วาลเดค็อกซิบ (Valdecoxib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาวาลเดค็อกซิบ (Valdecoxib) เป็นยาในกลุ่ม NSAIDs ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคข้อกระดูกอักเสบ (Osteoarthritis) โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) และอาการปวดประจำเดือนในสตรี ยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบอย่างสาร Prostaglandin จึงทำให้อาการปวดบรรเทาลง ยาวาลเดค็อกซิบมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ตัวยานี้จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 83% เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 98% และถูกทำลายโดยเอนไซม์จากตับ 2 ตัว ซึ่งมีชื่อเรียกว่า CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4) และ CYP2C9 (Cytochrome P450 2C9) ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8–11 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ด้วยระยะเวลาในการกำจัดยาดังกล่าว ทำให้การใช้ยานี้เพียงวัน ละ1ครั้ง ก็สามารถควบคุมอาการปวดได้หลายชั่วโมง

ผลข้างเคียงที่ดูจะรุนแรงของยาวาลเดค็อกซิบ ได้แก่ กระตุ้นให้การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดในร่างกายผิดปกติ จึงเป็นที่มาของข้อห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ข้อมูลทางคลินิกยังระบุอีกว่า ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่มีอาการของลมพิษ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร และผู้ป่วยที่มีโรคที่เกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ ด้วยพบว่า ยาวาลเดค็อกซิบสามารถกระตุ้นให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น

การใช้ยาวาลเดค็อกซิบร่วมกับยาต่างๆหลายรายการ ยังสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรงตามมา เช่น ยากลุ่ม NSAIDs ตัวอื่นๆ Aspirin และ Sulfisoxazole เป็นต้น

นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาวาลเดค็อกซิบ เพราะปัจจัยดังกล่าวจะเร่งให้เกิดผลเสีย/ผลข้างเคียงจากยานี้ ต่อหัวใจและต่อหลอดเลือดตามมา

การใช้ยาวาลเดค็อกซิบจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือเกิดข้อผิดพลาดโดยรับประทานยานี้เกินขนาด จะก่อให้เกิดอาการ ง่วงนอน คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องรุนแรง กรณีเช่นนี้ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อนึ่ง หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาวาลเดค็อกซิบ เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

วาลเดค็อกซิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

วาลเดค็อกซิบ

ยาวาลเดค็อกซิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดอาการปวดข้อกระดูก อาการปวดในโรคข้อรูมาตอยด์ และ การปวดประจำเดือน

วาลเดค็อกซิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาวาลเดค็อกซิบมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในร่างกายที่มีชื่อว่า Cyclooxygenase (COX-2) ส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์สาร Prostaglandin ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะ/การอักเสบของร่างกาย และเป็นที่มาของสรรพคุณ

*หมายเหตุ: ด้วยผลข้างเคียงต่อหัวใจ จึงทำให้ยาวาลเดค็อกซิบถูกเพิกถอนการใช้จากตลาดยาในแถบซีกโลกตะวันตก เมื่อปี ค.ศ.2005 (พ.ศ. 2548)

วาลเดค็อกซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาวาลเดค็อกซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Valdecoxib ขนาด 10 และ20 มิลลิกรัม/เม็ด

วาลเดค็อกซิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาวาลเดค็อกซิบมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับอาการปวดข้อกระดูก และอาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

ข. สำหรับอาการปวดประจำเดือน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

อนึ่ง:

  • ในเด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิก รองรับการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก
  • อาการข้างเคียงของยานี้ที่ดูรุนแรง ได้แก่ การทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดอาการชัก จึงเป็นเหตุผล สำคัญที่ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว และห้ามปรับเพิ่มขนาดรับประทานด้วยตนเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาวาลเดค็อกซิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ แผลในทางเดินอาหาร(เช่น แผลเปบติค) รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวาลเดค็อกซิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาวาลเดค็อกซิบ สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติเท่านั้น

วาลเดค็อกซิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาวาลเดค็อกซิบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเม็ดเลือดขาวน้อยหรือมาก มีความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง เช่น ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก ปากแห้ง เกิดแผลในลำไส้เล็ก หลอดอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดริดสีดวงทวาร อุจจาระบ่อย ปวดฟัน อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ชักกระตุก วิงเวียน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ในบางครั้งก็ทำให้ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า ชีพจรเต้นผิดปกติ ค่าECG ผิดปกติ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดโรคคอพอก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดสิว ผมร่วง มีผื่นคัน ผิวแห้ง ลมพิษ
  • ผลต่อระบบเจริญพันธุ์/อวัยวะสืบพันธ์: เช่น ในสตรีอาจมีประจำเดือนขาด ประจำเดือนผิดปกติ ในบุรุษอาจพบว่าสมรรถนะทางเพศถดถอย และมีอาการผิดปกติของต่อมลูกหมาก เช่น ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ตึงคอ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เกิดต้อกระจก ปวดตา เลือดออกในตา
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล รู้สึกสับสน ซึม นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก หลอดลมอักเสบ ปอดบวม คออักเสบ
  • ผลต่อหู: เช่น ปวดหู หูอื้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีโปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ มีน้ำตาลในปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดสูงหรือโพแทสเซียมในเลือดต่ำลง ไขมันในเลือดสูง กรดยูริคในเลือดเพิ่มขึ้น เกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ กระหายน้ำเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวลดหรือไม่ก็เพิ่ม

มีข้อควรระวังการใช้วาลเดค็อกซิบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาวาลเดค็อกซิบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือผู้ที่แพ้ยากลุ่ม NSAID ผู้ที่แพ้ยา Sulfonamides
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยด้วย โรคหืด ผู้ที่มีลมพิษเล่นงาน ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ที่มีแผลในระบบทางเดินอาหาร (เช่น แผลเปบติค) มีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก(เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร) และผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาชื้น หรือ แตกหัก
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วน ประกอบ
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นแผลในระบบทางเดินอาหาร
  • ระวังการเกิด ภาวะโลหิตจาง มีระดับเกล็ดเลือดผิดปกติ รวมถึงเกิดอาการบวมตามร่างกาย
  • รับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาวาลเดค็อกซิบด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

วาลเดค็อกซิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาวาลเดค็อกซิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาวาลเดค็อกซิบร่วมกับยา Aspirin ด้วยจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาวาลเดค็อกซิบร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูง อย่างเช่น กลุ่มยา ACE inhibitors เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตของยา กลุ่มดังกล่าวด้อยลง
  • การใช้ยาวาลเดค็อกซิบร่วมกับยา Dextromethorphan จะทำให้ระดับยา Dextromethorphanในเลือดเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาDextromethorphanสูงขึ้นตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาวาลเดค็อกซิบร่วมกับยา Tenofovir ด้วยจะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของไต หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาวาลเดค็อกซิบอย่างไร?

เก็บยาวาลเดค็อกซิบภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

วาลเดค็อกซิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาวาลเดค็อกซิบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Bextra (เบ็กซ์ตร้า) Pfizer

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/valdecoxib/?type=brief&mtype=generic[2017,March25]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Valdecoxib[2017,March25]
  3. https://www.drugs.com/mtm/valdecoxib.html[2017,March25]
  4. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2004/21341lbl.pdf[2017,March25]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/valdecoxib-index.html?filter=3&generic_only=[2017,March25]