็นไปตามหลักการดูแลสุขภาพ

13. การสร้างความมั่นใจให้กับสังคมว่า การบริหารงบประมาณต่างๆ ของกองทุนบัตรทองนั้นมีความยุติธรรม เหมาะสม ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใด หรือใคร ป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในทุกรูปแบบ

14. พัฒนาแนวทางการใช้งบประมาณของกองทุนบัตรทองนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ควรมีหลายแนวทางที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ ความจำเป็นของแต่ละถานพยาบาล ไม่ควรใช้แนวทางเดียวกันในทุกโรงพยาบาล

15. การประชาสัมพันธ์ และการสร้างภาพลักษณ์ของบัตรทอง ต้องเน้นการสื่อสารที่ได้ข้อมูลถูกต้องไปยังประชาชน ไม่ใช่ทำการประชาสัมพันธ์ถึงข้อดี เพื่อเพิ่มการเข้าถึงในโรคต่างๆ แต่ไม่เคยบอกข้อจำกัด หรือขั้นตอนที่ผู้ป่วยต้องทำตามลำดับขั้น และควรบอกข้อมูลที่บัตรทองทำไม่ได้ด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและทีมผู้ให้การรักษา

16. ต้องแก้ปัญหาให้ประชาชนคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน หรือไม่มีที่อยู่ด้วย เพราะปัจจุบันก็ยังพบปัญหาดังกล่าว ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนบัตรทองได้ ส่งผลให้ทางโรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานใดๆ ได้เลย

ผมเขียนในมุมมอง และประสบการณ์ของอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งอาจไม่ครบทุกมิติเหมือนของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผมอยากให้ทุกๆ ฝ่ายร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้บัตรทอง เพื่อคนไทย และอาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วย