วินโพซีทีน (Vinpocetine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาวินโพซีทีน(Vinpocetine หรือ Ethyl apovincaminate หรือ Apovincaminic acid kavinton) เป็นยาในกลุ่ม Phosphodiesterase inhibitor มีฤทธิ์ช่วยให้หลอดเลือดทั่วร่างกายขยายตัว นักวิทยาศาสตร์ชาวฮังการีได้สกัดตัวยาวินโพซีทีนจากพืชได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) และอีก 3 ปีถัดมาจึงมีการสังเคราะห์สารวินโพซีทีนเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเป็นยาแผนปัจจุบัน ทางคลินิก ใช้ยานี้เพิ่มการไหลเวียนเลือดในสมอง และทำให้ความจำของผู้ป่วยกลับมาดีขึ้น

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาวินโพซีทีน คือยารับประทาน และยาฉีด กรณียารับประทานตัวยานี้ จะมีการดูดซึมผ่านจากระบบทางเดินอาหารประมาณ 47.7–65.7% ยาวินโพซีทีนในกระแสเลือดจะถูกตับทำลายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างยาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นสารไม่ออกฤทธิ์ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2.06–3.02 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้ง โดยผ่านไปกับปัสสาวะ

นักวิทยาศาสตร์ยังได้ค้นคว้าศึกษาฤทธิ์และประโยชน์ทางการแพทย์จากการใช้ยาวินโพซีทีน และพบว่ายานี้สามารถลดความเสียหายของสมองจากอาการหลอด เลือดสมองตีบ(Ischemic stroke) อาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน (Symtoms of menopause) อาการเมารถ-เมาเรือ(Motion sickness) รวมไปถึงอาการลมชัก(Seizures) อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้ยังถูกนำมาใช้ในวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อีกหลายประการ เช่น บำบัดอาการเคลื่อนไหวไม่ได้ของร่างกาย(Apraxia) อาการวิงเวียน อาการปวดศีรษะ ความเสื่อมของเยื่อตา การสูญเสียการได้ยิน ซึ่งในบางวัตถุประสงค์ของการรักษา ก็ยังไม่มีข้อยืนยันทางคลินิกว่ายาชนิดนี้สามารถใช้บำบัดอย่างได้ผลหรือไม่

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาวินโพซีทีนอยู่ในหมวดยาอันตราย โดยการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และเราจะพบเห็นยาวินโพซีทีนมีวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Cavinton”

วินโพซีทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

วินโพซีทีน

ยาวินโพซีทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาป้องกันโรคอัลไซเมอร์ และช่วยทำให้ความจำดีขึ้น
  • ใช้ป้องกันสมองถูกทำลายด้วยมีภาวะเส้นเลือด/หลอดเลือดสมองตีบ
  • ป้องกันอาการ เมารถ-เมาเรือ
  • บำบัดอาการได้ยินเสียงในหู(หูอื้อ)
  • บำบัดอาการในสตรีวัยหมดประจำเดือน

วินโพซีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาวินโพซีทีน มีกลไกการออกฤทธิ์โดยเพิ่มเมตาบอลิซึม(Metabolism)ในสมอง อาทิ เพิ่มปริมาณออกซิเจน และเพิ่มน้ำตาลกลูโคสที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง ปัจจัยดังกล่าวทำให้เซลล์สมองมีพลังงานมากขึ้น และยังทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทบางอย่างออกมากขึ้น เช่นสาร Norepinephrine , Dopamine และ Serotonin และยาวินโพซีทีนยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือด รวมถึงออกฤทธิ์ให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดที่สมองดีขึ้น จากกลไกหลายด้านดังกล่าว จึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

วินโพซีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทยจะพบเห็นยาวินโพซีทีนแต่ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Vinpocetine ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด

วินโพซีทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาวินโพซีทีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 5–10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ระยะเวลาของการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับเด็ก

อนึ่ง:

  • ห้ามรับประทานยานี้เกินจากคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาวินโพซีทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวินโพซีทีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทาน ยาวินโพซีทีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้รับประทานที่ขนาดปกติ

วินโพซีทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาวินโพซีทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เกิดอาการใบหน้าแดง อาจมีผื่นคัน รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำและส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายลดต่ำลง

มีข้อควรระวังการใช้วินโพซีทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาวินโพซีทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกินคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอาการเลือดแข็งตัวช้า ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • ห้ามไปซื้อยานี้มารับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยานี้เมื่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่เป็นแหล่งชุมชนแออัด ด้วยยานี้อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลง
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดบาดแผล ด้วยยาวินโพซีทีนมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดและอาจเป็นเหตุให้เลือดออกนานขึ้นเมื่อมีบาดแผล
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาวินโพซีทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

วินโพซีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาวินโพซีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาวินโพซีทีนร่วมกับยาแก้ปวดจำพวก Aspirin, Diclofenac, Ibuprofen, Naproxen, และ/หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Heparin, Warfarin, Clopidogrel, ด้วยเมื่อใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันกับยาวินโพซีทีน จะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้นตามมา

ควรเก็บรักษาวินโพซีทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาวินโพซีทีน ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

วินโพซีทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาวินโพซีทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cavinton/Cavinton Forte (คาวินตัน/คาวินตัน ฟอร์ท)Gedeon Richte
Cognitol (ค็อกนิทอล)Sun Pharma

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Intelectol

บรรณานุกรม

  1. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-175-vinpocetine.aspx?activeingredientid=175#vit_overview[2017,Sept9]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cavinton-cavinton%20forte[2017,Sept9]
  3. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-175-vinpocetine.aspx?activeingredientid=175[2017,Sept9]