สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ไม่ยอมรับว่าตาบอดสี

สาระน่ารู้จากหมอตา

นายสมชาย สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โดยติดคณะเภสัชศาสตร์ สมดังที่หวังไว้ ดีใจเลี้ยงฉลองกันอยู่หลายวัน จนถึงวันสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย ปรากฏว่าสมชายตกตาบอดสีในการทดสอบจากแผ่นภาพ Ishihara ทั้งสมชายและพ่อ-แม่ ต่างไม่ยอมรับ พร้อมกับโวยวายว่าถูกกลั่นแกล้งให้สอบตก จึงต้องส่งมาทดสอบโดยจักษุแพทย์ ผลการตรวจพบว่าสมชายบกพร่องการเห็นสีจริง ๆ คุณสมชายแจ้งว่าเขาเห็นใบไม้เป็นสีเขียว เรียกวัตถุสีเขียวที่เอามาตรงหน้าได้ถูกต้อง เห็นดอกไม้สีแดงก็บอกว่าสีแดงได้เหมือนคนอื่น จึงสงสัยว่าทำไมหมอมาบอกว่าตาบอดสี

ตาบอดสี ที่จริงคือการเห็นสีไม่เหมือนคนอื่น หากมีวัตถุสีแดงอยู่ตรงหน้า ผู้ที่พร่องสีแดงเห็นวัตถุตรงหน้าไม่เป็นสีแดง อาจจะออกสีเทา ๆ แต่เห็นและทราบมาว่าสีแบบนั้นตั้งแต่เกิด และถูกสอนว่าสีที่เห็นข้างหน้านี้เขาเรียกกันว่าสีแดง ผู้ที่มีตาบอดสีใดสีหนึ่งผิดปกติ เห็นสีข้างหน้าไม่เหมือนคนปกติจริง แต่ถูกสอนให้เรียกสีเช่นคนปกติ ผู้มีตาบอดสีแต่กำเนิดจึงมักบอกสีวัตถุต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามที่ฝรั่งมักใช้คำว่า name the color correctly ต้องมีการตรวจด้วยแผ่นภาพสีที่ทำมาเป็นพิเศษ อาจใช้เป็นตัวเลขด้วยสีที่คนนั้นบกพร่อง ปนอยู่กับสีที่ผู้ป่วยบอดสีนั้นสับสน คนตาบอดสีที่จะมองไม่เห็นตัวเลขโดยการทดสอบต่อหน้าพ่อ-แม่ จนต้องยอมรับว่ามีความบกพร่องการเห็นสีจริง ๆ

ในชีวิตประจำวัน คนที่มีตาบอดสีหรือพร่องในการเห็นสี อาจไม่มีปัญหา แม้เห็นไม่เหมือนคนอื่น แต่เรียกชื่อสีเหมือนคนอื่น อย่างไรก็ตาม มีผู้ศึกษาพบว่าประมาณ 70% ของผู้ตาบอดสีอาจเกิดความยุ่งยากในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกสี การเลือกสีของสิ่งของ การตัดสินว่าผลไม้นั้นสุกหรือใกล้สุก การเลือกด้ายไหมในการเย็บปักอาจผิดพลาด เด็กนักเรียนอาจจะเลือกสีระบายภาพวาดผิดเพี้ยนได้ ความผิดพลาดเหล่านั้นอาจไม่มีผลเสียมากนัก แต่ในอาชีพบางอย่าง หากการมองเห็นสีผิดไปอาจก่อให้เกิดผลเสียมากมาย อาชีพที่จำเป็นต้องเลือกเอาคนเห็นสีปกติ เช่น ทหาร ผู้บังคับจราจรทางอากาศ พนักงานขับรถไฟ วิศวกรไฟฟ้า เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมผังและสิ่งทอ ช่างทาสี ช่างถ่ายรูป เป็นต้น

คราวนี้มาถึงคุณสมชายที่ต้องการเป็นเภสัชกร ซึ่งจำเป็นต้องแยกแยะสีต่าง ๆได้ถูกต้อง จุดสมบูรณ์ในการปรุงยาจากสารเคมีต่างๆ มักจะอาศัยสีช่วย ด้วยเหตุนี้ หากตาบอดสีน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนและอาชีพ จึงมีข้อกำหนดไว้ว่าต้องไม่บอดสีในบางแขนงวิชา ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการเรียนและการประกอบอาชีพในภายภาคหน้า

ภาวะตาบอดสีหรือพร่องสีแต่กำเนิดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทางโครโมโซม X(โครโมโซมเพศหญิง) ผู้หญิงเป็นน้อยกว่าชาย แต่จะเป็นพาหะไปสู่ลูกชาย จากการศึกษาพบว่า พบการเห็นสีได้ 8% ในประชากร โดยชายบอดสีแดง 1% ชายบอดสีเขียว 1% และชายพร่องสีแดง 1% ชายพร่องสีเขียว 5% ผู้หญิงพบความผิดปกติการเห็นสีน้อยเพียง 0.5% และภาวะตาบอดสีรักษาไม่ได้ บางรายอาจใช้เลนส์แว่นตาช่วยแยกสีได้ดีขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ความผิดปกติหายไปได้