สปาปลาที่น่าคิด (ตอนที่ 2 และตอนจบ)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 13 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
ในตุรกีได้มีการใช้ปลาการา รูฟา ช่วยในการขจัดเซลล์ผิวเก่าตายแล้วให้หลุดลอกออกมาเป็นเวลานานอย่างน้อย 400 ปีแล้ว แต่เริ่มมาทำเป็นธุรกิจเมื่อ 10 กว่า ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ.2554 ได้มีการทดสอบปลาการา รูฟา ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย และพบว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Streptococcus agalactiae ซึ่งสามารถเป็นอันตรายต่อผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency)
และแม้ว่าปลาจะไม่มีฟัน แต่การแทะเล็มในจุดเดียวเป็นเวลานานก็อาจจะทำให้ผิวหนังเป็นแผล และแพร่เชื้อได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเรื้อนกวาง (Eczema) โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
ทั้งนี้ มีรายงานความเสี่ยงเกี่ยวกับสปาปลาไว้ดังนี้
- อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- ความเสี่ยงในการเป็นโรคติดเชื้อทางเลือด (Blood-borne viruses) เช่น การติดเชื้อเฮชไอวีและเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกรณีที่มีแผลที่เท้า (แต่มีโอกาสน้อย) ดังนั้นเจ้าของสปาปลาจึงควรตรวจสอบลูกค้าก่อนและหลังการใช้บริการว่ามีแผลอะไรหรือไม่
- ความเสี่ยงในการเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อ Staphylococcus aureus ที่อาจติดเชื้อในผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบหรือโรคสะเก็ดเงิน หรือ เชื้อ Mycobacterium marinum ที่อาจติดเชื้อจากแทงค์น้ำและสระที่ไม่ได้ใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโดยผ่านเข้าทางผิวหนังที่เป็นแผล
- ความเสี่ยงในการเป็นโรคติดเชื้อปรสิต เช่น เช่น พยาธิตัวตืด (Tapeworms) และ พยาธิใบไม้ (Fluke) ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เพราะพยาธิเหล่านี้เกิดได้จากการกินปลาหรือน้ำ
- ความเสี่ยงในการแพร่โรค เช่น โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot) และ หูด (Verrucas)
โดยรายงานกล่าวว่าการติดเชื้อเกิดได้จาก 3 แหล่งสำคัญ ซึ่งได้แก่
- จากตัวปลา
- จากแทงค์น้ำ
- จากคนอื่นผ่านผิวสัมผัส เช่น พื้น
แม้ว่า The Health Protection Agency (HPA) ของอังกฤษ จะได้กล่าวถึงความเสี่ยงในการทำสปาปลาว่ามีโอกาสน้อยมาก อย่างไรก็ดี HPA ได้มีคำเตือนสำหรับผู้ที่อาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มในการติดเชื้อหรือการแพร่เชื้อไว้ดังนี้
- ผู้ที่ได้ทำการโกนขนหน้าแข้งภายใน 24 ชั่วโมง
- ผู้ที่มีแผล รอยขีดข่วน ที่เท้าหรือน่อง
- ผู้ที่มีการติดเชื้อที่เท้า เช่น โรคน้ำกัดเท้า เป็นหูด
- ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อทางเลือด เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไวรัสตับอักเสบซี หรือติดเชื้อเฮชไอวี
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Compromised immune system)
- ผู้ที่มีเลือดไหลผิดปกติหรือใช้ยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulant) เช่น ยา Heparin ยา Warfarin
แหล่งข้อมูล:
- Everything You Need to Know About Fish Pedicures. https://www.tripsavvy.com/what-is-a-fish-pedicure-1583614 [2018, November 12].
- Fish pedicure risk 'very low'. https://www.nhs.uk/news/medical-practice/fish-pedicure-risk-very-low/ [2018, November 12].