สารน้ำในลูกตา (Aqueous humor)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 23 ตุลาคม 2556
- Tweet
สารน้ำในลูกตา เป็นน้ำ/ของเหลวใสที่อยู่ในลูกตา ในช่องหน้าลูกตา/ช่องระหว่างกระจกตากับด้านหน้าของม่านตา (Anterior chamber) และในช่องหลังลูกตา/ช่องด้านหลังของม่านตา (Posterior chamber) มีหน้าที่นำอาหาร (เช่นน้ำตาล และกรดอะมิโน) มาเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนหน้าของลูกตา อันได้แก่ แก้วตา กระจกตา และเนื้อเยื่อบริเวณที่กรองสารน้ำฯนี้ที่เรียกว่า Trabeccular meshwork และในขณะเดียวกันก็นำของเสีย (เช่น Lactic acid, Pyruvic acid) ออกจากเนื้อเยื่อเหล่านั้น นอกจากนี้ตัวสารน้ำฯยังทำให้ความดันลูกตาอยู่ในเกณฑ์ปกติ และด้วยความที่ตัวสารน้ำฯมีลักษณะใส จึงทำให้แสงผ่านเข้าไปโฟกัสที่จอตาได้ ทำให้ตามองเห็นวัตถุได้
ส่วนประกอบของสารน้ำฯ สารน้ำฯประกอบด้วยเกลือแร่คล้ายในน้ำเลือด เช่น โซเดียม, คลอไรด์ (Chloride), โพแทสเซียม , แมกนีเซียม (Magnesium), แต่มีปริมาณ แคล เซียมเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณในน้ำเลือด, สำหรับ สาร Lactate มีสูงกว่าในน้ำเลือด, วิตามิน ซี มีสูงกว่าในน้ำเลือด มากกว่าเกือบ 30 เท่า ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสสระที่สำคัญทั้งในสารน้ำฯ และในเนื้อเยื่อต่างๆในส่วนหน้าของลูกตา, สำหรับคาร์โบไฮเดรต พบได้ประมาณ 70% ของน้ำเลือด, สำหรับโปรตีนจะพบชนิด Low molecular weight มากกว่าในน้ำเลือด,และพบสารภูมิต้านทาน Ig G ได้บ้าง
การสร้างสารน้ำฯ สารน้ำฯสร้างโดยเนื้อเยื่อตาส่วนที่เรียกว่า Ciliary body โดยสร้างในอัตรา 2–3 ไมโครลิตรต่อนาที ซึ่งการสร้างในแต่ละเวลาของวันจะมีปริมาณไม่เท่ากัน (Diurnal variation) การสร้างสารน้ำฯจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ร่วมกับการไหลออกของสารน้ำจากช่องลูกตาด้านหน้าและด้านหลังที่ยากขึ้น นอกจากนั้นการสร้างจะลดลง ถ้าภายในลูกตามีการอัก เสบ, หลังการผ่าตัด, ได้รับอุบัติเหตุบริเวณลูกตา, ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณเนื้อเยื่อ Ciliary body, ตลอดจนจากผลข้างเคียงของยาหยอดตาบางชนิด ที่มีฤทธิ์ลดการสร้างสารน้ำฯ ที่ใช้หยอดเพื่อควบคุมภาวะความดันตาสูง เช่น ยาในกลุ่ม Betablock, ยา Carbinic anhy drase inhibitor, เป็นต้น
การไหลเวียนของสารน้ำฯ สารน้ำฯมีการไหลออก/ไหลเวียนจากช่องหน้าและช่องหลังลูกตาได้ 2 ทาง ได้แก่
- ช่องทาง Trabecular route โดยเมื่อสร้างจากเนื้อเยื่อ Cilicary body แล้ว สารน้ำฯจะเข้าสู่ช่องหลังลูกตา อาบอยู่หน้าแก้วตา และไหลผ่านทางรูม่านตา เข้ามาอยู่ในช่องหน้าลูกตา และไหลเข้ามายังเนื้อเยื่อลูกตาหลายส่วน เช่น Chamber angle, สู่ เนื้อเยื่อ Trabecular meshwork, ผ่านช่อง Schlemn’s canal, เข้าสู่ช่อง Collectior channel , เข้าสู่หลอดเลือดดำ Aqueous vein, เข้าสู่ร่างแห Scherol plexus, และเข้าสู่กระแสโลหิต (General venous circu lation) ต่อไป โดยการไหลเวียนในช่องทางนี้เป็นช่องทางหลัก โดยคิดเป็นประมาณ 80% ของการไหลเวียนของสารน้ำฯ ซึ่งการไหลเวียนนี้ เป็นการไหลออกแบบทางเดียว คือไหลออกผ่านเนื้อเยื่อ Trabecular meshwork แต่จะไม่ไหลย้อนกลับเข้าไปไปในช่องหน้าลูกตา
- ช่องทาง Uveoscleral route โดยสารน้ำฯผ่านมาทางผิวหน้าของม่านตา หน้าต่อเนื้อ เยื่อ Ciliary body ผ่านไปสู่ช่อง Suprachoroidal space และออกจากลูกตาโดยซึมผ่านตาขาวตามรอยของเส้นประสาทและหลอดเลือดที่ทะลุตาขาว ซึ่งช่องทางไหลเวียนนี้ คิดเป็นประมาณ 20% ของการไหลออกจากลูกตาของสารน้ำฯ การไหลออกทางนี้ ไม่เกี่ยวกับความดันตา กล่าว คือ ความดันตาสูงหรือต่ำ จะไม่เปลี่ยนแปลงอัตราการไหลออกทางช่องทางนี้ของสารน้ำฯ
สารน้ำฯจะไหลออกทางช่องทางนี้ได้มากขึ้น เมื่อได้ยาหยอดตาในกลุ่ม Cycloplegics, กลุ่ม Epinephrine, กลุ่ม Prostaglanclin, ตลอดจนจากการผ่าตัดตาบางวิธีที่ใช้รักษาต้อหิน (Cyclodialysis) แต่การให้ยาหยอดตาในกลุ่ม Miotic จะทำให้สารน้ำฯไหลออกช่องทางนี้ลด ลง
อนึ่ง ความดันในลูกตาที่สัมพันธ์กับโรคต้อหิน จะเกิดจากสมดุลของ การสร้างสารน้ำฯ, การไหลเวียน/ไหลออกของสารน้ำฯ, และจากความดันหลอดเลือดดำรอบเปลือกลูกตา
ความดันหลอดเลือดดำรอบเปลือกลูกตา/Episclera (Episcleral venous pressure) มีค่าประมาณ 8–12 มม.ปรอท โดยความดันนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในบางภาวะ เช่น การเปลี่ยนท่าทางของร่างกาย, การมีความผิดปกติของการไหลเวียนกลับของหลอดเลือดดำบริเวณศีรษะและคอ เช่น การมีเนื้องอกกดหลอดเลือดบริเวณคอ จะย้อนไปเพิ่มความดันของหลอดเลือดดำเหล่านี้ ซึ่งเลือดดำในหลอดเลือดเหล่านี้จะมีการแลกเปลี่ยนสารต่างๆกับสารน้ำฯ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อการไหลเวียนของสารน้ำฯ หากแรงดันหลอดเลือดดำรอบเปลือกลูกตาสูง การแลกเปลี่ยนสารในหลอดเลือดกับสารน้ำฯจะติดขัด ซึ่งโดยประมาณว่า แรงดันหลอดเลือดนี้ขึ้น 1 ม.ม ปรอท จะทำให้ความดันตาเพิ่มขึ้น 1 มม.ปรอท เช่นกัน
การสร้างสารน้ำฯ, การไหลออก/การไหลเวียนของสารน้ำฯ, และตลอดจนความดันหลอดเลือดดำรอบเปลือกลูกตา เป็นตัวทำให้เกิดความดันตา ซึ่งมีค่าปกติอยู่ในช่วง 10–21 มม.ปรอท หากความดันตาสูงกว่า 21 มม.ปรอท จะมีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคต้อหินที่จะทำลายจอตา/ประสาทตา ทำให้สายตามัวลงอย่างช้าๆ และถึงบอดได้ในที่สุด
แต่เดิมเคยเชื่อว่าความดันตาสูงเกิน 30 มม.ปรอท จึงทำให้เกิดโรคต้อหิน ปัจจุบันจะไม่ใช้ตัวเลขนี้วินิจฉัยโรคต้อหิน เพราะบางคนความดันตาเพียง 15 มม.ปรอท ประสาทตาก็อาจถูกทำลายได้ กล่าวคือ ต้อหินเป็นโรคที่เกิดการทำลายจอตา/ประสาทตา มีลักษณะเฉพาะอันเนื่อง มาจากความดันตาที่สูงเกินกว่าที่ประสาทตาผู้นั้นจะทนได้ โดยบางคนทนได้แม้ความดันตาจะสูงเกิน 21 มม.ปรอท ในทางตรงข้าม ผู้ป่วยบางรายความดันตา 18 มม.ปรอทก็อาจมีการทำ ลายประสาทตาแบบต้อหินได้ ซึ่งเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า Normal tension หรือ Low tension glaucoma
อย่างไรก็ตามหากความดันตาสูงเกิน 21 มม.ปรอท ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหิน ซึ่งควรต้องพบจักษุแพทย์ตามนัดเสมอ เพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อการเกิดต้อหิน