วิธีกินยาผง (Administering drug powder)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 2 กันยายน 2556
- Tweet
บางครั้งเราอาจได้รับยาที่มีรูปแบบเป็นผงมาจากทางโรงพยาบาล หรือจากคลินิก รวมทั้งร้านขายยา ซึ่งก่อนที่จะทานยา เราจะต้องเตรียมยาให้อยู่ในรูปของเหลว หรือของสารละลาย ซึ่งก็โดยการผสมน้ำต้มสุกที่สะอาดที่เย็นแล้ว (อุณหภูมิห้อง) ให้ถึงปริมาตรตามที่ได้ระบุไว้ที่ขวด หรือที่เอกสารกำกับยา
เรามาดูวิธีปฏิบัติในการเตรียมยาผงก่อนทานยาดังนี้
ข้อแนะนำวิธีการเตรียมยาผงผสมน้ำ
- หากต้องใช้ยามากกว่า 1 ขวด ให้ละลายยาทีละขวด
- ก่อนผสมน้ำ ควรเคาะขวดก่อน เพื่อให้ผงยาในขวดให้ร่วน ไม่จับตัวกัน เพื่อที่ยาจะละลายน้ำได้ง่ายขึ้น
- เติมน้ำครั้งแรกประมาณครึ่งหนึ่งของขีดที่กำหนด (อยู่บนขวด) หรือพอท่วมผงยา เพราะการเติมน้ำตอนนี้เป็นการเติมน้ำเพื่อละลายยา
- เขย่าขวดให้ยากระจายตัวทั่วถึง ไม่มีก้อนแข็ง มีคำแนะนำว่าเราควรปิดฝาขวดให้สนิท แล้วคว่ำขวดยา ก่อนที่จะเขย่าขวด เพราะผงยาจะละลายน้ำได้ง่ายกว่า
- เติมน้ำ ปรับระดับให้พอดีขีดที่กำหนด แล้วเขย่าขวดอีกครั้ง เพื่อปรับยาให้พอดี (เนื่องจากการเติมน้ำครั้งก่อนหน้านี้ เมื่อเขย่าขวดให้ยาละลายน้ำ จะทำให้ปริมาณน้ำที่ผสมน้อยลง หากเราไม่เติมน้ำในขั้นตอนนี้ จะทำให้ยาที่เรา/เด็กๆได้รับ อาจเข้มข้นเกินไป จนทำให้เป็นอันตรายได้)
- หลังผสมน้ำแล้ว เก็บยาที่อุณหภูมิห้องได้ 7 วัน แต่ถ้าเก็บในตู้เย็น (ที่ฝาตู้เย็น ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง หรือใต้ช่องแช่แข็ง เพราะอุณหภูมจะเย็นเกินไป จนส่งผลถึงคุณภาพของยาได้) จะเก็บได้นาน 2 สัปดาห์ (เนื่องจากยาที่ต้องผสมน้ำส่วนใหญ่เสื่อมง่าย เลยต้องเก็บในที่เย็น และหากยาพวกนี้ผสมน้ำแล้วยาจะเสื่อมเร็วกว่าการเก็บเป็นผงแห้ง )
- ก่อนรินยา ต้องเขย่าขวดก่อนทุกครั้ง (อ่านเพิ่มเติมในเกร็ดฯ เรื่อง วิธีกินยาน้ำ)
- ควรรอให้ยาขวดแรกหมดก่อน แล้วจึงผสมขวดที่ 2
- ถ้ายาเหลือให้ทิ้งไป เพราะเหตุผลดังที่กล่าวไว้ในข้อก่อนหน้านี้ (อ่านเพิ่มเติมในเกร็ดฯ เรื่อง วิธีทิ้งยา)
อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมบทความ 1 เรื่อง คือ
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
บรรณานุกรม
- สภาเภสัชกรรม.(2550). คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพ เภสัชกรรม(พ.ศ.2550) สภาเภสัชกรรม