สเปคทิโนมัยซิน (Spectinomycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 มกราคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- สเปคทิโนมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- สเปคทิโนมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- สเปคทิโนมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- สเปคทิโนมัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- สเปคทิโนมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้สเปคทิโนมัยซินอย่างไร?
- สเปคทิโนมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาสเปคทิโนมัยซินอย่างไร?
- สเปคทิโนมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside)
- หนองใน (Gonorrhea)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
บทนำ
ยาสเปคทิโนมัยซิน (Spectinomycin หรือ Spectinomycin hydrochloride) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์(Aminoglycosides) ผลิตได้จากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Streptomyces spectabilis ทางคลินิกใช้เป็นยาสำหรับการรักษาโรคหนองใน(Gonorrhoea)
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยาสเปคทิโนมัยซิน ได้แก่ มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดยา เกิดผื่น คลื่นไส้ มีไข้ และทำให้นอนหลับยาก สำหรับผู้ที่แพ้ยาสเปคทิโนมัยซิน อาจมีอาการอย่างรุนแรง
โดยทั่วไปยาสเปคทิโนมัยซิน จัดว่าปลอดภัยที่จะใช้กับสตรีมีครรภ์ นอกจากนี้ ยังเหมาะกับผู้ที่แพ้ยา เพนิซิลลิน และเซฟาโลสปอริน
สเปคทิโนมัยซินมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การใช้ยาในขนาดที่เหมาะสมกับร่างกายก็สามารถรักษา โรคหนองใน ที่มีต้นเหตุจากเชื้อ Neisseria gonorrhoeae ให้หายขาดได้แล้ว ตัวยาจะทำหน้าที่ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของเชื้อแบคทีเรียทำให้แบคทีเรียขาดแคลนปัจจัยสำคัญในการขยายพันธุ์ และเพื่อเป็นการป้องกันการดื้อยาของเชื้อโรคนี้ แพทย์จะใช้ยาชนิดนี้กับเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาสเปคทิโนมัยซินเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตัวยาสเปคทิโนมัยซินไม่สามารถนำมาใช้รักษาโรคซิฟิลิส (Syphilis) ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อ Treponema pallidum ผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์จึงต้องได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์เท่านั้นเพื่อยืนยันสาเหตุของโรคที่แท้จริง และสามารถรักษาโดยใช้ยาที่ตรงกับโรค
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยาสเปคทิโนมัยซินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย และในประเทศไทยมีการใช้ยานี้/ ชนิดนี้เช่นกันซึ่งเราจะพบเห็นแต่ในสถานพยาบาลภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Trobicin’
สเปคทิโนมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาสเปคทิโนมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาโรคหนองใน (Gonorrhoea) สามารถใช้ยาได้ทั้งใน บุรุษ สตรี และเด็ก
สเปคทิโนมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาสเปคทิโนมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับไรโนโซมของแบคทีเรียตรงตำแหน่ง 30s subunit เป็นผลให้ปิดกั้นมิให้แบคทีเรีย(เชื้อหนองใน) ไม่สามารถสังเคราะห์สารโปรตีนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายพันธุ์ และเป็นเหตุให้แบคทีเรีย หยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
สเปคทิโนมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาสเปคทิโนมัยซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดแบบผงปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Spectinomycin hydrochloride ขนาด 2 กรัม/ขวด (Vial)
สเปคทิโนมัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาสเปคทิโนมัยซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 2 กรัม ครั้งเดียว ซึ่งแพทย์อาจให้ยา 4 กรัมโดยแบ่งการฉีดยาออกเป็น 2 ครั้ง
- เด็ก: ฉีดยา 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว ขนาดการให้ยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม
อนึ่ง:
- การเตรียมยานี้เพื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อให้ใช้น้ำกลั่นปราศจากเชื้อ ปริมาณ 3.2 มิลลิลิตร เจือจางตัวยา 2 กรัม เขย่าให้เข้ากันดี
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่ เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาสเปคทิโนมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาสเปคทิโนมัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
สเปคทิโนมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาสเปคทิโนมัยซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน มีไข้ หนาวสั่น
- ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดบริเวณที่ฉีดยา
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับ Hematocrit ลดลง
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ ตับอักเสบ
- ผลต่อไต: เช่น ไตทำงานผิดปกติ/ ไตอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน ลมพิษ
มีข้อควรระวังการใช้สเปคทิโนมัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้สเปคทิโนมัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้รักษาโรคซิฟิลิส
- ระวังการใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาสเปคทิโนมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
สเปคทิโนมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาสเปคทิโนมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาสเปคทิโนมัยซินร่วมกับยา Lithium ด้วยจะก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายผู้ป่วย
- การใช้ยาสเปคทิโนมัยซินร่วมกับ ยา Atracurium จะทำให้เกิดการปิดกั้นระบบ การทำงานของระบบกล้ามเนื้อของร่างกายได้ยาวนานขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาสเปคทิโนมัยซินร่วมกับยา Pancuronium ด้วยเสี่ยงต่อภาวะหายใจไม่ออกและเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามมา
- ห้ามใช้ยาสเปคทิโนมัยซินร่วมกับ วัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรค ด้วยทำให้ลดประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนดังกล่าว สามารถใช้วัคซีนฯกระตุ้นภูมิต้านทานโรคหลังจากการใช้ยาสเปคทิโนมัยซินไปแล้ว 14 วันเป็นอย่างต่ำ
ควรเก็บรักษาสเปคทิโนมัยซินอย่างไร?
สามารถเก็บยาสเปคทิโนมัยซิน ดังนี้ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ตัวยาที่เจือจางด้วยน้ำกลั่นแล้วต้องใช้ภายใน 24 ชั่วโมง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
สเปคทิโนมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาสเปคทิโนมัยซิน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Trobicin (โทรไบซิน) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/spectinomycin/?type=brief&mtype=generic[2018,Dec29]
- https://www.drugs.com/pro/trobicin.html[2018,Dec29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Spectinomycin[2018,Dec29]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00919[2018,Dec29]
- https://www.healthline.com/health/std/syphilis[2018,Dec29]