สารทินเนอร์ (Paint thinner)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารทินเนอร์ หรือ ทินเนอร์(Paint thinner) เป็นชื่อเรียกของตัวทำละลายที่ใช้ผสมเจือจางผลิตภัณฑ์ประเภทสีทาบ้าน สีทาเครื่องจักร เรือ รถยนต์ นอกจากนี้ทินเนอร์ยังใช้ทำความสะอาดคราบสกปรกที่เกิดจากคราบน้ำมัน-คราบสีได้อีกด้วย ตัวทำละลายที่นำมาใช้เป็นทินเนอร์นั้นมีอยู่หลายชนิด อาทิ

1. Mineral spirit หรือ White spirit เป็นสารประกอบที่สกัดแยกออกมาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Naphtha ไม่ละลายน้ำและติดไฟได้ง่าย ซึ่งเป็นสารใช้ในการผลิตน้ำมัน/เบนซีน(Gasoline หรือ Petroleum benzine)ด้วย

2. Acetone เป็นตัวทำละลายที่ใช้กันมากในห้องทดลอง ใช้ในอุตสาหกรรมยาและ เครื่องสำอาง Acetoneใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของสารทินเนอร์มีลักษณะใสไม่มีสี สามารถเข้ากันกับน้ำได้ดีและติดไฟง่าย

3. Turpentine เป็นสารประกอบที่สกัดได้จากพืช อย่างเช่น ต้นสนหรืออาจเรียกว่าเป็น น้ำมันสน

4. Toluene เป็นสารประกอบที่มีกลิ่นฉุนไม่ละลายน้ำ ทางอุตสาหกรรมใช้ Toluene เป็นทินเนอร์สำหรับการผลิตสี ผลิตกาวติดวัสดุอุปกรณ์ มักถูกลักลอบนำมาใช้เป็นสารหอมระเหยเพื่อกระตุ้นความบันเทิง สารชนิดนี้เป็นพิษต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง

5. Methylethyl ketone หรือ Butanone มักใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมขึ้นรูปพลาสติกและสามารถนำมาผลิตเป็นทินเนอร์ได้

6. Dimethylformamide เป็นตัวทำละลายที่ไม่มีสี สามารถเข้ากันได้ดีกับน้ำสารประกอบชนิดนี้มักจะนำไปใช้เป็นตัวทำลายสำหรับกระบวนการสังเคราะห์สารเคมีชนิดต่างๆหรือใช้ในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติก และยาฆ่าแมลง

7. 2-Butoxyethanol ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมผลิตสี หรือผลิตภัณฑ์สำหรับลบคำผิดจากปากกา หรือผลิตเป็นสารเคลือบผิววัสดุอุปกรณ์ให้เงางาม ลักษณะใส ไม่มีสีละลายเข้ากันได้ดีกับน้ำ

การนำสารประกอบข้างต้นมาผสมในสัดส่วนที่แตกต่างกันตามข้อกำหนดของผู้ผลิตแต่ละบริษัท จะทำให้ได้ทินเนอร์ หรือเพ้นท์ทินเนอร์(Paint thinner)ตามที่ต้องการ

ประโยชน์ของสารทินเนอร์มีอะไรบ้าง?

สารทินเนอร์

ประโยชน์ของสารทินเนอร์ เช่น

  • ใช้เป็นตัวทำละลายผลิตสีทาอาคาร รถยนต์ เรือ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร
  • ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติก
  • ใช้ในห้องทดลองเพื่อเป็นตัวทำละลายของสารเคมี
  • ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตตัวยารักษาโรค และเครื่องสำอาง
  • ใช้ในกระบวนการผลิตกาวติดวัสดุอุปกรณ์
  • ใช้เป็นสารทำความสะอาดสิ่งสกปรกจากคราบน้ำมัน-คราบสี

พิษจากสารทินเนอร์ที่มีต่อร่างกายมนุษย์มีอะไรบ้าง?

สารประเภททินเนอร์ จัดเป็นสารหลอนประสาท สามารถก่อให้เกิดผลเสีย(ผลกระทบ/ผลข้างเคียง/พิษ)ต่อร่างกายได้มากมายดังต่อไปนี้ เช่น

1. Mineral spirit: การสูดดม สัมผัสกับผิวหนัง จะทำให้กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง/ กดสมอง มีความจำแย่ลง ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติไป มีการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ช้า นอกจากนี้ยังระคายเคืองต่อผิวหนังหรือก่อให้เกิดเป็นแผลไหม้ การได้รับ Mineral spirit ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความพิการของร่างกาย และส่งผลต่อบุคลิกภาพส่วนบุคคลเปลี่ยนไปจากเดิม

2. Acetone: การได้รับสารประกอบนี้เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นการสูดดมหรือสัมผัสทาง ผิวหนังเป็นปริมาณมากๆและเป็นเวลานาน สามารถกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ในสิ่งมีชีวิตและก่อให้เป็นมะเร็ง นอกจากนี้ยังเป็นพิษต่อระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์

และระบบทางเดินหายใจ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้านและวงการเครื่องสำอางอาจมี Acetone เป็นส่วนประกอบ เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างเล็บ น้ำยาทาเล็บ ผู้บริโภค สามารถอ่านส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์จากฉลากข้างภาชนะบรรจุทั้งนี้เพื่อจะได้ทำความเข้าใจขั้นตอนการใช้อย่างปลอดภัย

3. Turpentine: อันตรายของสารประกอบจำพวกน้ำมันสนสามารถทำลายระบบการทำงานของร่างกายได้มากกว่าที่คิด เริ่มจากระคายเคืองตา และสามารถแทรกซึมเข้าร่างกายโดยลมหายใจและเกิดการทำลายเนื้อเยื่อของปอด ร่วมกับทำลายระบบเซลล์ประสาทของสมอง และยังเป็นเหตุให้ไตโดนทำลายอีกด้วย

4. Toluene: ผู้ที่ได้รับสารประกอบชนิดนี้ทางการสูดดมตั้งแต่ระดับต่ำไปจนถึงระดับปานกลาง จะทำให้มีอาการ เหนื่อยง่าย รู้สึกสับสน อ่อนแรง มีอาการคล้ายเมาสุรา สูญเสียความจำ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร การเห็นสีสันของตาแย่ลง และเกิดภาวะสูญเสียการได้ยิน กรณีที่สูดดม Toluene เป็นปริมาณมากในครั้งเดียวจะเริ่มมีอาการวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

5. Methylethyl ketone: พบว่าสารประกอบชนิดนี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในควันบุหรี่ สามารถก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตาและเนื้อเยื่อจมูก ในสัตว์ทดลองที่ได้รับสารนี้ จะทำให้มีผลกระทบต่อการพัฒนากล้ามเนื้อของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ทดลอง จึง สันนิษฐานว่าน่าจะมีผลต่อทารกในครรภ์ได้เช่นเดียวกัน บางประเทศในแถบตะวันตกได้ออกกฎหมายควบคุมการปล่อย Methylethyl ketone ออกมาปนเปื้อนในบรรยากาศ ด้วยเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อมนุษย์และต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

6. Dimethylformamide: ถึงแม้จะไม่มีรายงานว่าสารประกอบชนิดนี้ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ก็ส่งผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Dimethylformamide ไม่อนุมัติให้ผู้รับจ้างที่เป็นเพศหญิงเข้ามาทำงาน

7. 2-Butoxyethanol: สามารถกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกของต่อมหมวกไตในสัตว์ทดลองจำพวกหนู แต่ก็มีข้อถกเถียงกันว่าสารประกอบนี้ไม่มีผลการกระตุ้นมะเร็งในมนุษย์ อย่างไรก็ดีสารประกอบอินทรีย์หลายตัวรวมถึง2-Butoxyethanol ยังไม่ได้รับการศึกษาความเป็นพิษต่อมนุษย์ได้ทั้งหมด จึงเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่ทุกครั้งเมื่อต้องทำงานเกี่ยวข้องกับสารประกอบ 2-Butoxyethanol หรือสารประกอบอินทรีย์ที่ใช้เป็นตัวทำละลายชนิดอื่นๆ ควรมีมาตรการป้องกันทั้งในด้านอุปกรณ์และวิธีปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง

กลุ่มเสี่ยงต่อการติดสารทินเนอร์มีกี่ประเภท?

ปัจจุบันได้มีการนำสารทินเนอร์มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ในลักษณะสูดดมเป็นสารเสพติด หรือในบางคนติดสารทินเนอร์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการติดสารทินเนอร์ เช่น

1. ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับตัวทำละลายที่มีทินเนอร์เป็นองค์ประกอบหลัก การได้รับสาร ทินเนอร์ทุกวันทีละน้อยอาจทำให้เกิดการเสพติดโดยที่ตนเองก็ไม่รู้ตัว หากวันใดไม่ได้รับสารทินเนอร์ อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถอนยา” เช่น นอนไม่หลับ เกิดความ วิตกกังวล ตื่นตระหนก เกิดความปรารถนาอยากเสพ/ดมตลอดจนกระทั่งเห็นภาพหลอน

2. กลุ่มเด็กวัยเรียนโดยเฉพาะเด็กโตที่มีความอยากลองและหลงเชื่อตามคำชักชวน หรือทดลองเสพ/ดม ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

3. กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ทางบ้านมีรายได้ต่ำ และกลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางบ้าน เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว แต่ต้องการพึ่งพาอะไรสักอย่างเพื่อให้ลืมความทุกข์ความเศร้าที่ตนเองไม่สามารถแก้ไขได้

จะป้องกันอันตรายที่เกิดจากการเสพติดสารทินเนอร์ได้อย่างไร?

แบ่งแนวทางป้องกันอันตรายติดสารทินเนอร์ตามกลุ่มเสี่ยงดังนี้

1. กลุ่มที่ทำงานกับสารทินเนอร์: สามารถศึกษาถึงวิธีปฏิบัติงานและการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลจากคู่มือของสารทินเนอร์ซึ่งติดเป็นฉลากข้างภาชนะบรรจุหรือเข้าไปศึกษาจากเว็บไซด์โดยพิมพ์คำว่า “เอกสารข้อมูลความปลอดภัย ทินเนอร์” จะได้ความรู้และข้อปฏิบัติต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้สารทินเนอร์

2. กลุ่มวัยรุ่น: การกระจายความรู้เกี่ยวกับสารระเหยอย่างทินเนอร์ให้กลุ่มวัยรุ่นรับรู้และเข้าใจถึงพิษภัย เป็นสิ่งที่สถานศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศมีแนวปฏิบัติและกระทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจาก ครู อาจารย์ในสถานศึกษาคอยสอดส่องพฤติกรรมของนักเรียน-นักศึกษาว่ามีลักษณะติดสารทินเนอร์ หรือมีแหล่งจำหน่ายภายในสถานศึกษาหรือไม่ อีกประการสำคัญคือ ผู้ปกครองจะมีความสำคัญและเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดของวัยรุ่น การใช้ความรัก-เหตุผลเพื่อสร้างความเข้าใจเด็กวัยรุ่นสมัยนี้มีความจำเป็นเพื่อสร้างแรงจูงใจในการประพฤติแต่สิ่งดีๆตามมา

สามารถบำบัดผู้เสพติดสารทินเนอร์ได้อย่างไร?

การเสพติด ทินเนอร์ สารหอมระเหย กาว สีกระป๋อง ซึ่งเป็นสารเสพติดในกลุ่มเดียวกัน ล้วนก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย ทำให้สูญเสียอนาคตและโอกาสที่ดีของชีวิต การกลับใจที่จะเลิกเสพสารทินเนอร์โดยเข้ารับการรักษาใน “สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด”ทุกแห่งทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดทั่วประเทศ หรือจะขอคำแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยใช้โทรศัพท์หมายเลข 02-2459083

บรรณานุกรม

  1. http://www.rehabcenter.net/paint-thinner-addiction-and-the-best-rehab-centers-for-treatment/ [2018,March24]
  2. https://www.northpointrecovery.com/drug-information/paint-thinner-addiction.php [2018,March24]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Paint_thinner [2018,March24]
  4. http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-general/cigarettes/500-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A2.html [2018,March24]