วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ (Vitamin K antagonist)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์แบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง?
- วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- วิตามินเค (Vitamin K)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
บทนำ
ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ หรือ ยาต้านวิตามินเค (Vitamin K antagonist) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดที่มีการใช้ในวงการแพทย์มายาวนานมากกว่า 50 ปี โดยตัวยาจะส่งผลต่อต้านการทำงานของวิตามิน เค (Vitamin K)ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสังเคราะห์สารที่เป็นปัจจัยต่อการแข็งตัวของเลือด ระหว่างที่ได้รับยากลุ่มนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจวัดและควบคุมระดับของเกล็ดเลือดในร่างกายร่วมกับการตรวจวัดอัตราการแข็งตัวของเลือด ควบคู่กันไป
วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์แบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง?
ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอนุพันธ์ ดังนี้
1. อนุพันธ์คูมาริน(Coumarins) หรือเรียกว่า 4-ไฮดรอกซีคูมาริน (4-hydroxycoumarins)ที่ประกอบด้วย
- Warfarin: ในช่วงเริ่มต้น มนุษย์ใช้ยานี้เป็นยากำจัดสัตว์ประเภทฟันแทะ เช่น หนูและมีการพัฒนานำมาใช้กับมนุษย์โดยใช้เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดและในถุงลมปอด ตลอดจนกระทั่งเป็นยาบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัจจุบันยาชนิดนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
- Coumatetralyl: มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด และเป็นพิษกับสัตว์จำพวกฟันแทะ ปัจจุบันไม่มีการใช้ยาชนิดนี้กับมนุษย์
- Phenprocoumon: มีฤทธิ์ปิดกั้นการสังเคราะห์สารประกอบที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการแข็งตัวของเลือด เช่น Factor II, Factor VII, Factor IX และ Factor X ใช้เป็นยาป้องกันและบำบัดอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด(Thromboembolic disorders) มีจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Marcoumar, Marcumar, และ Falithrom
- Acenocoumarol: มีคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเลือดคล้าย Warfarin เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาสามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนาน 8–11 ชั่วโมง สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Sinthrome
- Dicoumarol: เป็นยารับประทานมักใช้ร่วมกับยาเฮพาริน (Heparin) เพื่อบำบัดอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ/ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาดจะก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายที่ควบคุมได้ยาก จึงอาจเป็นเหตุผลที่ ประเทศอเมริกาเพิกถอนการจำหน่ายยาชนิดนี้
- Tioclomarol: มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดและพบเห็นการใช้เป็นยากำจัดหนูเท่านั้น
- Brodifacoum: ถูกนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงและยากำจัดสัตว์ประเภท Possum
2. อนุพันธ์อินแดนดิโอนส์ (Indandiones) ประกอบด้วย
- Pindone: มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดแต่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรในฐานะยาฆ่าหนูและกระต่ายที่เข้ามาก่อกวนพืชผลของเกษตรกร
- Chlorophacinone: จัดเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดที่มีพิษมาก ปัจจุบันถูกนำมาใช้เป็นยาฆ่าหนู
- Diphacinone: ใช้เป็นยาสำหรับกำจัดสัตว์กลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่นหนู กระต่าย
- Anisindione: เป็นประเภทยาสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด อาจไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก และมีจำหน่ายเพียงบางประเทศเท่านั้น
- Phenindione: มีการออกฤทธิ์คล้าย Warfarin แต่ทางคลินิกพบว่ายานี้กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้กับผู้ที่ได้รับยาบ่อยมากจึงไม่ค่อยนิยมใช้
- Fluindione: ถึงแม้จัดอยู่ในสารประเภท Vitamin K antagonist แต่ยังไม่มีข้อสรุปประโยชน์ทางคลินิก จึงไม่พบเห็นการใช้สารประกอบนี้
วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดและป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือดในหลอดเลือด
วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ทั่วไป กลไกการแข็งตัวของเลือดจะมีวิตามิน เค (Vitamin K) เป็นตัวกระตุ้นสารชีวโมเลกุลต่างๆที่เป็นปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด เช่น แฟคเตอร์ ทู (Factor II), แฟคเตอร์ เซเว่น (Factor VII), แฟคเตอร์ ไนน์ (Factor IX), แฟคเตอร์ เทน (Factor X), Protein S Protein C, และ Protein Z สารชีวโมเลกุลเหล่านี้กระตุ้นกลไกการรวมตัวของเกล็ดเลือดและองค์ประกอบอื่นๆในร่างกายจนเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้นมา หลัง จากวิตามิน เค ทำหน้าที่กระตุ้นสารชีวโมเลกุลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ตัวมันจะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์ ร่างกายจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Vitamin K epoxide reductase ซึ่งเอนไซม์นี้จะกระตุ้นให้วิตามิน เคในรูปที่ไม่สามารถออกฤทธิ์เปลี่ยนไปเป็นวิตามิน เคที่สามารถออกฤทธิ์ และทำงานได้อีก วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์จะเข้ายับยั้งการทำงานของ Vitamin K epoxide reductase ทำให้วิตามิน เค ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ส่งผลให้กระบวนการรวมตัวของเกล็ดเลือดหรือการแข็งตัวของเลือดถูกยับยั้ง และก่อให้เกิดประโยชน์ทางคลินิกตามสรรพคุณ
วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
เภสัชภัณฑ์ของยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ส่วนมากจะเป็นยาแบบรับประทานที่มีขนาด ความแรงแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัวยา
วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาในกลุ่มวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ที่นำมาใช้ทางคลินิกมีความแรงและขนาดรับประทานที่แตกต่างกันออกไป ระหว่างการใช้ยานี้ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานขึ้นหรือลดลงตามความเหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป และการใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างปลอดภัยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
แต่เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ ตรงขนาดและตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์
วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาจสรุปผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่เกิดจากการใช้ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจพบมีเลือดออกตามเหงือก เกิดเลือดกำเดาไหล ประจำเดือนมามากผิดปกติ กรณีเกิดแผลจะมีเลือดออกมากและใช้เวลานานกว่าปกติเพื่อให้เลือดหยุด
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาจเจียน ท้องเสีย
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อกระดูก
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะรุนแรง มีไข้
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้เบื่ออาหาร
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน ผมร่วง ผิวเป็นจ้ำ/รอยแดง
- ผลต่อหลอดเลือด: เช่น เกิดอาการหลอดเลือดอักเสบ
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง
- อื่นๆ: เช่น ไอเป็นเลือด
อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลต่อกลุ่มยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป
มีข้อควรระวังการใช้วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมาใหม่ๆ
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุรา
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร-ลำไส้ ผู้ที่มีบาดแผลตามร่างกาย ผู้ป่วยติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ /เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาตรวจร่างกาย/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Acenocoumarol ร่วมกับยาบางกลุ่มอย่าง NSAIDs , Amiodarone, Co-trimoxazole , Cephalosporins , Erythromycin อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากยา Acenocoumarol ได้มากขึ้น เช่น มีภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Warfarin ร่วมกับดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อาจพบเลือดออกตามร่างกายได้ง่ายขึ้น และถ้ามีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารอาจพบว่าอุจจาระจะมีสีดำ
- การใช้ยาDicoumarol ร่วมกับยาบางตัว สามารถทำให้ฤทธิ์ของยา Dicoumarol เพิ่มขึ้นจนอาจเกิดผลเสีย/ผลข้างเคียงรุนแรงกับคนไข้/ผู้ป่วย ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Acetaminophen / Paracetamol, Aspirin, Allopurinol, Amidarone, Amprenavir, Atazanavir, Capecitabine, Ceftriaxone, Celecoxib, Cimetidine, Ciprofloxacin, Cisapride หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ ตามข้อกำหนดในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Befarin (เบฟาริน) | Berlin Pharm |
Cogulax (โคกูแลกซ์) | Pond’s Chemical |
Fargem (ฟาร์เจม) | M. J. Biopharm |
Maforan (มาฟอแรน) | Sriprasit Pharma |
Morfarin (มอร์ฟาริน) | Charoon Bhesaj |
Orfarin (ออร์ฟาริน) | Orion |
Zydarin (ไซดาริน) | Zydus Cadila |
SINTHROME (ซินโทรม) | Novartis |
Dicoumarol (ไดคูมารอล) | Eli lilly |