สารต้านพิษสัตว์ (Antivenom)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ สารต้านพิษสัตว์คืออะไร?

สารต้านพิษสัตว์ (Antivenom) เป็นยาชีววัตถุรูปแบบหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากสารแอนตีบอดี (Antibody) เพื่อรักษาพิษที่ได้รับจากสัตว์จากการกัดหรือการต่อย สารต้านพิษสัตว์เป็นที่รู้จักในชื่ออื่นๆ เช่น เซรุ่มแก้พิษ ในทางการแพทย์ อาจเรียกสารต้านพิษว่า Antivenin หรือ Antivenom immunoglobulin โดยปกติจะบริหารยา/ใช้ยาประเภทนี้โดยการฉีด

สารต้านพิษสัตว์ ได้รับการพัฒนาครั้งแรกในราวปีคริสตศตวรรษที่ 1800 และนำมาใช้จริงในราวปี ค.ศ. 1950 สำหรับแก้พิษงู ปัจจุบันสารต้านพิษสัตว์ได้รับการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้มีความครอบคลุมต่อพิษของสัตว์ต่างๆที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น สารต้านพิษแมงมุม สารต้านพิษ Acarids (สัตว์คล้ายเห็บในออสเตรเลีย) สารต้านพิษแมงป่อง และสารต้านพิษสัตว์ทะเล เป็นต้น

สารต้านพิษสัตว์ เป็นหนึ่งในยาที่มีความจำเป็นตามบัญชียาจำเป็นขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization’s List of Essential Medication) สำหรับประเทศไทย การใช้สารต้านพิษสัตว์ที่มีกันอย่างแพร่หลายคือ เซรุ่มแก้พิษงู โดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย

สารต้านพิษสัตว์แบ่งออกได้เป็นกี่ชนิด? อะไรบ้าง?

สารต้านพิษสัตว์

สารต้านพิษสัตว์ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

1. สารวาเลนต์เดี่ยว (Monovalent) ซึ่งมีความจำเพาะต่อพิษของสัตว์เฉพาะชนิดหรือสปีชีส์(Species)

2. สารโพลีวาเลนต์ (Polyvalent) มีความจำเพาะต่อพิษของกลุ่มสัตว์หรือกลุ่มของสปีชีส์

สารต้านพิษสัตว์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

หลักการโดยทั่วไปในการทำงานของสารต้านพิษสัตว์ คือ สารต้านพิษสัตว์นั้น เป็นแอนตีบอดี (Antibody) หรือเป็นสารภูมิคุ้มกัน เข้าจับกับพิษสัตว์อย่างจำเพาะเจาะจงเพื่อหักล้างฤทธิ์พิษของสัตว์ (Active Immunization) เพื่อยับยั้งการทำงานของพิษสัตว์แต่ไม่ได้ช่วยให้อวัยวะที่ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากพิษของสัตว์กลับมาทำงานได้ตามปกติ หลักการทำงานลักษณะนี้จะตรงข้ามกับการให้วัคซีน ซึ่งเป็นการทำให้เชื้อโรคอ่อนแรงและฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยตนเอง (Passive Immunization) ซึ่งต้องใช้เวลากว่าที่ร่างกายจะผลิตสารภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนั้นๆ

โดยทั่วไปมีหลักการการเตรียมสารต้านพิษสัตว์อย่างไร?

สารต้านพิษสัตว์ โดยทั่วไปมีการเตรียมจากพลาสมาของสัตว์ที่มีความสามารถในการผลิตแอนตีบอดีได้มาก เช่น ม้า แพะ แกะ โดยฉีดกระตุ้นพิษของสัตว์ในสัตว์เหล่านี้ในปริมาณและสภาพที่เหมาะสม โดยการลดความเป็นพิษ เมื่อสัตว์ได้รับการกระตุ้นการสร้างสารภูมิต้านทานแล้ว จะนำเลือดของสัตว์มาสกัดเอาสารต้านภูมิต้านทานมาทำให้บริสุทธิ์เพื่อใช้เป็นสารต้านพิษสัตว์

มีสารต้านพิษสัตว์อะไรบ้างในแต่ละประเทศ?

ปัจจุบัน แต่ละประเทศมีการบรรจุสารต้านพิษสัตว์ในเภสัชตำรับของชาติแตกต่างกันไป ขึ้นกับสัตว์มีพิษที่พบได้ในท้องถิ่นๆนั้นๆ นอกจากสารต้านพิษงูหรือเซรุ่มแก้พิษงูที่คนไทยมีความคุ้นเคยแล้วนั้น ยังมีสารต้านพิษต่อสัตว์อื่นๆในพื้นที่อื่นๆในโลกด้วย เช่น

ก. สารต้านพิษแมงมุม: เช่น Sydney funnel-web spider และ Redback spider ในออสเตรเลีย, Brazilian wandering spider และ Recluse spider ในบราซิ, Chilean recluse ในชิลี, Southern Black widow spider ในสหรัฐอเมริกา, Black Widow spider ในอาร์เจนตินา

ข. สารต้านพิษเห็บชนิดที่ชื่อ Paralysis tick ในออสเตรเลีย

ค. สารต้านพิษหนอนชนิดที่ชื่อ Lonomia obliqua caterpillar ในบราซิล

ง. สารต้านพิษแมงป่องหลากหลายสายพันธุ์ใน เม็กซิโก ตูนิเซีย อินเดีย โมรอคโค อียิปต์ อัลจีเรีย และสเปน

จ. สารต้านพิษงู (ดูรายละเอียดที่บทความเรื่อง เซรุ่มแก้พิษงู ในเว็บ haamor.com)

เมื่อมีการสั่งใช้สารต้านพิษสัตว์ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งใช้สารต้านพิษสัตว์ที่รวมถึงเซรุ่มแก้พิษงู ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมี
  • ประวัติโรคประจำตัว ทั้งโรคที่เคยเป็น โรคที่กำลังดำเนิน/เป็นอยู่ และโรคเรื้อรัง
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อใช้เอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ สมุนไพร
  • แจ้งให้แพทย์/พยาบาล และเภสัชกรทราบ หากกำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

สารต้านพิษสัตว์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สารต้านพิษสัตว์ อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ได้ดังนี้

ก. อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง: เช่น เกิดอาการ

  • ปวด บวม บริเวณที่ฉีดยา และ/หรือ
  • มีผื่น ไข้

ข. อาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรงหรือเกิดการแพ้ยา เช่น

  • การเกิดภาวะ Serum sickness ซึ่งเป็นหนึ่งในปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันไวเกินเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมองว่าสารต้านพิษสัตว์นั้นเป็นโปรตีนที่อันตรายต่อร่างกาย ร่างกายจะสร้างแอนตีบอดีมาจับกับสารต้านพิษสัตว์เกิดเป็น Immune complex ซึ่งอาจเกิดการตกตะกอนบนผนังของเส้นเลือดกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ผู้ป่วยจะมีผื่นค้น มีอาการบวมแดงที่ข้อ
  • มีไข้
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • อาจเกิดการอักเสบที่เนื้อเยื่อไตมีภาวะโปรตีนรั่วเมื่อปัสสาวะ(มีโปรตีนในปัสสาวะ) หรือปัสสาวะมีเลือดปน(ปัสสาวะเป็นเลือด)

ค. อาการแพ้ยาอีกลักษณะหนึ่งที่อาจพบได้จากการใช้สารต้านพิษสัตว์ คือ การแพ้ยาแบบแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังการได้รับสารต้านพิษสัตว์ ผู้ป่วยจะมี ผื่นขึ้น หายใจถี่ มีเสียงหวีด ความดันโลหิตต่ำ เกิดจากสารภูมิต้านทานของร่างกายจับกับสารแปลกปลอมแล้วเกิดการปล่อย สารตัวกลาง เช่น สารฮีสตามีน(Histamine)

บรรณานุกรม

  1. ศศิวิมล พัฒเสมา. ตำราเซรุ่มแก้พิษงูในตำรายาของประเทศไทย (ตอนที่ 1). สารตำรายา ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2551. 34-46.
  2. CSL antivenoms 1956. Power House Museum.
  3. Gad, Shayne Cox. Handbook of Pharmaceutical Biotechnology. John Wiley & Sons. 2007.
  4. Jean-Philippe Chippaux, Goyffon M. Production and use of snake antivenin. In : Anthony T. Tu, editor. Reptile venoms and toxins : Handbook of natural toxins Vol. 5, Section 17. Colorado: Marcel dekker, Inc. 1992.
  5. Snake Antivenom Immunoglobulins. WHO.https://www.who.int/bloodproducts/snake_antivenoms/en/ [2019,March9]
  6. WHO Model Formulary 2008. World Health Organization.