วูบกลางอากาศ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 11 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
กรณีที่พบผู้ที่กำลังจะเป็นลม
- ให้นำผู้ป่วยนอนลง โดยพยายามให้ร่างกายนอนราบกับพื้นและยกขาให้สูงกว่าศีรษะประมาณ 12 นิ้ว เพื่อช่วยให้เลือดไหลกลับมาที่สมอง เป็นการป้องกันภาวะวูบหมดสติ ทั้งยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการล้ม เช่น ศีรษะฟาดพื้น
- คลายเครื่องแต่งตัวที่รัดซึ่งอาจขวางการหายใจ เช่น ปลดเข็มขัด เน็คไท ให้หลวม
- หากผู้ป่วยยังไม่ได้สติภายใน 1-2 นาที ให้รีบแจ้งหน่วยฉุกเฉินเพื่อนำตัวส่งแพทย์ด่วน โดยในขณะที่รอให้จัดผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง และมั่นใจว่าผู้ป่วยยังหายใจเองได้
- กรณีที่ผู้ป่วยไม่หายใจ ให้ทำการปั๊มหัวใจ (Cardiopulmonary resuscitation = CPR) หรือกรณีที่ได้รับบาดเจ็บเลือดออก ให้ทำการห้ามเลือด
การเป็นลมอาจไม่น่าเป็นห่วงนัก แต่กรณีที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ชัดเจน
- มีอาการเป็นลมมากกว่าหนึ่งครั้ง
- ใช้เวลานานกว่า 2 นาทีในการกลับมารู้สึกตัว
- สงสัยว่าจะตั้งครรภ์
- ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะหรืออุจจาระได้ขณะที่เป็นลม
- มีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
- มีอาการเจ็บหน้าอก
- มีประวัติการเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ หรือเป็นเบาหวาน
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจให้ทำการตรวจร่างกายและทำการทดสอบหลายอย่าง เช่น
- วัดความดันโลหิต
- ทดสอบการตั้งครรภ์
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram = EKG)
- การตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) ที่เป็นการตรวจโดยใช้เตียงที่ปรับเอียงได้เพื่อประเมินสาเหตุของภาวะเป็นลมหมดสติ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลงและหลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตลดลง เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยและเป็นลมหมดสติในที่สุด
ส่วนกรณีของการช่วยเหลือตนเองเมื่อรู้สึกจะเป็นลม
- สงบสติอารมณ์และควบคุมการหายใจ
- นั่งลงแล้วก้มศีรษะให้อยู่ระหว่างขา หรือนอนราบแล้วยกขาขึ้น
- หากจะลุกยืนให้ทำอย่างช้าๆ
แหล่งข้อมูล:
- What to Expect During and After a Syncopal Episode. https://www.healthline.com/health/syncopal-episode [2018, November 10].