สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 40: คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยต้อหินที่รักษาด้วยยาและผ่าตัด

เป็นที่ทราบกันดีว่า ต้อหินเป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีแนวโน้มที่จะมีการสูญเสียสายตาสูง การรักษาโดยเฉพาะต้อหินเรื้อรังมีทั้งด้วยการใช้ยา และ/หรือผ่าตัด บางรายแม้รับการผ่าตัดไปแล้วอาจต้องให้ยาเพิ่ม เฉกเช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั่วไป

ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีเท่าคนปกติด้วยหลายเหตุ เช่น ความกังวลในโรคที่เป็น กลัวว่าสายตาจะมัวลง ความไม่สะดวกในการรักษา ในการรับการตรวจที่สม่ำเสมอ ผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาที่มากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันในยาชนิดต่างๆ ตลอดจนในผู้ป่วยแต่ละคน ยังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจากราคายาและค่าผ่าตัดที่แตกต่างกัน

เร็วๆ นี้มีรายงานของคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยต้อหินที่รักษาด้วยยาเทียบกับที่รักษาด้วยวิธีผ่าตัดที่ลงในวารสารต้อหิน Journal of glaucoma ปี 2013 vol 22(5) 369 – 373 ที่ศึกษาผู้ป่วยต้อหิน 240 คน ในคลินิกรักษาโรคต้อหิน 2 แห่ง ในประเทศบราซิล โดยวิธีสอบถามถึงคุณภาพชีวิตตามแบบ NEI VFQ – 25 ที่สอบถามถึงปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สุขภาพทั่วไป อาการปวดตา สายตาไกล – ใกล้ สภาพทางสังคม สุขภาพจิต ความรู้สึกตลอดจนมีข้อจำกัดต่างๆ มีความรู้สึกต้องพึ่งพาผู้อื่น ความสามารถในการขับรถ การเห็นสี ตลอดจนความกว้างของลานสายตา ฯลฯ โดยให้เป็นคะแนนในแต่ละหัวข้อแล้วนำมาคำนวณ

การศึกษาแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ใช้รักษาด้วยยา กลุ่มที่ 2 ด้วยวิธีผ่าตัด กลุ่มที่ 3 รักษาด้วยยาร่วมกับการผ่าตัด โดยกระจายให้ไม่แตกต่างกัน ใน 3 กลุ่ม ในแง่ อายุ เพศ เชื้อชาติ ชนิดของต้อหิน ระยะต่างๆ ของโรค (สูญเสียสายตาไปมากน้อย) ตลอดจนระดับการศึกษาของผู้ป่วย

จากการศึกษาผู้ป่วยต้อหินกลุ่มนี้ (ทั้ง 3 กลุ่ม) พบว่าได้คะแนนคุณภาพชีวิตเป็น 68.17 ซึ่งอาจจะต่ำกว่าการศึกษาศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่พบคุณภาพชีวิตด้วยคะแนน 92.8 ในคนปกติ ได้ 78.3 ในผู้ป่วยต้อหิน และ 36.6 ในคนตาบอด ในขณะเดียวกันพบคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยต้อหินชาวญี่ปุ่นเป็น 78.2 ดูเหมือนว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ในบราซิล มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกัน หากดูคุณภาพชีวิตในแต่ละกลุ่มพบว่า กลุ่มที่ 1 ได้ 78.46 คะแนน กลุ่มที่ 2 ได้ 65.85 และกลุ่มที่ 3 ได้ 60.51 โดยค่านัยสำคัญทางสถิติ คือ P < 0.001 สรุปว่า โดยรวมการรักษาด้วยยาผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการผ่าตัด หากนำมาพิจารณาผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาที่มีสภาพความรุนแรงของโรค พบว่าความรุนแรงน้อยหรือเริ่มเป็นต้อหิน การรักษาด้วยยาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า หากเป็นผู้ป่วยที่เป็นต้อหินปานกลางหรือค่อนข้างรุนแรง คุณภาพชีวิตของผู้รักษาด้วยยาและผ่าตัดไม่แตกต่างกัน

หากพิจารณาชนิดของยาที่ใช้ ยาในกลุ่มเดียวกัน คือกลุ่ม Prostaglandin พบว่า คุณภาพชีวิตของผู้ใช้ยา Bimatroprost ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับ ยา Latanoprost จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า