ส้นเท้าแตก (Cracked heels)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ส้นเท้าแตก(Cracked heels) คือ รอยแยก/รอยแตกหลายๆรอยที่เกิดเป็นทางยาวบนผิวส้นเท้าซึ่งมักเกิดทั้ง2ข้าง พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย พบสูงขึ้นในผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป ไม่ค่อยพบในเด็ก ทั้งนี้เกิดจากส้นเท้าแห้งมาก, ได้รับแรงเสียดสี, และ/หรือ แรงกด/แรงกระแทก อย่างต่อเนื่องเรื้อรัง, ผิวส้นท้ายจึงเกิดอาการแสดง/ภาวะที่แห้งมาก หนากร้าน แข็ง จนแตกออกเป็นร่องในที่สุด

ส้นเท้าแตก ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะ/อาการแสดง/อาการ (โรค-อาการ-ภาวะ)ที่พบบ่อยมากทั่วโลก มีการศึกษาจากประเทศศรีลังการายงานในปี ค.ศ. 2004 พบอัตราเกิดประมาณ 60%ของประชากรศรีลังกาในทั้ง 2 เพศ, ภาวะนี้มักพบในวัยผู้ใหญ่ขึ้นไป และทั้ง2เพศมีโอกาสเกิดใกล้เคียงกันขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังจะได้กล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’

อนึ่ง:

  • อีกชื่อของส้นเท้าแตก คือ Heel fissures
  • ผิวหนังแตกเป็นรอยลึก/ร่องลึก มักเกิดเฉพาะส้นเท้า เพราะส้นเท้าเป็นผิวหนังส่วนที่แห้งมาก จากมีชั้นหนังกำพร้าหนา แต่ชั้นหนังแท้บาง และยังไม่มีต่อมสร้างน้ำมันที่ให้ความชุ่มชื่นกับผิวส้นเท้า, จึงส่งผลให้ผิวหนังส่วนนี้แห้งมาก ร่วมกับยังได้รับแรงกดและการเสียดสีตลอดเวลาจึงส่งผลให้เกิดการแห้งกร้าน แข็ง และแตกเป็นร่องได้ง่าย หรือ ‘ส้นเท้าแตก’ นั่นเอง

ส้นเท้าแตกมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ส้นเท้าแตก

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงและกลไกเกิดส้นเท้าแตก ได้แก่ การที่ผิวส้นเท้าแห้งมาก จนกร้าน ด้าน แข็ง หยาบ และเมื่อร่วมกับมีแรงกดและ/หรือการเสียดสีมากต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ผิวส้นเท้าแตกเป็นร่องลึก ที่เรียกว่า ‘ส้นเท้าแตก’

ทั้งนี้สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผิวส้นเท้าแห้งกร้าน แตกฯ ได้แก่

  • เป็นผู้มีผิวแห้งจากพันธุกรรม
  • อาศัย/อาชีพที่อยู่ในภูมิอากาศที่แห้ง หรือในสถานที่ๆแห้ง ร้อน ตลอดเวลา เช่น ครัว หรือโรงงานที่ใช้ความร้อนมาก
  • ส้นเท้าสัมผัสสารที่ทำให้เกิดการ ระคายเคือง แห้ง บ่อยๆ เช่น ผงซักฟอก, น้ำยาล้างห้องน้ำ, สารเคมีต่างๆ มีรายงานรวมถึงสบู่ที่มีสารเคมีรุนแรง
  • โรคต่างๆที่ทำให้เกิดผิวแห้งมากทั่วตัวที่รวมถึงส้นเท้า เช่น
    • โรคผิวหนังต่างๆ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดต่างๆ, โรคสะเก็ดเงิน
    • โรคเบาหวาน
    • โรคเส้นประสาทส่วนปลาย
    • โรคหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดส่วนปลาย
    • โรคต่อมเหงื่อชนิดที่ทำให้ไม่มีเหงื่อหรือเหงื่อออกน้อยผิดปกติ
    • โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน โดยเฉพาะโรคหนังแข็ง
    • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ)
    • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินที่เพิ่มแรงกดต่อส้นเท้าและส่งผลให้ส้นเท้าเสียดสีกับพื้นตลอดเวลา
  • เดินเท้าเปล่าเป็นประจำ
  • ชอบใส่รองเท้าแตะ หรือ รองเท้าที่เปิดส้น หรือรองเท้าไม่มีส้น เป็นประจำ
  • ทำงานที่ต้องยืนหรือเดินทั้งวันบนพื้นที่หนาแข็ง
  • เท้าผิดปกติ เช่น เท้าแบน หรือ การเดินที่ผิดปกติ ที่ส่งผลให้เดินกดส้นเท้าเสมอ
  • รับประทานยาประจำที่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย เช่น ยาขับปัสสาวะ ผิวจึงแห้งขาดความชุ่มชื้น
  • ขาดสารอาหารที่บำรุงผิวหนัง เช่น วิตามินอี, วิตามิน บี3, วิตามินซี
  • การตั้งครรภ์ จาก
    • น้ำหนักตัวเพิ่ม น้ำหนักจึงกดลงบนส้นเท้ามากต่อเนื่อง
    • ขนาดครรภ์ที่ส่งผลถึงท่าเดินที่มีผลต่อการลงน้ำหนักส้นเท้า
    • และอาจจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังส่วนต่างๆ

ส้นเท้าแตกมีอาการอย่างไร?

อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมกับส้นเท้าแตก เช่น

  • ผิวหนังส้นเท้า หนา แข็ง ด้าน แห้งมากจนอาจขึ้นเป็นสันหรือก้อนแข็ง
  • มีร่องแตกเล็กๆทั่วไประหว่างผิวที่แห่งกร้าน
  • เจ็บ ระคายเคือง ที่ส้นเท้า โดยเฉพาะเมื่อลงน้ำหนักที่ส้นเท้า
  • อาจคัน
  • เลือดออกง่ายที่รอยแห้ง แตก
  • อาจกดเจ็บ
  • สีผิวส้นเท้าออกสีเหลืองอ่อน หรือน้ำตาลอ่อน
  • เมื่อเป็นมากจะมีการอักเสบ และมักร่วมกับติดเชื้อร่วมด้วย อาการคือ
    • ส้นเท้า รอยแห้ง แตก จะบวม แดง ร้อน ร่องแตกจะขยายใหญ่และลึกขึ้น
    • เจ็บ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัส บีบ กด เดิน
    • มีน้ำเหลืองหรือสารคัดหลั่งซึมตลอดเวลา
    • เมื่ออาการมากขึ้นจะเกิดเป็นแผลแตกเป็นหนอง และลุกลามเป็น เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ(Cellulitis)
      • ซึ่งในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี แผลติดเชื้อนี้อาจลุกลามมากจนเกิดแผลเนื้อตายที่อาจลุกลามเข้ากระดูกเท้าจนเกิดกระดูกอักเสบจนเกิดภาวะกระดูกตายจากติดเชื้อตามมาในที่สุด

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อส้นเท้าแตกจนเจ็บมากขึ้นๆหลังดูแลตนเอง หรือ เกิดการบวม แดง ร้อน หรือเป็นแผล ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลด่วน เพื่อการรักษาและป้องกันการติดเชื้อที่อาจลุกลามรุนแรงจนลายเป็นเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ

แพทย์วินิจฉัยส้นเท้าแตกและหาสาเหตุได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยส้นเท้าแตกได้จาก ซักถามประวัติอาการผู้ป่วย, ประวัติสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง(เช่น ดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’), ร่วมกับตรวจดูและคลำรอยโรคที่ส้นเท้า ก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้โดยไม่มีต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ/หรือเอกซเรย์ภาพส้นเท้า

แต่ถ้าแพทย์ต้องการหาปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน หรือกรณี มีแผล/สารคัดหลั่ง/หนอง/การติดเชื้อ แพทย์อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น

  • ตรวจเลือด เช่น
    • ตรวจซีบีซี/CBC ดู ภาวะซีด และการติดเชื้อ
    • ดูค่าน้ำตาลในเลือด/ดูเบาหวาน
    • ดูค่าฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
    • ดูค่าสารภูมิต้านทาน และสารก่อภูมิต้านทานกรณีสงสัยโรคภูมิต้านตนเอง
  • ตรวจเชื้อ อาจร่วมกับการตรวจเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่ง/หนองจากแผล
  • ตรวจภาพเท้า เช่น เอกซเรย์เท้า ดูกระดูกส้นเท้า/กระดูกเท้า

รักษาส้นเท้าแตกอย่างไร?

แนวทางการรักษาส้นเท้าแตก ได้แก่

ก. เมื่ออาการเพิ่งเริ่มเป็น ผิวเริ่มแห้งมากขึ้น แต่ยังไม่แข็ง ยังไม่เป็นร่อง การดูแลรักษาคือ การดูแลตนเอง เช่น

    • เลือกใช้รองเท้าที่หุ้มส้นเสมอ และเลือกรองเท้าให้เหมาะกับงานและประเภทกีฬา
    • เลือกผลิตภัณฑ์ที่หุ้มดูแลส้นเท้า(Heel cup)
    • ทาครีมบำรุงผิวส้นเท้าให้ชุ่มชื้นเสมอ ทั้งหลังอาบน้ำและก่อนนอน เช่นยา ปิโตรเลียม เจลลี่ (วาสลีนเจลลี)
    • ระมัดระวังส้นเท้าไม่ให้ถูกสารเคมีเรื้อรัง
    • เลือกใช้สบู่อ่อนโยนกับส้นเท้า
    • ควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อลดน้ำหนักที่กดทับส้นเท้าต่อเนื่อง
    • เมื่อผิวส้นเท้าเริ่มเป็นร่อง หรือหนาแข็ง ควรรีบพบแพทย์
    • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดส้นเท้าแตกรวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ส้นเท้าแตกรุนแรงดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ให้ได้เป็นอย่างดี (แนะนำอ่านรายละเอียดวิธีรักษา, การดูแลตนเอง, และการป้องกันโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้จากเว็บ haamor.com’

ข.แพทย์มีวิธีรักษาส้นเท้าแตก โดย

  • แนะนำชนิดรองเท้าที่เหมาะสม อาจร่วมกับใช้ผลิตภัณฑ์หุ้มส้นเท้า
  • ทาครีมที่เป็นยาลอกผิวหนังที่แห้งแข็ง(Keratolytic agent) ร่วมกับครีมให้ความชุ่มชื้นผิว เช่น วาสลีน
  • สอนการดูแลกรณีมีเลือดออก หรือมีแผลแตก
  • ให้ยาปฏิชีวนะกรณีมีแผลติดเชื้อ และอาจต้องผ่าตัด กรณีเกิดแผลเนื้อตาย หรือ กระดูกอักเสบ
  • รักษาผลข้างเคียงต่างๆที่เกิดขึ้น
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งจะทำให้เกิดส้นเท้าแตกและรุนแรง เช่น เบาหวาน , ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, โรคภูมิต้านตนเอง(แนะนำอ่านรายละเอียด วิธีรักษา, การดูแลตนเอง, และการป้องกันโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้จากเว็บ haamor.com’

ส้นเท้าแตกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากส้นเท้าแตก ได้แก่

  • เป็นปัญหาด้านความสวยงามสำหรับบางคน
  • เจ็บเรื้อรังเวลาเดิน
  • มีเลือดออกเรื้อรังจากรอยแตกที่ส้นเท้า
  • ส้นเท้าติดเชื้อ อาจรุนแรงจนเกิดฝี/หนอง, เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ, และ/หรือ กระดูกอักเสบ

ส้นเท้าแตกรุนแรง/มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของส้นเท้าแตก คือ เป็นโรคไม่รุนแรง มีการพยากรณ์โรคที่ดี ไม่ทำให้ถึงตาย แต่ถ้าดูแล รักษาไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่การรักษาจะยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายสูง และ อาจต้องใช้การผ่าตัดเข้าช่วยซึ่งอาจส่งผลถึงคุณภาพชีวิตได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองในเรื่องส้นเท้าแตกที่ดีที่สุด คือ

  • ป้องกันไม่ให้เกิดส้นเท้าแตกซึ่งทั่วไปที่สำคัญ คือ
    • หลีกเลี่ยง ป้องกัน สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
    • ป้องกัน ควบคุม รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ให้ได้ดี (แนะนำอ่านรายละเอียด วิธีรักษา, การดูแลตนเอง, และการป้องกันโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้จากเว็บ haamor.com)
    • ดูแลเท้า/ส้นเท้า ดังได้กล่าวใน ’ข้อ ก. ของหัวข้อ การรักษาฯ’
  • เมื่อเริ่มเกิดส้นเท้าแตก: การดูแลเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวใน’ข้อ ก. ของหัวข้อ การรักษาฯ’
  • เมื่อส้นเท้าแตกมาก: เช่น เจ็บเสมอเมื่อเดิน ฯลฯ, การดูแลที่ดีที่สุดคือ รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการรักษาจากแพทย์เพื่อดูแลรักษาและป้องกัน ผลข้างเคียงจากส้นเท้าแตกรุนแรง

ป้องกันส้นเท้าแตกได้อย่างไร?

ป้องกันส้นเท้าแตกได้โดย

  • หลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดส้นเท้าแตกดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง’
  • ดูแลตนเองเช่นเดียวกับดังได้กล่าวใน ’หัวข้อ การรักษาฯ ข้อ ก.’
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อเริ่มสังเกตเห็นส้นเท้าเริ่มหนา กร้าน และไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง เพื่อป้องกันส้นเท้าแตกที่รุนแรงจนอาจเกิดผลข้างเคียงจากส้นเท้าแตก

บรรณานุกรม

  1. Saroj Jayasinghe, et al. Ceylon Medical Journal 2004, 49(3):101.https://www.researchgate.net/publication/8196817_Cracked_skin_of_feet_an_ignored_entity_in_the_tropics [2021,June5]
  2. https://www.emedihealth.com/cracked-heels.html [2021,June5]
  3. https://dermnetnz.org/topics/cracked-heel/ [2021,June5]
  4. http://www.wikipodiatry.com.au/cracked-heels.php [2021,June5]
  5. https://www.feetattheclinic.co.uk/cracked-heels-fissures/ [2021,June5]
  6. https://www.verywellhealth.com/skin-anatomy-4774706 [2021,June5]