หน้าแตกเพราะเข็มทำ
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 5 มิถุนายน 2564
- Tweet
จากบรรยากาศการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกให้บุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลอ่างทองได้พบว่า พยาบาลสาววัย 27 ปี เกิดอาการกลัวเข็มขึ้นมา ทางเจ้าหน้าที่ต้องทำการช่วยปลอบใจอยู่พักใหญ่ พร้อมต้องช่วยกันจับไว้ให้แน่นเพื่อป้องกันการตกใจ บรรยากาศเป็นไปอย่างระทึกปนฮาน้ำตาไหล แต่ก็ผ่านไปด้วยดี พยาบาลสาวคนนี้บอกเสียงสั่นๆ ว่ากลัวเข็ม พร้อมหัวเราะปลอบใจตัวเองจนน้ำตาไหลออกมา ท่ามกลางเพื่อนๆ และพี่ๆ ที่มาให้กำลังใจในการฉีดวัคซีนโควิด 19
โรคกลัวเข็มฉีดยา (Trypanophobia / needle phobia) เป็นอาการกลัวเข็มที่มักเกิดในเด็กๆ ที่ไม่คุ้นกับการโดนของแหลมทิ่มเข้าในผิวหนัง อาการกลัวจะดีขึ้นเมื่อโต แต่ก็ยังมีผู้ใหญ่บางคนที่ยังคงมีอาการกลัวเข็มอย่างมากไม่ยอมหาย
ทั้งนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสาเหตุของโรคกลัวเข็มฉีดยาเกิดจากอะไร แต่ปัจจัยที่อาจนำไปสู่ความกลัวอาจได้แก่
- เคยมีประสบการณ์หรือความทรงจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับความเจ็บปวดจากการฉีดยาหรือได้รับข่าวสารที่ไม่ดีมาก่อน
- มีญาติที่เป็นโรคกลัว
- มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง
- มีอารมณ์อ่อนไหวหรืออารมณ์ด้านลบ
อาการของโรคกลัวเข็มฉีดยาสามารถมีผลต่อคุณภาพชีวิต อาการจะเกิดขึ้นเมื่อเห็นเข็มฉีดยาหรือได้รับการบอกกล่าวว่าตัวเองจะต้องถูกฉีดยา เช่น อาการเวียนศีรษะ (dizziness) เป็นลม (fainting) วิตกกังวล (anxiety) นอนไม่หลับ (insomnia) ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เหงื่อแตก คลื่นไส้ พยายามหลีกเลี่ยงหรือหนีจากสถานพยาบาล เป็นโรคแพนิค (panic attacks) เป็นต้น ทั้งนี้ การกลัวเข็มจนไม่ยอมรับการรักษาอาจทำให้เกิดโรคที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมได้ เช่น ปวดฟันแต่ไม่กล้าไปหาหมอเพราะกลัวเข็มฉีดยาจนฟันผุรากฟันเสีย
การรักษาโรคกลัวเข็มฉีดยามีเป้าหมายในการกำจัดต้นเหตุ ดังนั้นแต่ละคนอาจมีต้นเหตุที่ต่างกันไปจึงทำให้ได้รับการรักษาที่แตกต่างจากคนอื่น ซึ่งวิธีรักษาอาจได้แก่
- การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy = CBT) เกี่ยวกับการกลัวเข็ม
- การบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Exposure therapy)
- การใช้ยา (Medication) เช่น ยาคลายวิตกกังวล ยากล่อมประสาท
นอกจากนี้อาจใช้ทางเลือกโดยวิธีการฉีดยาด้วยลำพุ่งความเร็วสูง (Jet injection) ซึ่งเป็นวิธีการนำส่งยาผ่านผิวหนังทางเลือก โดยจะนำส่งยาด้วยลำพุ่งของเหลวความเร็วสูงของตัวยาเองที่เจาะทะลุผ่านผิวหนังโดยปราศจากการใช้เข็มและกระบอกฉีด
ต่อไปนี้เป็นเทคนิคในการจัดการกับโรคกลัวเข็มฉีดยาด้วยตัวเอง
- มองไปทางอื่น อย่ามองเข็ม
- ทำตัวให้ผ่อนคลาย เช่น หายใจลึกๆ คิดถึงชายทะเล ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
แหล่งข้อมูล:
- โถเอ็นดู! พยาบาลสาวกลัวเข็มวัคซีนโควิด-19 เพื่อนต้องล็อกตัว.https://www.tnnthailand.com/news/covid19/76520/ [2021, June 4].
- Trypanophobia. https://www.healthline.com/health/trypanophobia [2021, June 4].
- What Is Trypanophobia? https://www.verywellmind.com/trypanophobia-2671700 [2021, June 4].
- Techniques to Help You Overcome a Fear of Needles. https://www.cedars-sinai.org/blog/techniques-to-overcome-fear-of-needles.html [2021, June 4].