วัณโรคนอกปอด (ตอนที่ 5)

วัณโรคนอกปอด-5

      

      วัณโรคในเยื่อหุ้มหัวใจ (TB pericarditis) การติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจอาจพัฒนามาจากต่อมน้ำเหลืองในเยื่อหุ้มปอด (Mediastinal lymph nodes) หรือ จากวัณโรคเยื่อหุ้มปอด (Pleural TB) วัณโรคชนิดนี้มักเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

      ผู้ป่วยอาจมีเสียงเสียดสีของเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardial friction rub) เจ็บหน้าอกแบบเยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritic and positional chest pain) หรือ เป็นไข้ และอาจมีภาวะหัวใจถูกบีบรัด (Pericardial tamponade) จนทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก (Dyspnea) เส้นเลือดดำบริเวณคอโป่ง (Neck vein distention) ชีพจรแผ่วขณะหายใจเข้า (Paradoxical pulse) ฟังเสียงหัวใจได้เบาลง (Muffled heart sounds) และอาจมีภาวะความดันโลหิตต่ำ (Possibly hypotension)

      วัณโรคต่อมน้ำเหลือง (Tuberculous lymphadenitis: Scrofula) เป็นวัณโรคเกิดที่ต่อมน้ำเหลืองที่คอกลุ่มหลัง (Posterior cervical) และต่อมน้ำเหลืองบริเวณเหนือไหปลาร้า (Supraclavicular chains) ซึ่งเชื่อว่าเป็นการติดเชื้อมาจากท่อน้ำเหลืองในทรวงอก (Intrathoracic lymphatics) หรือติดเชื้อจากต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ (Adenoids)

      วัณโรคต่อมน้ำเหลืองจะมีอาการบวมของต่อมหรือในรายที่รุนแรงอาจมีการอักเสบ ผิวอาจแตกเป็นรูระบายหนอง (Draining fistula)

      วัณโรคผิวหนัง (Cutaneous tuberculosis / Scrofuloderma) เป็นผลมาจากการเกิดวัณโรคในจุดอื่นแล้วมาเกิดผิวหนังอักเสบเป็นแผลและรูเปิดที่ผิวหนัง (Sinus tracts) ไม่เจ็บ เช่น Lupus vulgaris และ Tuberculosis verrucosa cutis

      วัณโรคที่กระดูกและข้อ (TB of bones and joints) มักเกิดในบริเวณข้อที่รับน้ำหนัก แต่อาจเกิดตามข้อมือ มือ และ ข้อศอก หลังการเกิดอุบัติเหตุ

      วัณโรคกระดูกสันหลัง (Pott disease) เป็นการติดเชื้อที่ไขสันหลังและกระจายไปยังบริเวณใกล้เคียง หากไม่ทำการรักษากระดูกสันหลังอาจล้มและกระทบกับไขสันหลัง มีอาการค่อยๆ ปวดจนปวดเรื้อรัง หรือ ข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน (Subacute arthritis) ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีข้ออักเสบเพียงข้อเดียว (Monoarticular arthritis)

      วัณโรคกระดูกสันหลังจะทำให้เกิดการสูญเสียหน้าที่ของสมอง (Neurologic deficits) เช่น เป็นอัมพาตท่อนล่าง (Paraplegia) กระดูกสันหลังด้านข้างบวมจากฝี (Paravertebral swelling)

      วัณโรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal TB) มักเกิดแผลในปากและช่องคอ (Oropharynx) หลังการกินผลิตภัณฑ์นมที่มีเชื้อแบคทีเรีย M. bovis (Mycobacterium bovis) อาจเกิดรอยโรคเบื้องต้นที่ลำไส้เล็ก ทำให้เกิดภาวะเซลล์แบ่งตัวเกิน (Hyperplasia) และเกิดโรคลำไส้แปรปรวน (Inflammatory bowel syndrome: IBS) โดยมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด (Hematochezia) นอกจากยังอาจมีอาการคล้ายไส้ติ่งอักเสบ เป็นแผลและเป็นฝีคัณฑสูตร (Fistulas)

      วัณโรคที่ตับ (TB of the liver) มักพบในผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอด (Pulmonary TB) ที่ลุกลาม หรือ วัณโรคข้าวฟ่าง บางครั้งวัณโรคที่ตับก็กระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดดีซ่านจากท่อตัน (Obstructive jaundice)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Extrapulmonary Tuberculousis (TB). https://www.msdmanuals.com/professional/infectious-diseases/mycobacteria/extrapulmonary-tuberculosis-tb[2019, August 4].
  2. Tuberculosis (TB). https://www.who.int/tb/areas-of-work/preventive-care/ltbi_faqs/en/[2019, August 4].