วินบลาสทีน (Vinblastine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- วินบลาสทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- วินบลาสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วินบลาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วินบลาสทีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- วินบลาสทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วินบลาสทีนอย่างไร?
- วินบลาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวินบลาสทีนอย่างไร?
- วินบลาสทีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งคาโปซิ คาโปซิซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma)
- มะเร็งรก มะเร็งโคริโอคาร์ซิโนมา (Choriocarcinoma)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
บทนำ
ยาวินบลาสทีน(Vinblastine หรือ Vincaleukoblastine sulfate หรือ Vinblastine sulfate) เป็นยาเคมีบำบัด(Cytotoxic chemotherapy) ที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับยาวินคริสทีน(Vincristine) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งคาโปซิ มะเร็งอัณฑะ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน มะเร็งเนื้อรก/มะเร็งรก มะเร็งผิวหนังชนิดมัยโคซีส ฟังกอยดีส มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคฮิสทิโอไซโตซิส(Histiocytosis, โรคพบได้น้อยจากร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า Histiocyte สูงขึ้นมากโดยสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคปานกลาง อาจรักษาได้ หรือในรายที่โรครุนแรง อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตก็ได้)
อดีตความเป็นมาของยาวินบลาสทีน เริ่มจากการสกัดยาสมุนไพร แล้วฉีดเข้าในสัตว์ทดลองเพื่อจะนำไปบำบัดโรคเบาหวานของมนุษย์ แต่กลับพบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดจำนวนเม็ดเลือดขาว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาค้นคว้าจนกระทั่งพบตัวยาวินบลาสทีน และนำมารักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่วงเริ่มต้น ตัวยาวินบลาสทีนมีการดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ไม่ดีเท่าใดนัก นักวิทยาศาสตร์จึงต้องพัฒนาเภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นแบบยาฉีด และต้องฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดเท่านั้น ห้ามฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อ ด้วยยาวินบลาสทีนสามารถสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายที่สัมผัสยานี้ได้ และขณะที่ยาวินบลาสทีนอยู่ในกระแสเลือด ตัวยานี้จะถูกลำเลียงไปทำลายที่ตับ และมีระยะเวลาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 24.8 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
มีข้อควรปฏิบัติและเรียนรู้ของผู้ป่วยเมื่อต้องเข้ารับการให้ยาวินบลาสทีนที่ควรทราบดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งว่า ปัจจุบันตนเองมียาประเภทใดใช้อยู่ก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
- ห้ามรับการฉีดวัคซีนใดๆเมื่อต้องใช้ยาวินบลาสทีน เพราะอาจติดเชื้อจากวัคซีนนั้นๆได้
- กรณีผู้ป่วยเป็นสตรีต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าตนเองอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือขณะนี้เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเองหรือไม่ ระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยที่เป็นสตรี ต้องหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์รวมถึงการให้นมบุตร ด้วยตัวยาวินบลาสทีนสามารถทำ อันตรายต่อทารกได้อย่างรุนแรง
- ดื่มน้ำ 2–3 ลิตรต่อวัน เพื่อลดอาการท้องผูกที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา วินบลาสทีน
- ระวังขณะแปรงฟันที่ก่อให้เกิดการกระแทกกับเหงือก รวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ เพราะผู้ที่ได้รับยาวินบลาสทีนจะมีระดับเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ จึงเสี่ยงต่ออาการเลือดออกง่าย
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาวินบลาสทีนอาจมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารในแต่ละครั้งในเป็นปริมาณน้อยๆ แต่ให้รับประทานบ่อยขึ้น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีผู้คนแออัด ด้วยผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาประเภท เคมีบำบัดที่รวมยาวินบลาสทีน จะมีระดับภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าคนปกติ จึงมีโอกาสการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย
- ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน เพื่อช่วยปรับสภาพให้ร่างกายแข็งแรงและฟื้นสุขภาพได้รวดเร็วขึ้น ร่วมกับต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุราเพื่อป้องกันภาวะเลือดออกภายในร่างกาย
- ปกติผู้ที่ได้รับยาวินบลาสทีน อาจเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ภายใน 2 สัปดาห์ เช่น ท้องผูก ผมร่วง อ่อนเพลีย หายใจขัด/หายใจลำบาก ปวดกราม ตลอดจนมีอาการชัก ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อใช้ยาบำบัดอาการข้างเคียงดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อหยุดใช้ยาวินบลาสทีน อาการข้างเคียงเหล่านี้สามารถหายได้เอง
- ห้ามใช้ยานี้กับทารกแรกคลอด ด้วยในสูตรตำรับจะประกอบด้วยสารที่มีชื่อว่า Benzyl alcohol ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่สามารถทำอันตรายต่อทารกได้
- ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ตรวจการทำงานของตับ ฯลฯ โดยควรมาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง และห้ามหยุดการรักษาโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
ยาวินบลาสทีนในรูปของเกลือซัลเฟต (Vinblastine sulfate) ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับยาวินบลาสทีนเพิ่มเติม สามารถสอบถามจากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษา หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลได้ตลอดเวลา
วินบลาสทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาวินบลาสทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น
- มะเร็งเต้านม(Breast Cancer)
- มะเร็งคาโปซิ(Kaposi’s Sacoma)
- มะเร็งอัณฑะ(Testicular Cancer)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน(Hodgkin's Disease)
- มะเร็งผิวหนังชนิดมัยโคซีส ฟังกอยดีส (Mycosis Fungoides)
- มะเร็งเนื้อรก/มะเร็งรก(Choriocarcinoma)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดต่างๆ(Lymphoma)
- โรคฮิสทิโอไซโตซิส (Histiocytosis)
วินบลาสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาวินบลาสทีน มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งและรบกวนการสร้างกลุ่มสารโปรตีนที่มีชื่อว่า ไมโครทิวบูล (Microtubule) สารโปรตีนชนิดนี้มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับท่อเล็กๆ โดยมีหน้าที่สำคัญในการจัดระเบียบองค์ประกอบหรือหน่วยทำงานย่อยๆภายในเซลล์ และส่งผลต่อการแบ่งเซลล์ให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น การรบกวนกระบวนการดังกล่าวนี้เอง ทำให้มะเร็งหยุด/ชะลอการแบ่งเซลล์ลง และเป็นที่มาของสรรพคุณในการรักษา
วินบลาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาวินบลาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของตัวยาVinblastine sulfate ขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยมีขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร/ขวด
วินบลาสทีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาวินบลาสทีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับโรคมะเร็งทุกประเภทที่ถูกระบุในสรรพคุณ เช่น
- ผู้ใหญ่: เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิผลในการรักษา แพทย์จะให้ยาวินบลาสทีนเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ผู้ป่วยต้องมารับยาต่อเนื่อง 5 สัปดาห์ ดังนี้ เช่น การให้ยาครั้งที่ 1 ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือหยดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 3.5 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร, การให้ยาครั้งที่ 2 ฉีดยาขนาด 5.5 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย 1 ตารางเมตร, การให้ยาครั้งที่ 3 ฉีดยาขนาด 7.4 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย 1 ตารางเมตร, การให้ยาครั้งที่ 4 ฉีดยาขนาด 9.25 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย 1 ตารางเมตร, การให้ยาครั้งที่ 5 ฉีดยาขนาด 11.1 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย 1 ตารางเมตร
- เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก แพทย์จะใช้เกณฑ์ของพื้นที่ผิวของร่างกายเด็ก ร่วมกับชนิดของโรค มาเป็นเกณฑ์ การให้ยา
อนึ่ง:
- กรณีต้องการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยตรงให้เจือจางยาวินบลาสทีนกับ 0.9% Sodium chloride ในอัตราส่วน 10 มิลลิกรัม : 10 มิลลิลิตร
- กรณีต้องการให้ยานี้แบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ ให้เจือจางยาวินบลาสทีน กับ 0.9% Sodium chloride 100–250 มิลลิลิตร แล้วหยดเข้าหลอดเลือดฯ โดยใช้เวลาหยดยานาน 30 นาทีขึ้นไป
- ยาวินบลาสทีนสามารถลดจำนวนเซลล์มะเร็งลงได้ก็จริง แต่ยานี้ก็สามารถลดจำนวนเม็ดเลือดขาวด้วยเช่นกัน ดังนั้นการใช้ยานี้แต่ละครั้ง แพทย์จะทำการตรวจนับเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาการให้ยานี้ครั้งถัดไป
- หากตรวจนับเซลล์เม็ดเลือดขาวได้ประมาณ 3,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร แพทย์จะไม่ปรับขนาดยาเพิ่มในการให้ยาครั้งถัดไป
- ระวังมิให้ยานี้ถูกฉีดผ่านทะลุหลอดเลือด ด้วยจะก่อให้เกิดพิษ/การอักเสบต่อเซลล์ของเนื้อเยื่อรอบหลอดเลือดดังกล่าว
- ทำความเข้าใจกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
- ห้ามหยุดทำการรักษาโรคโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
- มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาวินบลาสทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวินบลาสทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาวินบลาสทีนได้ตามแพทย์นัด ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อแพทย์ พยาบาล ผู้ที่ทำการดูแลรักษา เพื่อนัดหมายมารับการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว
วินบลาสทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาวินบลาสทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรืออาจท้องเสีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง น้ำหนักลด เกิดตุ่มพองในช่องปาก คออักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร/เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ประสาทหูเกิดความเสียหาย/มีอาการหูหนวกซึ่งเป็นได้ทั้งชั่วคราวหรือถาวร ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปลายเส้นประสาทอักเสบ ปวดศีรษะ มีอาการชา วิงเวียน อาจเกิดอาการชัก
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผมร่วง แต่เส้นผมสามารถคืนสภาพและงอกใหม่ได้หลังหยุดยานี้/หยุดยาเคมีบำบัดทุกชนิด ผิวแพ้แสงแดดง่าย อาจเกิดแผลพุพองตามผิวหนัง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจพบความดันโลหิตสูง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการซึม
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ โลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/ หลอดลมหดเกร็งตัว
มีข้อควรระวังการใช้วินบลาสทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาวินบลาสทีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ขณะฉีดยานี้ต้องระวังการแทงเข็มทะลุออกนอกหลอดเลือด ด้วยตัวยาสามารถ ก่อให้เกิดอันตรายกับเนื้อเยื่อที่มีการสัมผัสกับตัวยาได้
- กรณีมีอาการวิงเวียนหลังจากรับการฉีดยาวินบลาสทีนผู้ป่วย ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิด รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยา
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาวินบลาสทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
วินบลาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาวินบลาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาวินบลาสทีนร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ(Smallpox vaccine) หรือ วัคซีนป้องกันวัณโรค(BCG) เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษหรือเชื้อวัณโรคดังกล่าว ด้วยระบบภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วยขณะที่ได้รับยาวินบลาสทีนจะอยู่ในภาวะอ่อนแอ
- ห้ามใช้ยาวินบลาสทีนร่วมกับ ยาAdalimumab เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆได้อย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยาวินบลาสทีนร่วมกับ ยาClozapine ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมากตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาวินบลาสทีนร่วมกับยา Cobicistat เพราะจะทำให้ยาวินบลาสทีนในเลือดเพิ่มมากขึ้น จนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆที่สูงขึ้นจากยาวินบลาสทีนตามมา
ควรเก็บรักษาวินบลาสทีนอย่างไร?
ควรเก็บยาวินบลาสทีนในช่วงอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
วินบลาสทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาวินบลาสทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Vinblastine-Richter(วินบลาสทีน-ริชเทอร์) | Gedeon Richter |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ คือ Velbe, VLB, Vincaleukoblastine sulfate, Velban, Alkaban-AQ
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vinblastine[2017,Nov4]
- https://www.drugs.com/cdi/vinblastine.html[2017,Nov4]
- https://www.drugs.com/dosage/vinblastine.html#Usual_Adult_Dose_for_Breast_Cancer[2017,Nov4]
- https://www.drugs.com/sfx/vinblastine-side-effects.html[2017,Nov4]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/vinblastine-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Nov4]
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Vinblastine.aspx[2017,Nov4]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/vinblastine/?type=brief&mtype=generic[2017,Nov4]
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/086/11.PDF[2017,Nov4]
- https://davisplus.fadavis.com/3976/meddeck/pdf/vinblastine.pdf[2017,Nov4]