สตรอนเทียม-89 (Strontium-89)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สตรอนเทียม(Strontium)ในทางวิชาเคมี คือ ธาตุชนิดหนึ่งที่อยู่หมู่เดียวกันกับธาตุแคลเซียม(Calcium) ทำให้สตรอนเทียมสามารถดูดซึมเข้าสู่กระดูกได้ดีคล้ายกับแคลเซียม สำหรับสตรอนเทียม-89(Strontium-89 ย่อว่า Sr 89) หมายความว่า สตรอนเทียม 1 อะตอมจะมีอนุภาคโปรตอนและนิวตรอนรวมกันเท่ากับ 89 อนุภาค และเป็นรูปแบบที่สามารถปลดปล่อยกัมมันตรังสีได้ ทางคลินิกสามารถนำสตรอนเทียม-89 มาใช้เป็นยา โดยใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่แพร่กระจายเข้ากระดูก(Bone metastasis) โดยสตรอนเทียม-89จะเข้ายับยั้งการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง ด้วยกลไกปลดปล่อยรังสีบีต้า/เบตา(Beta-ray,-1β ในทางเคมี เรียกรังสีบีต้าว่าเป็นอิเล็กตรอน/Electronที่มีความเร็วสูง) สามารถทำลายและลดจำนวนของเซลล์มะเร็งกระดูก และทำให้การสะสมมวลของกระดูกเป็นปกติมากขึ้น นอกจากนี้ยังมียาสตรอนเทียม แรนนีเลท(Strontium ranelate)ที่นำมาใช้บำบัดอาการกระดูกพรุน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะกระดูกหักง่ายในผู้ที่ได้รับยา Glucocorticoid และในหญิงวัยหมดประจำเดือน แต่ในบทความนี้จะยังไม่กล่าวถึง สตรอนเทียม แรนนีเลท จะกล่าวเฉพาะ “ยาสตรอนเทียม-89(Strontium 89 หรือ Strontium 89 chloride หรือ Strontium89 CL หรือ Sr89 Cl)

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาสตรอนเทียม-89 ที่พบเห็นการใช้ในปัจจุบัน เป็นประเภทยาฉีด โดยใช้ในรูปสารประกอบสตรอนเทียม-89 คลอไรด์(Strontium-89 chloride) ธาตุ/ยาสตรอนเทียม-89ที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ต้องใช้เวลาประมาณ 50.5 วันจึงจะสูญสลายลงครึ่งหนึ่งหรือที่เราเรียกกันว่า Half life นั่นเอง ยาสตรอนเทียม-89จะอยู่ในกระแสเลือดได้ไม่นานเท่าใดนักก็จะถูกดูดซึมเข้าในเนื้อกระดูก โดยเฉพาะกระดูกที่เป็นเนื้องอกจะดูดซับยาสตรอนเทียม-89ได้มากกว่ากระดูกที่ปกติเสียอีกซึ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วย

ข้อมูลจำเป็นบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบเมื่อได้รับการจ่ายยาประเภทสตรอนเทียม-89 เช่น

  • จำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดของผู้ที่ได้รับยาสตรอนเทียม-89 อาจลดน้อยลง ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อพร้อมกับเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บมีแผลเลือดออก ด้วยจะทำให้เลือด หยุดไหลช้ากว่าปกติ
  • ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ โดยเฉพาะการตรวจเลือดตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาสตรอนเทียม-89กับสตรีมีครรภ์ ด้วยตัวยาเป็นสารกัมมันตรังสีซึ่งจะทำให้ เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นขณะที่ได้รับยาชนิดนี้/ยานี้ ผู้ป่วยต้องป้องกันการ ตั้งครรภ์ หรือกรณีตั้งครรภ์หลังจากได้รับยานี้ ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ขณะใช้ยาสตรอนเทียม-89 แล้วพบว่ามีอาการ ผิวหนังลอก เกิดเป็นตุ่ม แผลพุพอง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบแจ้งแพทย์
  • ห้ามรับประทานยาใดๆร่วมกับยาสตรอนเทียม-89 นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)

ทั่วไป เราจะพบเห็นการใช้ยาสตรอนเทียม-89 แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และการบริหารยา/ใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

สตรอนเทียม-89มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

สตรอนเทียม89

ทางการแพทย์พบว่า มะเร็งหลายชนิดสามารถแพร่กระจายเข้าสู่เซลล์กระดูก เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งต่อมไทรอยด์ และมะเร็งไต ขณะที่เซลล์มะเร็งเล่นงานกระดูกจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดทรมาน ยาStrontium-89 ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีจะช่วยลดอาการเจ็บปวดกระดูกที่มีสาเหตุจากมะเร็งโดยสารกัมมันตรังสีจะฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรง อย่างไรก็ตามทางการแพทย์จะไม่ใช้ ยาStrontium-89/Strontium-89 chloride รักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่มีผลกระทบต่อกระดูก/ที่ยังไม่แพร่กระจายมากระดูก

สตรอนเทียม-89กลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาสตรอนเทียม-89คือ ตัวยาจะเข้ายึดจับกับเซลล์มะเร็งในกระดูกได้มากกว่าเซลล์กระดูกปกติ และจะออกฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็งในกระดูกโดยตัวมันจะปลดปล่อยรังสีบีต้าซึ่งเป็นอิเล็กตรอนที่มีความเร็วสูงเข้าทำลายเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้สตรอนเทียม-89 ยังช่วยสนับสนุนโครงสร้างของมวลกระดูกให้มีความแข็งแรงและฟื้นสภาพกระดูกให้กลับมาเหมือนเซลล์ปกติ ด้วยกลไกนี้เองที่ส่งผลลดอาการปวดกระดูกด้วยเหตุมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก

สตรอนเทียม-89มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสตรอนเทียม-89มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดในรูปสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วย Strontium-89 chloride ขนาด 10.9-22.6 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

สตรอนเทียม-89มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาสตรอนเทียม-89มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา สำหรับลดอาการปวดกระดูกจากมะเร็งแพร่กระจายมากระดูกดังนี้ เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: การใช้ยาสตรอนเทียม-89ในรูปของ Strontium-89 chloride จะให้ทางหลอดเลือดดำ โดยใช้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยมาเป็นเกณฑ์อ้างอิง การใช้ยาแต่ละครั้งจะต้องเว้นช่วงเวลาห่างกัน 90 วันขึ้นไป ด้วยยาสตรอนเทียม-89 สามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนาน 50.5 วัน ตัวยา 2ใน3 ที่อยู่ในร่างกายจะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ และ 1ใน3 จะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า18ปี: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาสตรอนเทียม-89 ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาสตรอนเทียม-89อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

ผู้ป่วยต้องได้รับยาสตรอนเทียม-89 ตามที่แพทย์นัดหมายจึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา กรณีลืมหรือมีเหตุขัดข้องไม่สามารถมารับการฉีดยาได้ จะต้องติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาดูแลผู้ป่วย เพื่อทำการนัดหมายการให้ยานี้ครั้งใหม่โดยเร็ว

สตรอนเทียม-89มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาสตรอนเทียม-89สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก จำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำลง เกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อุจจาระมีสีคล้ำ/อุจจาระเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน ปวดขณะปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ หนาวสั่น
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ เสียงแหบ

มีข้อควรระวังการใช้สตรอนเทียม-89อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้สตรอนเทียม-89 เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาสตรอนเทียม-89
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา สตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ขณะได้รับยานี้ให้ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
  • หากพบอาการข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต เช่น ผื่นคัน ผิวนังลอก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ถ่ายปัสสาวะมีเลือดปน ให้รีบนำตัวผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ยานี้สามารถสร้างความเป็นพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับไขกระดูก ดังนั้นหลังจากได้รับยานี้ ผู้ป่วยจะต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจเลือดตามที่แพทย์นัดหมาย เช่น อาทิตย์ เว้นอาทิตย์
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาสตรอนเทียม-89ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

สตรอนเทียม-89มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาสตรอนเทียม-89มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาสตรอนเทียม-89ร่วมกับ ยาClozapine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรงตามมา และส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอและติดเชื้อโรคได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาสตรอนเทียม-89ร่วมกับยา Bleomycin, Fluorouracil, Zidovudine เพราะจะทำให้การทำงานของไขกระดูกด้อยประสิทธิภาพจนเป็นเหตุให้มีภาวะเม็ดเลือดชนิดต่างๆต่ำลง
  • ห้ามใช้ยาสตรอนเทียม-89ร่วมกับยาที่มีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบ(เช่น Calcium carbonate) เพราะแคลเซียมจะแทรกแซงการทำงานของสตรอนเทียม-89 ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาสตรอนเทียม89ด้อยลงไป

ควรเก็บรักษาสตรอนเทียม-89อย่างไร?

ควรเก็บยาสตรอนเทียม-89 ในอุณหภูมิ 15–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

สตรอนเทียม-89มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาสตรอนเทียม-89 มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Strontium chloride polatom (สตรอนเทียม คลอไรด์ โพลาทอม)Polatom
Metastron (เมทาสตรอน)GE Healthcare Ltd.

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/strontium-89.html [2018, April14]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/020134s012lbl.pdf [2018, April14]
  3. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.5598.pdf [2018, April14]
  4. https://www.reddit.com/r/askscience/comments/10rpk5/if_strontium90_can_cause_bone_cancer_how_is_it/ [2018, April14]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/020134s012lbl.pdf [2018, April14]
  6. https://www.drugs.com/dosage/metastron.html [2018, April14]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/strontium-89-chloride,metastron.html [2018, April14]