สารอนุพันธ์แอมเฟตามีน (Substituted amphetamine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สาร/ยา แอมเฟตามีน(Amphetamines)ตามกฎหมายของไทยจัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 ในวงการวิทยาศาสตร์ได้คันพบและพัฒนาปรับแต่งโครงสร้างแอมเฟตามีนจนกระทั่งได้ “สารอนุพันธ์แอมเฟตามีน หรือ สารอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน หรือ สารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน หรือ สารแทนแอมเฟตามีน (Substituted amphetamine)” หลายชนิด อาทิ Methamphetamine, Ethylamphetamine, Propylamphetamine, Isopropylamphetamine Cathine, Cathinone, Phentermine , Phenylpropanolamine, Ortetamine, 2-Fluoroamphetamine 3-Methylamphetamine, 2-Phenyl-3-aminobutane ,3-Fluoroamphetamine, Norfenfluramine, 4-Methylamphetamine, Para-Methoxyamphetamine, Para-Ethoxyamphetamine, Norpholedrine, Para-bromoamphetamine , Clobenzorex, 4-Methylthio amphetamine, Para-chloroamphetamine, Para-fluoroamphetamine ,Para-iodoamphetamine Dimethylamphetamine, Benzphetamine, D-Deprenyl, Selegiline, Mephentermine, Phenpentermine, Ephedrine, Pseudoephedrine, Methcathinone, Dimethoxyethylamphetamine, Dimethoxy fluoro ethylamphetamine ,Dimethoxynitroamphetamine , Bupropion, Dimethoxy fluoroamphetamine, Dimethoxyiodoamphetamine, Dimethoxy methylamphetamine, Dimethoxypropylamphetamine, Dimethoxy trifluoromethylamphetamine, Diethylcathinone, Methylenedioxy methamphetamine, Methylenedioxyethylamphetamine, Methedrone, Methylenedioxyhydroxyamphetamine, Methoxymethylenedioxyamphetamine, Brephedrone, Trimethoxyamphetamine, Dimethylcathinone , Flephedrone

ทั้งนี้ บางอนุพันธ์ของแอมเฟตามีนถูกพบในธรรมชาติ เช่น ในใบของพืชจำพวกอีฟีดรา (Ephedra) และคัต(Khat) ซึ่งมนุษย์ได้ใช้พืชทั้ง 2 ชนิดเป็นสารกระตุ้นมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1,000 ปี แอมเฟตามีนถูกผลิตครั้งแรกในปลายศตวรรษที่ 19 การใช้ยาที่เป็นอนุพันธ์แอมเฟตามีนในช่วงต้นๆ สารอนุพันธ์ของแอมเฟตามีนจะนำมาใช้บำบัดอาการของโรคหวัด มีบางโอกาสนำมาใช้ในลักษณะเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทด้วยมีกลไกทำให้สารสื่อประสาทของสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง

อนึ่ง พอจะสรุปฤทธิ์ของสารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้ 3 ข้อคือ กล่อมประสาท, หลอนประสาท(ยา/สารที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดประสาทหลอน), และ กระตุ้นสมรรถนะทางอารมณ์ทำให้ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย(สาร/ยากระตุ้นความบันเทิง), อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนหลายตัวสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการทั้ง 3 ลักษณะ หรือบางตัวจะกระตุ้นให้มีอาการเพียง 1 หรือ 2 ลักษณะก็ได้

สารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สารอนุพันธ์แอมเฟตามีน

กลไกการออกฤทธิ์ของยา/สารอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน จะต้องมีการรวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ในบริเวณอวัยวะที่แต่ละตัวยาในกลุ่ม อนุพันธ์แอมเฟตามีนเข้าไปออกฤทธิ์ เช่น สมอง หัวใจ หลอดเลือด กล้ามเนื้อเรียบ เป็นต้น จากนั้นจะส่งผลให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทต่างๆ เช่น Norepinephrine, Dopamine และ Serotonin อิทธิพลจากสารสื่อประสาทดังกล่าว สามารถกระตุ้นและ/หรือกด ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทอัตโนมัติ การใช้อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนอย่างเหมาะสมตามคำสั่งแพทย์จึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

ประโยชน์ของสารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีนมีอะไรบ้าง?

ขอสรุปประโยชน์ทางคลินิกที่วงการแพทย์ได้นำอนุพันธ์ของแอมเฟตามีนมาใช้ ดังนี้ เช่น บำบัดอาการโรคอ้วน รักษาอาการสมาธิสั้น ใช้เป็นสารกระตุ้นความบันเทิง หรือ ยา/สารกระตุ้นร่างกาย ใช้เป็นสารเพิ่มสมรรถภาพ ใช้รักษาอาการ/ภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ กระตุ้นการทำงานของหัวใจ รักษาอาการหอบหืด บำบัดอาการโรคลมหลับ รักษาอาการโรคพาร์กินสัน รักษาภาวะ/โรคซึมเศร้า รักษาอาการปวดรุนแรงเรื้อรัง

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากสารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีนมีอะไรบ้าง?

อนุพันธ์ของแอมเฟตามีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา/จากสาร(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ชัก การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ เกิดภาพหลอน/ ประสาทหลอน ซึม คลุ้มคลั่ง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก รู้สึกไม่สบายในทางเดินอาหาร เบื่ออาหาร ปากแห้ง คลื่นไส้อาเจียน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังเป็นจ้ำ(ฟกช้ำดำเขียว)และบวม เกิดผื่นคัน

ข้อห้ามใช้ของสารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีนมีอะไรบ้าง?

ข้อห้ามใช้สาร/ยาประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้มีประวัติติดยาเสพติด
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI หากต้องใช้ยาแอมเฟตามีน หรือยาในกลุ่มนี้ ผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOI เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันขึ้นไป
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ และกับผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่อาการอยู่ในระดับปานกลางและ/หรือระดับรุนแรง ผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้เป็นเวลานานกับเด็ก ด้วยยานี้สามารถกดการเจริญเติบโตของเด็กได้
  • ระวังการติดยานี้เนื่องจากใช้ยานี้ผิดวัตถุประสงค์
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด/หายใจลำบาก ใบหน้า-ริมฝีปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

การใช้สารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีนจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง?

การใช้อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนต่อเนื่องเป็นเวลานานสามารถส่งผลกระทบได้ดังนี้ เช่น กระตุ้นให้เกิดอาการติดยา ซึ่งผู้เสพจะต้องใช้ยา/สารนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งร่างกายไม่สามารถทนต่อพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง/อันตราย)จากอนุพันธ์ ของแอมเฟตามีน อาการที่มักจะเห็นเด่นชัดและรุนแรงจะเป็นลักษณะของประสาทหลอน คลุ้มคลั่ง ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

อันตรายของสารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีนเป็นอย่างไร?

แอมเฟตามีนและอนุพันธ์แอมเฟตามีนหลายตัว ได้ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ด้วยเหตุผลการลักลอบเสพยา/สารกลุ่มนี้ส่งผลกระทบทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายได้หลายประการ เช่น มีอาการทางจิตประสาท มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอักเสบ ต่อการติดโรคเอชไอวีจากการใช้เข็มสำหรับฉีดอนุพันธ์แอมเฟตามีนร่วมกันกับผู้อื่น มีภาวะเนื้อตายเน่าในบริเวณที่ฉีดยา ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลงจนเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้มีภาวะหัวใจวาย เส้นเลือด/หลอดเลือดสมองแตก กระตุ้นการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ

อนึ่ง ผลจากการใช้ยากลุ่มอมเฟตามีนเกินขนาด สามารถทำให้เกิดอาการโคม่าและเสียชีวิตในที่สุด

การป้องกันอันตรายจากอนุพันธ์แอมเฟตามีนอยู่ที่แต่ละตัวบุคคล ไม่ทดลองเสพ ไม่ใช้ ไม่จำหน่าย ไม่ยุ่งเกี่ยว เป็นหนทางป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับตนเองและช่วยลดผลกระทบต่อสังคมให้ปลอดภัยจากการใช้ยา/สารนี้ที่ผิดวิธี

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Substituted_amphetamine [2018,Jan13]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Amphetamine#Pharmacology [2018,Jan13]
  3. https://www.drugrehab.us/news/understanding-the-effects-of-substituted-amphetamines/ [2018,Jan13]
  4. http://www.medic8.com/healthguide/articles/amphetamines.html [2018,Jan13]