สาเหตุการอ่อนแรงที่พบบ่อย (Common Causes of Motor Weakness)

สารบัญ

บทนำ

อาการอ่อนแรง หรืออาการอัมพาต (Motor weakness) เป็นอาการที่ผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อย และทุกคนไม่อยากให้เกิด สาเหตุที่พบบ่อยมีหลากหลายสาเหตุ มีการรักษาที่แตกต่างกันตามสาเหตุ และผลการรักษาก็ขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบข้อ มูลในอาการอ่อนแรง ต้องติดตามบทความนี้เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น

สาเหตุพบบ่อยของการอ่อนแรงมีอะไรบ้าง?

สาเหตุการอ่อนแรง

สาเหตุที่พบบ่อยของอาการอ่อนแรง คือ

  • โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต (Stroke หรือ Cerebrovascular disease)
  • โรคไขสันหลังอักเสบ (Myelitis)
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis:MG)
  • โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis)

โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต (Stroke หรือ Cerebrovascular disease) มีลักษณะอย่างไร?

โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต คือ โรคที่เกิดจากมีความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง มี 2 ชนิด คือ สมองขาดเลือด (Ischemic stroke) และ เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic stroke)

  • อาการผิดปกติของโรคหลอดเลือดสมอง คือ ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงขึ้นมาอย่างทันที หรืออย่างรวดเร็ว (Sudden หรือ Acute onset) การอ่อนแรงเป็นแบบครึ่งซีกของร่างกาย ซีกซ้ายหรือซีกขวาซีกใดซีกหนึ่งเพียงซีกเดียว หรือ อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่ ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท (Facial palsy) พูดไม่ชัด พูดลำบาก (Dysarthria) พูดหรือฟังไม่เข้าใจ/ภาวะเสียการสื่อความ (Aphasia) เดินเซ (Ataxia) วิงเวียน (Vertigo) โดยโรคนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ ในคนมีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง) อ้วน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย และมีประวัติครอบครัวเป็นโรคอัมพาต
  • การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง แพทย์จะพิจารณาจากประวัติอาการที่มีอาการขึ้นมาอย่างรวดเร็วในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับการตรวจร่างกายพบความผิดปกติทางระบบประ สาทดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ซึ่งถ้าผลการตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด และถ้าเป็นเลือดออกในสมองจะพบการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมอง คือ เห็นเนื้อสมองเป็นสีขาวชัดขึ้น (Hyperden sity) แต่ถ้าเป็นสีดำ (Hypodensity) ก็เข้าได้กับโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด เช่นเดียวกับผลตรวจปกติ (เหตุผลการตรวจปกติในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้นต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงจนกว่าจะเห็นความ ผิดปกติ ยกเว้นรอยโรคขนาดใหญ่ หรือเกิดรอยโรคมานานหลายวัน)
  • การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ประกอบด้วย การใช้ยาต่างๆ การทำกายภาพบำ บัด การผ่าตัด และการรักษาปัจจัยเสี่ยง และโรคร่วม

การรักษาด้วยยาในปัจจุบัน กรณีโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด จะให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drug) แต่ต้องให้การรักษาอย่างรวดเร็วหลังจากเกิดอาการผิดปกติไม่เกิน 270 นาที (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่องอัมพาต:270 นาทีชีวิต) แต่ถ้าผู้ป่วยมาช้ากว่า 270 นาที การรักษาก็จะเป็นการให้ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) เพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และรัก ษาปัจจัยเสี่ยง

ส่วนกรณีเป็นชนิดเลือดออกในสมอง การรักษาหลัก คือ การทำกายภาพบำบัด การควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ และถ้ารอยโรคมีขนาดใหญ่ ก็จะต้องผ่าตัดเอาก้อนเลือดออก

อนึ่ง การรักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้น ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อป้อง กันการเป็นซ้ำ

  • การพยากรณ์โรคของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด ถ้ามารับการรักษาทันในช่วง 270 นาทีแรก และได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด มีโอกาสหายจากอาการผิดปกติสูงถึง 50% ของผู้ป่วยที่ระยะเวลา 3 เดือนหลังรักษา กรณีมาไม่ทัน 270 นาทีแรกนั้นก็มีโอกาสหาย แต่น้อยมาก มีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ร่วมกับการรักษาโรคร่วมที่เป็นอยู่ด้วย เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ

    กรณีเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกนั้น ผลการรักษาขึ้นกับขนาดเลือดที่ออก และตำแหน่งของก้อนเลือด โดยทั่วไปแล้วถ้าผู้ป่วยไม่เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงแรกหลังเกิดอา การนั้น ผลการรักษามักได้ผลดี โดยมีโอกาสการฟื้นตัวของอาการอ่อนแรงดีพอสมควร แต่ต้องหมั่นทำกายภาพบำบัด และควบคุมความดันโลหิตให้ดี การรักษาจึงต้องรักษาไปตลอดชีวิตเช่น เดียวกับโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด

  • การพบแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือความผิดปกติทางระบบประสาทอื่น ๆ ที่เป็นขึ้นมาอย่างทันที หรืออย่างรวดเร็วนั้น ควรพบแพทย์ทันที เพื่อให้การประเมินว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ ถ้าใช่ จะเป็นชนิดสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงเป็นๆหายๆ ก็ต้องควรรีบพบแพทย์เช่นเดียวกัน
  • การดูแลตนเองเบื้องต้น การดูแลตนเองเบื้องต้นในผู้ป่วยที่สงสัยโรคหลอดเลือดสมองนั้น คือ การป้องกันการสำลักอาหาร น้ำลาย กรณีมีอาการพูดไม่ชัด และ/หรือกลืนลำบากร่วมด้วย และให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ไม่ควรรอสังเกตอาการว่าจะดีขึ้นหรือไม่
  • การป้องกัน การป้องกันโรคนี้ คือ การลดปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง การไม่สูบบุหรี่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการไม่ให้อ้วน ถ้ามีโรคต่างๆร่วมด้วย ก็ต้องให้การรักษาควบคุมโรคเหล่านั้นให้ดี ถ้าเกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ก็ยิ่งต้องรักษาโรคร่วมให้ดีขึ้นไปอีก เพื่อป้องกันการเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองเป็นซ้ำ

โรคไขสันหลังอักเสบ (Myelitis) คืออะไร?

โรคไขสันหลังอักเสบ คือ โรคของไขสันหลังที่มีสาเหตุจากการอักเสบ (Myelitis) โดยอาจมีสาเหตุจาก

  • การติดเชื้อไวรัส
  • การอักเสบภายหลังการติดเชื้อไวรัส (Post-viral infection)
  • โรคปลอกประสาทอักเสบ (Demyelinating disease)
 
  • อาการโรคไขสันหลังอักเสบ
    • กรณีมีการอักเสบของไขสันหลังส่วนอกหรือส่วนเอว ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของขาทั้ง 2 ข้าง (Paraplegia) โดยร่วมกับอาการชา ปัสสาวะ อุจจาระลำบาก
    • แต่ถ้ามีความผิดปกติของไขสันหลังส่วนคอ ก็จะมีการอ่อนแรงของแขนและขา 2 ข้าง (Quadriplegia)

    ทั้งนี้อาการมักเป็นแบบรวดเร็ว (Acute onset) คือ มีอาการอ่อนแรงภายใน 1-3 วัน ส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุตามหลังจากการติดเชื้อไวรัส (Post-viral infection) แล้วร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคมาทำร้ายไขสันหลัง ให้เกิดการอักเสบของไขสันหลังแบบสมบูรณ์ (Complete cord syndrome) คือ เสียหน้าที่ของไขสันหลังทั้งหมดคือ ด้านกำลังกล้ามเนื้อ ความรู้สึก และระบบประสาทอัตโนมัติ

    กรณีเกิดจากปลอกประสาทอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการของไขสันหลังอักเสบร่วมกับประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis) และเป็นซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)

  • การวินิจฉัยโรคไขสันหลังอักเสบ แพทย์จะพิจารณาจากประวัติอาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย และการตรวจสืบค้นด้วยการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การตรวจเอมอาร์ไอภาพไขสันหลัง และตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองไขสันหลัง (CSF:Cerebrospinal fluid/อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การเจาะน้ำไขสันหลัง) และ/หรือ การตรวจเลือดด้านภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
  • การรักษาโรคไขสันหลังอักเสบ ได้แก่การให้ยาสเตียรอยด์ การทำกายภาพบำบัด แต่การผ่าตัดไม่มีบทบาทในการรักษาโรคไขสันหลังอักเสบ
  • การพยากรณ์โรค โรคไขสันหลังอักเสบมีการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างได้ผลดีในผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องขึ้นกับการรักษาช่วงแรก กล่าวคือ ผู้ป่วยต้องรีบมาพบแพทย์ เพื่อ ให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการ การรักษาระยะยาวก็มีความสำคัญ เพราะมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจมีอาการเกิดเป็นซ้ำได้ และกลายเป็นโรคปลอกประ สาทเสื่อมแข็งได้ จึงต้องมีการติดตามการรักษาเป็นระยะเวลานาน และถ้าเป็นโรคปลอกประ สาทเสื่อมแข็ง ก็ต้องให้การรักษา เพื่อป้องกันลดโอกาสการเกิดเป็นซ้ำ และการทำกายภาพ บำบัดต่อเนื่อง ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะผู้ป่วยไขสันหลังอักเสบมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน จากภาวะขาอ่อนแรง และปัสสาวะไม่ออก เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) และแผลกดทับได้สูง
  • การพบแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการขาสองข้างอ่อนแรง หรือปัสสาวะลำบาก ร่วมกับอาการชาของขานั้น ควรพบแพทย์ให้เร็วเช่นเดียวกัน เพราะการรักษาตั้งแต่มีอาการที่ไม่มาก และเพิ่งมีอาการ การตอบสนองต่อการรักษาจะดีมาก
  • การดูแลตนเองเบื้องต้น ที่สำคัญคือการรีบมาพบแพทย์ และเมื่อกลับไปรักษาพักฟื้นต่อที่บ้าน สิ่งสำคัญคือการทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง เพื่อการฟื้นตัวที่ดี และป้องกันการเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน
  • การป้องกัน การป้องกันโรคไขสันหลังอักเสบนี้ทำได้ยากมาก เพราะสาเหตุเกิดจากภา วะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามพบว่า ถ้าเราดูแลตนเองให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย (การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) ก็น่าจะลดโอกาสการเกิดโรคนี้ได้ และถ้ามีอาการเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำอีก

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis:MG) คืออะไร?

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี คือ โรคความผิดปกติของรอยต่อระหว่างเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction:NMJ)

  • อาการ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา และ/หรือทั้งตัว รวมทั้งหนังตาเมื่อทำกิจกรรมต่อเนื่อง (Fatigue) และอ่อนแรงมากช่วงบ่ายของวัน (Fluctuation) ผู้ป่วยมีอาการหนังตาตก ลืมตาลำบาก อ่อนแรงของต้นแขน ต้นขา (ไหล่ สะโพก)
  • การวินิจฉัย โดยแพทย์พิจารณาจากอาการผู้ป่วย การตรวจร่างกาย และการตรวจข้างเตียง (Bed-side) เช่น การให้ผู้ป่วยลืมตามองเพดานนานประมาณ 1 นาที หนังตาจะตก ลืมตาลำบาก (Ptosis) มากขึ้น หรือการฉีดยา Prostigmine เพื่อดูการตอบสนองของหนังตา
  • การรักษา โดยการใช้ยา Mestinon (ยาควบคุมสารที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง) ร่วมกับการผ่าตัดต่อมไทมัส (Thymectomy) กรณีที่อาการเป็นชนิดทั้งตัว (Generalized MG) แต่ถ้าอาการเป็นชนิดเฉพาะลูกตา (Ocular MG) การรักษาคือ ยา Mestinon ร่วมกับ ยาสเตียรอยด์
  • การพยากรณ์โรค โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี เป็นโรคที่มีผลการรักษาดีมาก ตอบ สนองดีต่อการรักษาด้วยยาและการผ่าตัดต่อมไทมัส
    • ประมาณ 50% ของผู้ป่วยสามารถหยุดการรักษาได้ คือหายขาดเป็นปกติ
    • 20-25% สามารถลดขนาดยาที่รักษาลงได้
    • แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา จำเป็นต้องได้ยา Mestinon ไปตลอด
  • การพบแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี ควรพบแพทย์ให้เร็ว เพราะอาจมีอาการกล้ามเนื้อระบบการหายใจอ่อนแรง จนทำให้หายใจไม่ไหว และอาจเสียชีวิตได้
  • การดูแลตนเองเบื้องต้น การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อทราบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี คือ การพักผ่อนให้พอ เพราะอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆนั้นจะเป็นมากขึ้นถ้าพักผ่อนไม่พอ หรือมีการใช้งานที่หนัก ควรดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรง เพราะการเจ็บป่วยแต่ละครั้งก็ส่งผลให้อาการอ่อนแรงเป็นมากขึ้น
  • การป้องกัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจีไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้โรคมีความรุนแรงได้ โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เช่นดังกล่าวในข้อข้างต้น

โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) คืออะไร?

โรคกล้ามเนื้ออักเสบ คือโรคที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อ เกิดจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายผิดปกติ มีการทำร้ายกล้ามเนื้อตนเอง

  • อาการ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีอาการชา โดยเฉพาะอาการอ่อนแรงของต้นแขน ต้นขา
  • การวินิจฉัย แพทย์พิจารณาจากอาการผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่ม เติม เช่น ตรวจเลือดดูเอนไซม์กล้ามเนื้อ (Creatine kinase) และดูด้านภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรค บางกรณีอาจต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และอาจตรวจการทำ งานของกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า (Electromyography:EMG)
  • การรักษา การรักษาโรคกล้ามเนื้ออักเสบ คือ การให้ยาสเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • การพยากรณ์โรค โรคกล้ามเนื้ออักเสบนั้น ส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาดี การรัก ษาจำเป็นต้องได้รับยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานประมาณ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาดีมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่หายดี แต่ในบางกรณีก็ต้องได้รับยา กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อเป็นระยะเวลานาน
  • การพบแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรง ควรรีบพบแพทย์เสมอ เพราะถ้าได้รับการรักษาล่าช้า อาจส่งผลต่อการหายจากโรค เนื่องจากถ้ามีการอักเสบของกล้ามเนื้อเป็นระยะเวลานาน กล้ามเนื้อจะมีการฝ่อลีบ (Atrophy) ที่ฟื้นตัวกลับปกติได้ยาก
  • การดูแลตนเองเบื้องต้น การดูแลตนเองที่สำคัญในโรคกล้ามเนื้ออักเสบ คือ การป้อง กันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากยาสเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ภาวะติดเชื้อ โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน เป็นต้น
  • การป้องกัน การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออักเสบไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อเกิดโรคแล้วก็ต้องรักษาให้หาย โดยการทานยาสม่ำเสมอ ทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันการฝ่อของกล้ามเนื้อ และป้องกันการติดเชื้อ โดยต้องทำให้ร่างกายแข็งแรง โดยการรักษาสุขอนามัยพื้น ฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

สรุป

เมื่อท่านมีอาการอ่อนแรง การดูแลเบื้องต้นเป็นสิ่งที่สำคัญ และเมื่อท่านมีอาการที่สงสัยโรคดังกล่าวข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เสมอ

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง อาการอ่อนแรง ในเว็บ haamor.com