สมองเสื่อม ตอน ภาวะสมองเสื่อม vs หลงลืมในผู้สูงอายุ ต่างกันอย่างไร
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 20 ธันวาคม 2562
- Tweet
- อาการหลงๆ ลืมๆ พบได้เมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นผู้สูงอายุเกือบทุกคนจะมีความสามารถด้านความจำและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ลดลงบ้าง เพราะเกิดจากการเสื่อมถอยของสมรรถภาพสมองตามวัย มักจะไม่ส่งผลกระทบต่อตนเองและคนรอบข้าง ดังนั้นอาการดังกล่าวในผู้สูงอายุนั้นไม่ได้เป็นภาวะสมองเสื่อมทุกคน
- แต่ถ้าอาการหลงลืมที่ส่งผลกระทบต่อตัวคนนั้นๆ คนรอบข้าง และการใช้ชีวิตประจำวัน ถือว่าผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะสมองเสื่อมได้
- ดังนั้นเราต้องติดตามจากบทความนี้ครับว่าจะแยกอาการหลงลืมตามวัย กับ อาการหลงลืมที่อาจเป็นภาวะสมองเสื่อมต่างกันอย่างไร
อาการหลงลืมตามวัยจะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เช่น
- ยังสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ปกติ
- สามารถนึกถึงบางส่วนของเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่เรื่องราวทั้งหมดอาจจำได้ไม่หมด
- เมื่อไปในที่คุ้นเคยอาจใช้เวลานึกเส้นทางบ้าง แต่ในที่สุดก็สามารถไปได้โดยไม่หลงทาง
- อาจมีปัญหานึกคำไม่ออกแต่ยังสามารถพูดคุยกับคนอื่นเป็นเรื่องราวได้ต่อเนื่อง
- การตัดสินใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ยังทำได้ดี
อาการหลงลืมที่อาจเป็นสมองเสื่อม มักจะส่งผลต่อการดำรงชีวิต
- ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ยากขึ้นทั้งที่เคยทำได้ดีมาก่อน เช่น การแต่งตัว การทำอาหาร การใช้โทรศัพท์มือถือ การขับรถ การเดินทาง
- ไม่สามารถนึกหรือพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นได้เลยทั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
- หลงทางในที่ที่คุ้นเคยแม้ว่าจะเห็นสัญลักษณ์บอกทิศทางก็ไม่สามารถไปตามได้
- นึกคำไม่ค่อยออกบ่อยๆ ใช้คำไม่ถูกต้อง หรือพูดประโยค เรื่องซ้ำๆ วนไปมา จนทำให้มีปัญหาเวลาพูดคุยกับคนอื่น บางครั้งพูดไปแล้วก็พูดใหม่อีก ซ้ำไปซ้ำมาเรื่องเดิม
- มีปัญหาในการตัดสินใจในการทำกิจกรรม เช่น เลือกของลำบาก หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น แต่งตัวไม่เหมาะสมกับโอกาส ขาดการยับยั้งชั่งใจ ลักษณะนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม
ดังนั้นถ้าพบผู้สูงอายุมีอาการหลงๆ ลืมๆ ควรดูให้แน่ใจว่าเป็นอาการหลง ลืมตามวัย หรือภาวะหลงลืมกันแน่ ถ้าไม่มั่นใจก็ควรพาพบแพทย์ เพื่อให้การประเมินที่แน่ชัดดีกว่า