หมดไฟ (ตอนที่ 1)

หมดไฟ-1

      

      “ภาวะหมดไฟ" กลายเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งไปแล้ว เมื่อองค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดให้โรคเบิร์นเอาต์ (Burnout) หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นโรคประเภทหนึ่งที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ โดยสาเหตุมักจะเกิดจากการสั่งสมความเครียดจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน

      นอกจากนี้ WHO ยังประกาศให้โรคเบิร์นเอาต์จัดอยู่ในบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ หรือ International Classification of Diseases หรือ ICD-11 ซึ่งเป็นคู่มือทางการแพทย์ในการวินิจฉัยอาการของโรคต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาก่อนส่งผลต่อสุขภาพของคนวัยทำงานในระยะยาว

      ขณะเดียวกัน มตินี้มีขึ้นระหว่างประชุมใหญ่อนามัยโลก ครั้งที่ 72 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีการให้คำจำกัดความของภาวะหมดไฟในการทำงาน ว่าเป็นอาการที่เป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานเรื้อรัง และยังได้ตั้งเกณฑ์ 3 ข้อ ซึ่งเป็นหลักวินิจฉัยขององค์การอนามัยโลก โดยแบ่งลักษณะอาการโรคเบิร์นเอาต์ได้ดังนี้

1. รู้สึกหมดพลัง หรือเหนื่อยล้า

2. รู้สึกว่าจิตใจห่างเหินจากงานมากขึ้น มีทัศนคติด้านลบต่องาน

3. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

      ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้อธิบายว่า ภาวะหมดไฟ มีการศึกษามาค่อนข้างยาวนานประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว มีการศึกษามาเรื่อยๆ หลายร้อยงานวิจัย เช่น สาเหตุที่ทำให้คนหมดไฟ หรือผลกระทบที่เกิดจากภาวะที่คนหมดไฟ

      แต่เนื่องจากบางครั้งยังมีความคลุมเครือเกี่ยวกับสาเหตุในสมัยก่อน ที่ยังต้องการงานวิจัยอยู่มาก จึงยังไม่ได้ประกาศเป็นโรค แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยเพียงพอ มีสาเหตุชัดเจนหลายๆ อย่าง จึงมีการประกาศเป็นโรค ส่งผลทำให้คนรอบข้างเข้าใจภาวะปัญหาด้านสุขภาพจิต และไม่มองข้ามเรื่องนี้ไป

      ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า สาเหตุผู้มีภาวะหมดไฟในการทำงานจริงๆ แล้วมีได้หลายประการ โรคเบิร์นเอาต์มีตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับภาระงานที่บางครั้งก็หนักเกินไป ไม่สามารถจัดการงานที่ตัวเองมีอยู่ได้ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์จากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง ปัญหาบุคลิกภาพในการทำงาน เช่น มีบุคลิกภาพที่ไม่สามารถจัดการกับงานได้ ไม่สามารถวางแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ปัญหาส่วนตัว เช่น มีปัญหาส่วนตัวที่อื่นมาแล้วไม่สามารถทำงานได้ ก็มีความเครียดสะสม

      สิ่งแวดล้อมในการทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนผูกพันในการทำงาน ปัจจัยเรื่องคนคงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานเอง ลูกน้องที่ทำงานเอง ก็มีส่วนอย่างมากว่า คนจะรักองค์กร รู้สึกดีต่อองค์กร อยากมาทำงานหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับคน สภาพแวดล้อม ถ้าที่ทำงานแออัด สภาพอากาศร้อนจัด อากาศไม่ถ่ายเท มีเสียงดังรบกวนตลอดเวลาการทำงาน ตรงนี้ก็ทำให้คนมีสิทธิที่จะรู้สึกไม่อยากมาทำงาน แล้วก็รู้สึกเบิร์นเอาต์ได้เหมือนกัน

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Stress. https://www.mentalhealth.org.uk/a-to-z/s/stress [2019, July 20].
  2. Stress and your health. https://medlineplus.gov/ency/article/003211.htm [2019, July 20].
  3. Stress. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/11874-stress [2019, July 20].
  4. Stress symptoms: Effects on your body and behavior. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/stress-symptoms/art-20050987 [2019, July 20].