สารละลายซิลเวอร์ไนเตรท (Silver nitrate solution)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทอย่างไร?
- สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทอย่างไร?
- สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
- ยาหยอดตาซิลเวอร์ไนเตรท (Silver nitrate ophthalmic solution)
- หูด (Warts)
- หนองใน (Gonorrhea)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
บทนำ
สารซิลเวอร์ไนเตรท(Silver nitrate)เป็นสารประกอบประเภทอนินทรีย์ มีสูตรเคมีคือ “AgNO3” เมื่อนำมาละลายน้ำจะได้ “สารละลายซิลเวอร์ไนเตรท(Silver nitrate solution)” ที่มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้อย่างกว้างขวาง ทั้งชนิดแกรมบวก(Gram +)และชนิดแกรมลบ(Gram-) นอกจากแบคทีเรีย สารซิลเวอร์ไนเตรทยังสามารถหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา และยีสต์(Yeast,เชื้อราชนิดที่เป็นเซลล์เดี่ยว)ได้อีกด้วย
สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทที่เป็นตำรับยา และมีความเข้มข้น 0.5% จะมีฤทธิ์ฝาดสมาน(Astringent, สารที่ช่วยให้ปากเนื้อเยื่อที่เป็นแผลกำชับติดกัน จึงช่วยให้แผลติดได้เร็วขึ้น/ช่วยสมานแผล) และตัวยาจะทำปฏิกิริยากับสารโปรตีนในตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ด้วยคุณสมบัตินี้ ทางคลินิก ได้นำสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมาใช้เป็นยาสมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว เช่น บาดแผลจากไฟไหม้ แผลเรื้อรังต่างๆ แต่ด้วยมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อจึงไม่เหมาะกับการใช้รักษาบาดแผลที่เป็นแผลเปิด หรือแผลฉีกขาด ทางคลินิกยังใช้สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมาผลิตในลักษณะของยาหยอดตาเพื่อลดและป้องกันการติดต่อของเชื้อโกโนเรีย/เชื้อหนองในที่ตาของเด็กทารกแรกเกิดอีกด้วย(อ่านเพิ่มเติมบทความเรื่อง “ยาหยอดตาซิลเวอร์ไนเตรท” ได้ในเว็บ haamor.com)
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทนานเกินไป อาจทำให้ผิวหนังซีดจาง และยานี้ยังไม่เหมาะที่จะใช้ทาบริเวณใบหน้า–อวัยวะเพศ ด้วยจะก่อให้เกิดคราบติดอยู่ทนนาน และอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตามมา
นอกจากนั้น การใช้ยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรททาผิวหนังเป็นบริเวณ กว้างเกินขอบเขตของบาดแผล ก็เป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง และไม่ควรกระทำเพราะจะก่ออาการระคายเคืองต่อผิวหนังส่วนนั้นๆได้
ปัจจุบัน สารซิลเวอร์ไนเตรทได้ถูกพัฒนามาเป็นยารักษาโรคหูด โดยสูตรตำรับจะประกอบด้วย Silver nitrate 75% + Potassium nitrate 25% ตัวยาจะถูกเตรียมในลักษณะเป็นเม็ดก้อน หรือเม็ดคล้ายหัวไม้ขีด ที่ติดอยู่กับปลายอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายแท่งไม้เล็กๆยาว 15 เซนติเมตร และใช้อีกด้านสำหรับจับ ยานี้มีกลไกทำลายหูดโดยตัวยาซิลเวอร์ไนเตรทจะทำหน้าที่กัดทำลายและฝาดสมานกับเนื้อของหูด ส่วนสาร/ยาโปรแตสเซียมไนเตรทจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในบริเวณที่เป็นหูดร่วมกับยาซิลเวอร์ไนเตรท
การใช้ยาซิลเวอร์ไนเตรทไม่ว่าจะเป็นประเภทสารละลายหรือเป็นแท่งสำหรับป้าย-เช็ดบริเวณผิวหนังที่เป็นหูดจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วย ควรใช้ยาซิลเวอร์ไนเตรททุกรูปแบบตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง และหากมีข้อสงสัยเรื่องการใช้ยาซิลเวอร์ไนเตรทในรูปแบบใดก็ตาม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป
สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เป็นยาทาผิวหนังเพื่อฆ่าเชื่อโรคในบริเวณที่เป็น แผลไหม้ หรือ เป็นแผลเรื้อรัง
สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทคือ ตัวยาจะมีฤทธิ์ฝาดสมาน จะส่งผลตกตะกอนสารโปรตีนของตัวแบคทีเรีย ทำให้วงจรการดำรงชีวิตของแบคทีเรียถูกยับยั้งจนไม่สามารถเจริญเติบโต แบคทีเรียจึงหยุดกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด จากกลไกนี้ จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการป้องกันและรักษาแผลติดเชื้อได้
ส่วนอีกกลไกที่ใช้ในการรักษาโรคหูด คือ สารซิลเวอร์ไนเตรทยังเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติทำให้เซลล์ไหม้ตาย(Chemical cautery agent)ได้เมื่อมีความเข็มข้นสูง ทางคลินิก จึงนำมาใช้เป็นยาทาเฉพาะที่รักษาหูดขนาดเล็กๆ โดยตัวยาจะทำให้เซลล์ผิวหนังที่เป็นหูดตาย และเซลล์ที่ตาย จะค่อยๆหลุดลอกออกไปในสุด
สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- สารละลายที่ประกอบด้วย Silver nitrate ขนาดความเข้มข้น 0.5%
- ก้านป้ายยา (Application stick) ที่ประกอบด้วยตัวยา 2 ตัวคือ Silver nitrate 75% + Potasium nitrate 25%
สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับรักษาแผลไหม้:
- ผู้ใหญ่: ใช้สารละลายซิลเวอร์ไนเตรท 0.5% ทาบริเวณแผล ซึ่งความถี่ และระยะเวลาในการใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
ข. สำหรับรักษาหูด:
- ผู้ใหญ่: ใช้ซิลเวอร์ไนเตรทชนิดก้านป้ายยา โดยต้องนำก้านป้ายยาด้านที่มีตัวยานี้ ชุบน้ำสะอาดเพื่อให้ตัวยาละลายออกมา จากนั้นป้ายยาในบริเวณที่เป็นหูด ความถี่ และระยะเวลาในการใช้ยา ขึ้นกับคำสั่งแพทย์
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น มีบาดแผลตามร่างกาย รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรท อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดอาจปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรท สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 2 เท่า
สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยจะทำให้ระคายเคืองในบริเวณเนื้อเยื่อที่สัมผัสกับตัวยานี้ ทำให้สีผิวหนังที่ถูกป้าย/ทายาซีดจาง และหากยา หก รด เปื้อนผิวหนังหรือเสื้อผ้า จะก่อให้เกิดคราบติดทนนาน
มีข้อควรระวังการใช้สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรท เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรท
- ห้ามมิให้ยาสารละลายยาซิลเวอร์ไนเตรทเข้าตา ด้วยจะสร้างความเสียหายต่อกระจกตา จนอาจเป็นเหตุให้กระจกตาขุ่นมัว หรือตาบอด
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากลักษณะเดิม เช่น สีและกลิ่นยาเปลี่ยนไป
- หลีกเลี่ยง/ห้ามมิให้ยาซิลเวอร์ไนเตรทสัมผัสกับผิวหนังที่มีแผลเปิด ด้วยจะ ทำให้แผลนั้นระคายเคืองอย่างมาก
- กรณีที่ยาหกรดเปรอะเปื้อนผิวหนัง ให้ใช้น้ำสะอาดทำการชะล้างยานี้ออกทันที
- การใช้ยานี้ในสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์ และให้นมลูก พบว่า ไม่ส่งผลระทบต่อตัวอ่อนและลูกสัตว์ แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์/หญิงให้นมบุตร ดังนั้นการใช้ยานี้ในหญิงกลุ่มนี้ และรวมถึงในเด็ก จึงควรต้องเป็นคำสั่งใช้ยาจากแพทย์
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอตามแพทย์นัดหมาย เพื่อแพทย์ตรวจอาการและติดตามความก้าวหน้าของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาทาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทร่วมกับยาทาเฉพาะที่ Prilocaine อาจทำให้เกิดภาวะ Methemoglobinemia ซึ่งคือภาวะที่เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงที่ทำให้ประสิทธิภาพการนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณที่สัมผัสกับตัวยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทและยาPrilocaine ทำได้น้อยลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทร่วมกับยาทาเฉพาะที่ Papain ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยา Papain ด้อยลงไป
ควรเก็บรักษาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทอย่างไร?
ควรเก็บยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และห้ามเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
สารละลายซิลเวอร์ไนเตรทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาสารละลายซิลเวอร์ไนเตรท ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Grafco (แกรฟโค) | GFCO,Inc. |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Silverex ionic 0.2%
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Silver_nitrate [2017,Jan28]
- https://www.reference.com/health/role-silver-nitrate-play-wound-care-18c04be3d7bdff76?qo=cdpArticles# [2017,Jan28]
- http://jamanetwork.com/journals/jama/article-abstract/258928 [2017,Jan28]
- https://www.drugs.com/pro/grafco-applicator.html [2017,Jan28]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/silver-nitrate-topical-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Jan28]
- file:///C:/Users/Windows10/Downloads/20111003_0fff668c-8b5c-4b52-a740-7a078d413620.pdf [2017,Jan28]