หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน เมื่อท่านลืมทานยาควรทำอย่างไร
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 31 กรกฎาคม 2563
- Tweet
การทานยารักษาโรคนั้นต้องทานยาต่อเนื่อง ตรงเวลาที่แพทย์แนะนำ เพื่อการรักษาให้มีประสิทธิภาพ หายจากโรคได้ แต่การทานยานั้นบางครั้งต้องทานยาวันละหลายๆ ครั้ง มีทั้งก่อน และหลังอาหาร ก่อนนอน หรือต้องทานเป็นเวลาในบางโรค ย่อมก็ให้เกิดความสับสนกับผู้ป่วยได้ และถ้าผู้ป่วยมีโรคหลายโรค ก็ย่อมทำให้การทานยาสม่ำเสมอนั้น ยิ่งต้องตั้งใจอย่างยิ่ง ดังนั้นการที่จะทานยาได้ครบถ้วนนั้น อาจลืมทานได้บ้างเป็นบางครั้ง การลืมทานยาควรทำอย่างไร ลองอ่านดูครับ
1. การทานยาก่อนอาหารนั้นมักเป็นยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน โรคกระเพาะอาหาร และยาบางชนิดที่จับกับโปรตีนในอาหาร หรือยานั้นอาจทำให้เกิดอาการอาเจียนได้เมื่อทานอาหารไปก่อนทานยา ทำให้การทานยาเหล่านี้ต้องทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งลืมทานยาก่อนอาหารบ่อยมาก เพราะพอถึงเวลาทานอาหารก็ทานอาหารเลย ไม่สามารถรอให้ทานยาก่อนอาหารแล้วอีก 30 นาทีค่อยทานอาหารได้ จึงมักไม่ได้ทานยาก่อนอาหาร ทำให้ขาดยาเป็นประจำ ก็ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมอาการหรือรักษาโรคนั้นๆ ได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผมแนะนำว่าควรทำตารางเวลาให้ชัดเจนว่าทานอาหารเวลาไหน ดังนั้นก่อนเวลาทานอาหาร 30 นาทีก็ต้องทานยาก่อนอาหาร หรือการใช้โทรศัพท์มือถือในการตั้งเวลาเตือนให้ทานยาก่อนอาหาร ดังนั้นเราต้องฝึกการทานอาหารให้เป็นเวลาแน่นอน ทานอาหารตรงเวลา ทานยาตรงเวลา เมื่อทำเป็นประจำก็ลดโอกาสการลืมทานยาแน่นอน รวมทั้งการทานอาหารตรงเวลา ก็แก้ปัญหาโรคระบบทางเดินอาหารได้ แต่ถ้าลืมทานยาก่อนอาหารจริงๆ เมื่อทานอาหารเสร็จก็สามารถนำยาก่อนอาหารมาทานหลังอาหารได้ครับ ไม่ต้องกังวลใจ ลืมทานก่อน ก็มาทานหลังอาหารได้ครับ แต่ต้องพยายามอย่าลืมบ่อยๆ เพราะยาอาจออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ การรักษาโรคอาจได้ผลไม่ดี
2. การทานยาหลังอาหาร ก็เช่นเดียวกันครับ ควรทานยาหลังอาหารประมาณ 30 นาทีเพื่อลดการที่ยาจับกับโปรตีนในอาหารที่ทานลงไป ซึ่งการทานยาหลังอาหารนั้นเป็นวิธีการทานยาที่นิยมใช้กันมากที่สุด ซึ่งยาบางชนิดก็ระบุให้ทานยานั้นทันทีหลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดี ลดการเกิดผลแทรกซ้อน เช่น ยาก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแอสไพลิน เป็นต้น การทานยาหลังอาหารนั้นมักไม่ค่อยลืม แต่บางครั้งก็ไม่ได้ทานยาหลังอาหาร เพราะว่ารีบ ไม่สามารถรอเวลา 30 นาทีหลังทานอาหารได้ ต้องมีธุระ รีบทำงาน รีบเดินทาง ทำให้ไม่ได้ทานยาหลังอาหาร วิธีการที่ผมแนะนำคือ ต้องทานอาหารให้เป็นเวลา ตรงเวลาทุกๆ วัน เพื่อความสม่ำเสมอ และป้องกันลืม ดังนั้นเราก็สามารถระบุเวลาได้ว่าต้องทานยาหลังอาหารเมื่อไหร่ การตั้งเวลาเตือนทานยาด้วยโทรศัพท์มือถือก็ช่วยได้แน่นอน ถ้าต้องรีบเดินทาง หรือทำธุระไม่สามารถทานยาหลังทานอาหาร 30 นาทีได้ ก็สามารถทานยาหลังอาหารได้ โดยไม่ต้องครบเวลา 30 นาทีก็ได้ แต่กรณีถ้าลืมทานยาหลังอาหารจริงๆ เมื่อนึกออกว่าลืมก็นำยาที่ต้องทานมาทานได้ทันที แต่ห้ามทานเพิ่มเป็น 2 เท่า กรณีที่ลืมทานยาหลังอาหารมื้อเช้า แล้วมานึกออกช่วงสายๆ ก็สามารถนำยาหลังอาหารมื้อเช้าที่ลืมมาทานได้ทันทีที่นึกออก แต่ถ้านึกออกหลังทานอาหารมื้อกลางวัน ก็ไม่ต้องนำยามื้อเช้าที่ลืมมาทานเป็น 2 เท่า ให้ทานเฉพาะยาชนิดนั้นที่ต้องทานหลังอาหารกลางวันเท่านั้น (กรณีที่ทานยา 3 เวลาหลังอาหาร)
3. การทานยาวันละครั้ง เช่น หลังอาหารเช้า การทานยาแบบนี้มักใช้กับยาที่ทานเพียงวันละ 1 ครั้ง คือยาที่ออกฤทธิ์ยาวทานวันละครั้งก็ออกฤทธิ์ได้ครอบคลุมตลอดเวลา 24 ชั่วโมง จริงแล้วอาจไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับมื้ออาหารก็ได้ แต่เพื่อให้ง่ายในการทานยา ก็เลยนำมาผูกติดกับการทานอาหาร ก็เลยทำให้ผู้ป่วยบางคนกังวลใจว่า ถ้าลืมทานยาหลังอาหารเช้า ก็เลยไม่ได้ทานยาชนิดนั้นเลยทั้งวัน ซึ่งจริงแล้วเมื่อนึกออกก็สามารถนำยามาทานได้เลย หรือทานหลังอาหารมื้อถัดไปก็ได้แล้วแต่สะดวก บางคนมียาทานหลังอาหารเช้าหลายชนิดมาก ทำให้ทานยาลำบาก เพราะจำนวนเม็ดที่มีมาก ก็สามารถแบ่งทานเป็นมื้ออาหารอื่นๆ ก็ได้ครับ แต่ต้องทานเป็นเวลาเดิมๆ ไปตลอดทุกๆ วัน เพราะต้องให้ยานั้นมีระดับยาที่ไม่แกว่งไปมา อีกปัญหาที่พบคือ ผู้ป่วยไม่ทานอาหารเช้าจะทานยาหลังอาหารเช้าได้หรือไม่ ถ้ายานั้นไม่ได้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารก็สามารถทานยาดังกล่าวได้ ยกเว้นยารักษาระดับน้ำตาลในโรคเบาหวาน ถ้าไม่ได้ทานอาหาร ก็ไม่ควรทานยาลดระดับน้ำตาล ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานต้องทานอาหารให้ครบทุกมื้อ และตรงเวลาด้วย แต่ถ้าจะปรับไปทานยาที่ทานวันละครั้งเป็นหลังอาหารกลางวันก็ได้
4. การทานยาก่อนนอน อาจมีหลายเหตุผล เช่น ยานอนหลับ ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง เซ ยาที่ใช้เกี่ยวกับโรคที่พบในระหว่างนอน กรณีนี้ต้องทานก่อนนอนกลางคืน เพราะมีคนไข้บางส่วนเข้าใจว่านอนกลางวัน นอนหลายครั้งก็ทานหลายครั้ง ยกเว้นผู้ป่วยที่ทำงานเป็นผัดเวลา และต้องทำงานผลัดดึกไม่ได้นอนกลางคืน แบบนี้ก็สามารถนำยาก่อนนอนมาทานก่อนที่จะนอนจริงๆ ในเวลาอื่นก็ได้ เช่น หลังลงเวรดึก พอทานอาหารเสร็จก่อนจะนอนก็ทานยาก่อนนอนดังกล่าวได้
5. การทานยาเป็นเวลา เช่น ยารักษางูสวัด ทานยาทุก 4 ชั่วโมง วันละ 5 ครั้ง แบบนี้ก็ต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจนเลยครับว่าจะทานยาเวลาไหน เช่น เวลา 7, 11, 15, 19, 23 น. เป็นต้น หรือจะปรับเป็น 8, 12, 16, 20, 24 น. ก็ได้ หรือยารักษาโรคพาร์กินสันที่ต้องทานเป็นเวลาตามอาการของผู้ป่วยและกลไกการออกฤทธิ์ของยา การทานยาแบบนี้ก็ต้องตรงเวลา ถ้าไม่ตรงก็ให้ผลการรักษาที่ไม่ดีแน่นอน
6. การทานยาเฉพาะช่วงที่มีอาการเท่านั้น เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้แบบนี้ก็ต้องทานยาตามคำแนะนำ การทานยาแก้ปวดที่มากเกินก็ส่งผลเสียแน่นอนทำให้เกิดปัญหาการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด ก่อให้เกิดการติดยาแก้ปวด หรือการปวดที่รุนแรงมากขึ้นจนทำให้ไม่สามารถรักษาได้ง่าย แพทย์แนะนำให้ทานยาแก้ปวดได้ครั้งละ 1 เม็ด ก็ต้อง 1 เม็ด ให้ทานได้ทุก 6 ชั่วโมง ก็ห้ามทานถี่กว่านั้น ถ้าไม่ปวดก็ไม่ควรทาน
7. การเก็บยาก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่าเก็บยาในที่อุณหภูมิสูง มีความชื้นสูง ถูกแดด ไม่ควรเก็บยาในรถ ยาบางชนิดต้องเก็บในที่อุณหภูมิเหมาะสม ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างดี
8. กรณีต้องเดินทางบ่อยๆ ก็ต้องมีการจัดแบ่งยาเป็นส่วนๆ ที่ชัดเจน และบรรจุในกล่องหรือซองอย่างดี เพื่อไม่ให้ลืมและคงประสิทธิภาพของยา
9. การจัดยาเป็นมื้อๆ ให้ผู้ป่วย เช่น คุณพ่อ คุณแม่ไว้นั้น ไม่ควรนำยาออกจากแผงที่บรรจุมา หรือยาที่ใส่ขวดสีชาเข้ามานั้น ก็ไม่ควรนำออกมาจากขวดสีชาเข้ม เพราะจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
10. การใช้ระบบตั้งเวลาเตือนในโทรศัพท์มือถือก็เป็นวิธีที่ช่วยให้ไม่ลืมทานยาได้ดี
ดังนั้นผมฝากไว้ด้วยนะครับ การทานยาที่ครบถ้วน ตรงเวลาก็ทำให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรง หายจากโรคภัยได้นะครับ