หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน โรงพยาบาลแบบไท

หมอสมศักดิ์ชวนคุย-19


หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน โรงพยาบาลแบบไท

โรงพยาบาลแบบไทเพื่อคนไทย ผมเขียนไม่ผิดนะครับ แบบไท ไทคือผู้ยิ่งใหญ่ และอิสระ ผมเองเป็นนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ปี 2527 และเริ่มเป็นแพทย์ในปี 2533 เป็นแพทย์ฝึกหัดแล้วก็เป็นอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 34 ปี ผมได้ผ่านช่วงเวลาที่ผู้ป่วยเจ็บป่วยแล้วไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ก็ต้องยอมเสียชีวิต เพราะไม่มีหลักประกันสุขภาพเหมือนในปัจจุบัน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้ความล่มสลายของครอบครัวคนไทยลดต่ำลงอย่างชัดเจน ลดภาวะหนี้สินที่เกิดจากการใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลง คนไทยเข้าถึงการรักษาได้สูงมากขึ้น ประเทศไทยได้รับการกล่าวขวัญและยกย่องว่าประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ดี มีความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ทำได้ดี ซึ่งผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง แล้วก็คิดว่าคนไทยเป็นคนที่โชคดีที่สุดในโลกที่เกิดในประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับคนไทย ก็มีคนที่ได้รับผลกระทบ คือ โรงพยาบาลรัฐและผู้ให้บริการ ทั้งแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาล รวมทั้งผู้บริหารด้วย มีทั้งภาระงานที่ท่วมหัว ไม่ได้นอน ไม่ได้พัก ไม่ได้ทานอาหารเป็นเวลา แพทย์ เจ้าหน้าที่บางส่วนขอลาออก เพราะไม่สามารถรับภาระงานที่มากมายได้ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ ปัญหาด้านงบประมาณก็เกิดในโรงพยาบาลจำนวนมาก จนเกิดประเด็นว่า ระบบสาธารณสุขจะล่มสลายหรือไม่ เพราะขาด หรือไม่เพียงพอทั้งคน เงิน สิ่งของต่าง ๆ ผมเป็นหมอคนหนึ่งที่ก็ได้รับผลกระทบนั้น ถึงแม้จะอยู่ที่โรงเรียนแพทย์ ไม่ได้เจอปัญหาตรง ๆ เต็ม ๆ เหมือนโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ผมนั่งคิด นอนคิดในฐานะคนไทยคนหนึ่ง และอาจารย์แพทย์ที่ต้องสอนให้หมอทุกคนมีความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วย และดูแลระบบสุขภาพของประเทศไทยให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ผมลองเสนอโรงพยาบาลแบบไท เพื่อคนไทย และความเป็นไทตลอดไป ดังนี้

1. ต้องทำให้คนในชุมชนมีความรู้สึกว่าเป็นโรงพยาบาลของคนทุกคนในชุมชนนั้น ๆ ทุกคนมีความเป็นเจ้าของ ก็จะมีความรัก ความแหนหวงต่อโรงพยาบาล ต่อสมาชิกในโรงพยาบาล ร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนาโรงพยาบาล ร่วมกันหารายได้ ร่วมกันลดค่าใช้จ่าย และร่วมกันมาเป็นจิตอาสาเพื่อโรงพยาบาลของทุกคน เหมือนกับร่วมกันทำบุญ ร่วมกันทำนุบำรุง และพัฒนาวัด เพราะทุกคนในชุมชนรู้สึกว่าวัดเป็นของคนในชุมชนครับ

2. ส่งเสริมการดูแลสุขภาพในการป้องกันการเกิดโรค การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์ การพัฒนาการ การสร้างภูมิคุ้มกัน และการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนด้านสุขภาพตั้งแต่อนุบาล หรือ สุขภาพดีเริ่มที่โรงเรียน ผมว่าน่าจะทำให้เด็กไทยรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพครับ แล้วการส่งเสริม ป้องกันจะเป็นจริงได้

3. พัฒนาโครงการสหกรณ์ยา ผมหมายถึงการที่ประชาชนหรือผู้ป่วยที่มียาเหลือใช้จากการเจ็บป่วย แล้วนำมามอบให้โรงพยาบาล เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างคุ้มค่า ถึงแม้จะดูว่าไม่ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก แต่สิ่งที่ได้มากับกิจกรรมนี้คือ การสร้างความรับผิดชอบต่อส่วนรวม การนำสิ่งที่ตนเองไม่ได้ใช้มาแบ่งปันให้คนอื่นได้ใช้ เป็นผลให้เกิดการสร้างนิสัยแบ่งปันในสังคมได้ด้วย

4. โครงการแพทย์สัญจร เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยการจัดคลินิกเฉพาะโรคที่ต้องตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องตรวจกับอายุรแพทย์ ทางโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีอายุรแพทย์ก็จัดคลินิกดังกล่าวและประสานให้อายุรแพทย์ที่พร้อมในการออกตรวจที่โรงพยาบาลชุมชน ผมว่าน่าจะลดการเดินทางของผู้ป่วยและญาติ ลดความแออัดในโรงพยาบาลจังหวัด และเพิ่มความพึงพอใจของชุมชนด้วย

5. โครงการร่วมมือกับสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง โดยการส่งแพทย์ฝึกอบรมในชั้นปีสุดท้ายออกฝึกงานที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งอาจเป็นโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถาบันฝึกอบรม หรือโรงพยาบาลชุมชนที่มีความจำเป็นต้องมีอายุรแพทย์ ประโยชน์เกิดขึ้นกับผู้เข้าฝึกอบรมและคนในชุมชน

6. โครงการสามประสาน คือ ร้านค้า โรงเรียน โรงพยาบาล เช่น การให้นักเรียนมาช่วยงานบางอย่างในโรงพยาบาลที่สามารถทำได้ อย่างเช่น การลงข้อมูล การป้อนอาหารผู้ป่วย งานเอกสาร ลงทะเบียนผู้ป่วย การทำหัตถการเป็นสิ่งที่ใช้ได้ในโรงพยาบาล เช่น ถุงผ้าใส่ยา เป็นต้น ร้านค้ากับโรงพยาบาล โดยการร่วมบริจาครายได้บางส่วนเพื่อใช้ในกิจกรรมที่ขาดงบประมาณ

7. โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโดยให้นักเรียนร่วมกันรณรงค์ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น วันสำคัญต่าง ๆ วันอัมพาตโลก เป็นต้น ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คนในชุมชน

ถึงแม้ว่าสิ่งที่ผมนำเสนออาจช่วยโรงพยาบาลได้ไม่มาก แต่ผมว่าถ้าเกิดขึ้นได้บางส่วนก็สามารถทำให้คนไทยใส่ใจให้ความสำคัญกับโรงพยาบาล ว่าไม่ได้เป็นเพียงสถานที่รักษาโรคเท่านั้น แต่โรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และมีความเป็นเจ้าของโรงพยาบาล พร้อมที่จะร่วมในการดูแลโรงพยาบาล