หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน โรงพยาบาลเหมือนร้านสะดวกซื้อ
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 28 สิงหาคม 2563
- Tweet
น่าคิดมากครับเมื่อได้ยินประโยคนี้ครับ “หมอครับ ทำไมเราถึงไม่ทำให้โรงพยาบาลเหมือนร้านสะดวกซื้อ ไปร้านไหน ร้านไหนก็สามารถซื้อของได้เหมือนกัน คุณภาพเหมือนกัน ราคาเท่ากัน พวกหมอก็มีแต่คนเก่ง ๆ หัวกะทิของสังคม ทำไมไม่ทำให้โรงพยาบาลเหมือนร้านสะดวกซื้อครับ” เป็นประโยคคำถาม และท้าทายผมอย่างยิ่ง ผมเลยกลับมานั่งทบทวนวิธีการทำงานของทีมสุขภาพว่า เราจะสามารถให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยมาตรฐานและคุณภาพที่ประชาชนมั่นใจได้ว่า “ทุกโรงพยาบาลไม่แตกต่างกัน” ผมลองออกแบบระบบบริการใหม่ เพื่อให้โรงพยาบาลเหมือนร้านสะดวกซื้อ
1. การออกแบบให้โรงพยาบาลที่มีหลายระดับ ได้แก่ ระดับ F, M, S, A ให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้ง รพ.สต. โดยการพิจารณาให้รอบคอบ โดยไม่ได้ยึดตามพื้นที่ของอำเภอ จังหวัดเท่านั้น แต่ให้พิจารณาการเข้าถึงระบบบริการของผู้ป่วย และประชาชนเป็นสำคัญ
2. ออกแบบระบบบริการและความพร้อมด้านต่าง ๆ ในโรงพยาบาลแต่ละระดับเหมือนร้านสะดวกซื้อในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมกับความจำเป็น ได้แก่ จำนวนประชากร โรคหรือปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย
3. การจัดสรรแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอตามโครงสร้าง และระดับของโรงพยาบาล โดยการพิจารณายุบรวมโรงพยาบาล หรือ รพ.สต. ที่อาจไม่มีความจำเป็นในบางพื้นที่
4. ระบบการจัดหายาให้เพียงพอกับความจำเป็นของผู้ป่วย โดยใช้ระบบการจัดหายาจากส่วนกลาง กรณีที่โรงพยาบาลนั้นๆ ไม่มียาดังกล่าว แต่มีผู้ป่วยต้องใช้ เพื่อลดการส่งต่อผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น เช่นเดียวกันกับการส่งตรวจเพิ่มเติม ก็ใช้ระบบส่งตรวจเลือดหรือสิ่งส่งตรวจอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจในโรงพยาบาลอื่น ๆ ถ้าแพทย์มีศักยภาพในการดูแล
5. ระบบบริการของแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์รวมทั้งในโรงเรียนแพทย์ร่วมออกตรวจผู้ป่วยคลินิกเฉพาะโรคในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกของประชาชน เหมือนกับการจัดโปรโมชั่นของร้านสะดวกซื้อ ที่มีการเวียนไปในสินค้าหมวดต่างๆ
6. การควบคุมคุณภาพโดยการพัฒนาศักยภาพของทีมสุขภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยต้องมีการผ่านการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐานในแต่ละหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ และต้องผ่านการประเมินในทุกกิจกรรมที่รับผิดชอบ เหมือนกับการฝึกอบรมพนักงานในร้านสะดวกซื้อ ที่ต้องมีการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ
7. การปฏิบัติงานทุกอย่างต้องมีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่เหมาะสม
8. การจัดอัตรากำลังในหน้าที่ต่างๆ ต้องสอดคล้องกับภาระงานจริง เพื่อให้การบริการนั้นเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ
สิ่งที่ผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำเหมือนร้านสะดวกซื้อ ก็คือการเปิดตลอดเวลา 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในแต่ละโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการให้การวินิจฉัย รักษาแก้ปัญหาโรคหรือปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ นั้นคงไม่เหมือนกับสินค้าที่สามารถควบคุมมาตรฐานได้ในเกือบทุกด้าน เพราะภาวะเจ็บป่วยเกิดกับคนที่มีชีวิต จิตใจ และภาวะเจ็บป่วยโรคเดียวกัน ก็มีความหลากหลายในรายละเอียดที่แตกต่างกันในแต่ละคน
อย่างไรก็ตามผมมองว่าถ้าเราสามารถออกแบบระบบบริการด้านสุขภาพให้มีความคล้ายคลึงกับร้านสะดวกซื้อได้บางส่วน ก็น่าจะทำให้การบริการด้านสุขภาพเปลี่ยนโฉมไป ประชาชนคงมีความสุขขึ้นไม่มากก็น้อย ลองคิดดู และลองทำดูก็ดีนะครับ