สเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย (Graft versus host disease)

บทความที่เกี่ยวข้อง
สเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย

โรคสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย/ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย (Graft versus host disease ย่อว่า GVHD) เป็นภาวะที่เป็นผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสะเต็มเซลล์จากเลือด โดยมักพบเกิดจากการได้รับสเต็มเซลล์/ไขกระดูกจากผู้อื่น/ผู้บริจาค(Donor) ที่เรียกการปลูกถ่ายสะเต็มเซลล์ใหม่ที่ได้จากผู้อื่นบริจาคนี้ว่า “Allogeneic transplantation” แต่จะไม่พบเกิดในกรณีสะเต็มเซลล์ใหม่เป็นสะเต็มเซลล์ของตัวผู้ป่วยเองที่เรียกการปลูกถ่ายสะเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเองว่า “Autologous transplantation” ทั้งนี้ พบ GVHD ได้ประมาณ 30-40%ในกรณีสะเต็มเซลล์ใหม่มีการเข้ากันทางระบบภูมิคุ้มกันได้ดีระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้สะเต็มเซลล์ใหม่(Donor) และจะเกิดได้ประมาณ 60-80%กรณีสะเต็มเซลล์ใหม่เข้ากับระบบภูมิคุ้มกันระหว่างผู้ป่วยและDonorได้ไม่ดี

โรคสะเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกายผู้ป่วย จะเกิดจากภาวะที่ภูมิคุ้มกันของสะเต็มเซลล์ใหม่ไม่ยอมรับร่างกายผู้ป่วย จึงส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยตอบสนองด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ที่เรียกภาวะนี้ว่า GVHD ซึ่งถ้า GVHD เกิดในระยะเวลา 3 เดือนหลังการปลูกถ่ายสะเต็มเซลล์ใหม่ จะเรียกว่า “ภาวะสะเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกายเฉียบพลัน(Acute GVHD)”ซึ่งพบเกิดได้ประมาณ 25-50%ของผู้ป่วย แต่ถ้า GVHD เกิดหลัง 6 เดือนไปแล้ว(ที่อาจเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 3 เดือน)หลังการปลูกถ่ายสะเต็มเซลล์ใหม่ เรียกว่า “ภาวะสะเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกายเรื้อรัง(Chronic GVHD)” ซึ่งพบได้ประมาณ 30-70%ของผู้ป่วย ทั้งนี้มีการศึกษาพบว่า ประมาณ 50%ของผู้ป่วย Acute GVHD จะมีการดำเนินโรคเปลี่ยนไปเป็น Chronic GVHD

อาการ:

ก. อาการของ Acute GVHD ได้แก่

  • ปวดท้อง ที่มักปวดแบบปวดบีบ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ตับทำงานผิดปกติ ตัวเหลืองตาเหลือง
  • มีผื่น คัน แดง ขึ้นตามผิวหนัง ทั่วตัว

ข. อาการของ Chronic GVHD ได้แก่

  • ผอมลง น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  • ปวดข้อต่างๆ ข้อติด/ข้อต่างๆเคลื่อนไหวได้ยาก
  • ตาพร่า ตามัว ตาแห้ง
  • ปากแห้ง ช่องปากเป็นแผล กินเผ็ดไม่ได้
  • ปอดอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้หายใจลำบาก ปอดติดเชื้อได้ง่าย
  • ผิวหนังหนาและแข็งขึ้น อาจขึ้นผื่นร่วมด้วย
  • ในผู้หญิง จะมีช่องคลอดแห้งมาก

การวินิจฉัย:

แพทย์วินิจฉัย GVHD ได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจต่างๆทางห้องปฏิบัติการตามดุลพินิจของแพทย์

การรักษา:

แพทย์รักษGVHDโดยการใช้ยากดภูมิคุ้มกันต่างๆไปตลอดชีวิตผู้ป่วย ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

การพยากรณ์โรค:

การพยากรณ์โรคของ GVHD ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ โดยภาวะนี้ที่รวมทั้งธรรมชาติของโรค/ธรรมชาติของภาวะนี้ และวิธีรักษาที่ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตผู้ป่วย มักส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำจึงมักติดเชื้อต่างๆได้ง่าย ซึ่งในผู้ป่วยบางราย การติดเชื้ออาจรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้อัตราเสียชีวิตจาก GVHD ทั้งชนิดเฉียบพลัน หรือชนิดเรื้อรัง พบได้ประมาณ 10-15%

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Graft-versus-host_disease [2017,Aug26]
  2. https://medlineplus.gov/ency/article/001309.html [2017,Aug26]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2018687/[2017,Aug26]
  4. http://bestpractice.bmj.com/best-practice/monograph/946/basics/epidemiology.html[2017,Aug26]
  5. https://www.hindawi.com/journals/isrn/2013/232519/[2017,Aug26]