สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 24: ความผิดปกติทางตา/ตาโปนอันเนื่องจากโรคต่อมไทรอยด์
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 27 มิถุนายน 2556
- Tweet
อาการผิดปกติทางตา หรือ บางคนเรียกว่า ตาโปน ที่เกิดจากโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ อาจเรียกกันว่า Grave ophthalmopathy เป็นอาการแสดงทางตาอันเนื่องมาจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ ผิดปกติ อาจจะพบเกิดตอนที่กำลังอยู่ในภาวะมีไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (hyperthyroid) หรือ การทำงานของต่อมไทรอยด์ปกติ (euthyroid) ตลอดจนขณะที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (hypothyroid)ก็ได้
การเกิดอาการต่างๆ ทางตาเชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากภูมิคุ้มกันตัวเองของผู้ป่วย (autoimmune) ที่ผิดไป ที่เกี่ยวข้องกับโรคของต่อมไทรอยด์
ภาวะตาโปนในโรคของต่อมไทรอยด์นี้ พบในหญิงมากกว่าชาย 6 เท่า พบความผิดปกติทางตาในระยะมีไทรอยด์ฮอร์โมนสูงประมาณ 90% ในผู้ป่วยช่วงมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำประมาณ 1% ในขณะที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนปกติประมาณ 6% ที่เหลือประมาณ 3% พบในภาวะมีต่อมไทรอยด์อักเสบที่เรียกว่า Hashimoto thyroiditis
ประมาณ 20% ของผู้ป่วย จะพบอาการทางตาพร้อมๆ กับอาการทางกายอันเกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ประมาณ 60% พบมีอาการทางตาหลังจากมีอาการทางกายประมาณ 1 ปี ในผู้ป่วยที่มีอาการทางตาแต่ไม่มีอาการทางกายมักพบอาการทางกายได้ประมาณ 25% ในระยะเวลาประมาณ 1 ปี และประมาณ 50% ในระยะเวลาประมาณ 5 ปี หลังพบอาการทางตา
อาการผิดปกติทางตาที่พบ ได้แก่
- หนังตาบนร่นขึ้น (eyelid retraction) ทำให้เมื่อผู้ป่วยมองตรงไปข้างหน้า หนังตาบนควรปิดตาดำส่วนบนเล็กน้อย ไม่เห็นตาขาว แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากหนังตาบนร่นขึ้น จึงเห็นตาขาวด้านบน เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุด อาจเป็นตาเดียว หรือทั้ง 2 ข้าง ทำให้เหมือนผู้ป่วยจ้องตา เบิ่งตา หรืออยู่ในภาวะตื่นตระหนกตลอดเวลา
- ตาโปน ส่วนมากเป็นทั้ง 2 ตา แต่อาจเป็นข้างเดียวก็ได้
- มี lid lag กล่าวคือ ในภาวะปกติ เมื่อให้ผู้ป่วยเหลือบตาลงต่ำ เปลือกตาบนจะต้องตามลงต่ำด้วย แต่ผู้ป่วยภาวะนี้เปลือกตาบนจะตามลงมาน้อยกว่า
- เปลือกตาดูบวมกว่าปกติ บางรายมีสีคล้ำลง
- ตากระพริบน้อยลง และกระจกตาอาจเป็นแผลในรายที่ตาโปนมากทำให้หลับตาไม่สนิท
- มีอาการแสบตา ตาแห้งง่ายขึ้น
- มีปัญหาที่กล้ามเนื้อกลอกตา มีการบวม มีเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte เข้าไปแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อในบริเวณเบ้าตา การตรวจด้วย x-ray จะพบกล้ามเนื้อนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อบางมัดทำงานไม่ได้เต็มที่ โดยมักจะเป็นที่กล้ามเนื้อมัดที่ชื่อ inferior rectus , medial rectus หรือ superior rectus ตลอดจน lateral rectus ทำให้เห็นภาพต่างๆไม่ชัด (เห็นเป็นภาพซ้อน,diplopia) หรือบางรายทำให้ผู้ป่วยต้องเอียงหน้าตลอดเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเห็นภาพซ้อน
- เนื้อเยื่อหลังลูกตาที่บวมมากเกินไป อาจไปกดเส้นประสาทตา ทำให้การมองเห็นลดลง (compressive optic neuropathy) ภาวะนี้สำคัญที่สุด เพราะทำให้การมองเห็นลดลงอย่างรวดเร็วต้องรีบรับการรักษา