หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน ยาเหลือทานได้เปล่า
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 11 สิงหาคม 2563
- Tweet
ยาที่แพทย์สั่งให้ผู้ป่วยทานมักจะนิยมสั่งให้เป็นระยะเวลานานเป็นเดือน คือ 30 วัน 60 วัน 90 วัน แต่เวลาที่แพทย์นัดผู้ป่วยมาติดตามการรักษามักนิยมนัดมาเป็นสัปดาห์ เช่น 4, 8, 12 สัปดาห์เป็นต้น ดังนั้นก็จะมียาเหลือประมาณ 6 วัน ถ้านัด 12 สัปดาห์ และถ้าเป็นการรักษาต่อเนื่องระยะยาว ยาที่เหลือก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเมื่อได้ยาใหม่มาก็จะนำยาเก่าที่เหลือทิ้ง บางส่วนก็นำมาใช้ต่อ แบบไหนที่ควรทำครับ
1. ยาที่ใช้รักษาโรคประจำตัวและทานต่อเนื่องนั้น เมื่อมียาเหลือจากการที่แพทย์สั่งยาเกินมาเล็กน้อยนั้น สามารถนำมาใช้ต่อเนื่องได้ครับ เพราะยานั้นไม่น่าจะหมดอายุแน่นอน เมื่อได้รับยาใหม่มาให้ดูว่ายาที่ได้มานั้นเหมือนยาเดิมที่มีอยู่ ทานเป็นประจำหรือไม่ วิธีทานยาเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะบางครั้งแพทย์จะปรับการรักษาแต่อาจไม่ได้บอกกับผู้ป่วยได้ จึงแนะนำให้ทบทวนยาที่ได้มาก่อนเสมอ ถ้าเหมือนกันทั้งชนิดยาที่ทาน และวิธีทานก็ให้ทานยาที่เหลือก่อนให้หมด แล้วจึงนำยาที่ได้ใหม่มาทานต่อ
2. ยาเก่าที่เหลือนั้นถ้าแพทย์ไม่ได้ให้ทานต่อ ก็ควรเก็บไว้อย่างดี เพื่อไม่ให้เสื่อมสภาพ ครั้งต่อไปควรนำยาที่เหลือมาให้แพทย์หรือเภสัช เพื่อที่จะได้นำไปใช้กับผู้ป่วยคนอื่นๆ ได้ ไม่แนะนำให้นำยาที่เหลือไปให้ผู้ป่วยรายอื่นๆ โดยตรง เพราะอาจเกิดการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมได้
3. ไม่ควรเตรียมยาไว้ทาน โดยการฉีกแผงยาแล้วนำเม็ดยาออกจากแผงมาใส่ถุงพลาสติก หรือกล่องยา เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้ ถ้าจะเตรียมยาเพื่อให้ทานได้ง่าย ก็ตัดแผงยาเป็นเม็ดพร้อมแผงยา เพื่อป้องกันการเสื่อมได้
4. แผงยาที่ใช้แล้วก็ควรทิ้งแผงยานั้นได้ และควรทานยาทีละแผง ไม่ใช่ทานเปะปะไปเรื่อยทุกๆ แผง
ดังนั้นการทานยาต่อเนื่องเพื่อการรักษาโรคประจำตัวควรปฏิบัติอย่างเหมาะสมด้วยครับ ยาที่เหลือสามารถนำมาใช้ต่อได้ด้วยครับ