วิธีกินยาน้ำ (How to take syrup medicine?)

ยาน้ำแยกได้เป็น ยาน้ำแขวนตะกอน ยาน้ำใส และยาน้ำแขวนละออง โดยมีวิธีกิน ดังนี้

  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) เช่น ยาลดกรด จะต้องเขย่าขวดก่อนรินยาเสมอ เพื่อให้ตัวยาสำคัญกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ และรินยาโดยใช้ช้อนตวงยา ซึ่ง 1 ช้อนชาจะเท่ากับ 5 ซีซี (CC., Cubic centimeter) และ 1 ช้อนโต๊ะจะเท่ากับ 3 ช้อนชา หรือ 15 ซีซี

    หากเขย่ายาน้ำแขวนตะกอนแล้ว แต่ตะกอนยังจับแน่นอยู่ที่ก้นขวด แสดงว่ายาเสื่อมคุณภาพ ห้ามใช้ยานั้น และให้ทิ้งยานั้นไป

  • ยาน้ำใส (Solution) เช่น ยาน้ำเชื่อม ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ ถ้าเกิดผลึกขึ้นหรือเขย่าแล้ว ไม่ละลาย ไม่ควรนำมารับประทาน ให้ทิ้งยานั้นไป
  • ยาน้ำแขวนละออง (Emulsion) เช่น น้ำมันตับปลา ยาอาจจะแยกออกให้เห็นเป็นของ เหลว 2 ชั้น เวลาจะใช้ให้เขย่าจนของเหลวรวมเป็นชั้นเดียวกันก่อน จึงรินมารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วยาไม่รวมตัวกัน หากเขย่ายาน้ำแขวนละอองแล้ว แต่ยังพบการแยกชั้นของน้ำกับน้ำมัน แสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว ให้ทิ้งยาไป
 

วิธีทิ้งยาน้ำ

ยาน้ำถ้ามีการเปลี่ยนสี กลิ่น หรือมีตะกอนผิดไปจากเดิม แสดงว่า ยาเสื่อมคุณภาพแล้ว ห้ามใช้ยา และให้ทิ้งยานั้นไป

  • ยาน้ำ ควรเทยาออกจากขวดให้หมด และอาจคลุกยากับสารที่ไม่ต้องการ เช่น ขี้เถ้า ดิน หรือ กากกาแฟ และห่ออีกชั้นก่อนนำไปทิ้งขยะ
  • ส่วนการเทยาลงในโถส้วมหรืออ่างล้างจานนั้น เป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ เนื่องจากจะทำให้ยากระจายและปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ เช่น
    • ดินที่ใช้ทำเกษตรกรรม (อาจปนเปื้อนในพืชที่เราทานเข้าไปได้)
    • หรือน้ำในแม่น้ำลำคลองต่างๆที่ถูกนำมาผลิตเป็นน้ำประปา

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเราอาจได้รับอันตรายจากยาที่เราเป็นคนทิ้งไปเองโดยไม่รู้ตัว

บรรณานุกรม

  1. รูปแบบยา...มีกี่แบบ...ใช้อย่างไร http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=23 [2013,April 24]
  2. http://www.yourhealthyguide.com/article/ag-drug-method.html [2013,April 24]
  3. http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=2b149ae4b50ddd17&pli=1 [2013,April 24]