วัคซีนหัดเยอรมัน (Rubella Vaccine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหัดเยอรมัน (Rubella, German Measles) มีอีกชื่อหนึ่งว่าโรคเหือด หรือโรคหัดสามวัน (Three-day Measles) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสรูเบลลา (Rubella Virus) ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากจมูกหรือลำคอของผู้ติดเชื้อ เชื้อโรคยังสามารถแพร่กระจายทางละอองหรืออาจติดต่อจากผู้ป่วยโดยตรงก็ได้ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ต่ำๆถึงระดับปานกลาง ปวดศีรษะ มีผื่นสีชมพูอ่อนๆ ขึ้นกระจายตามลำตัว ต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังใบหู หลังคอ และท้ายทอยโต อาจมีอาการแสบเคืองตาร่วมด้วย ในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้เช่น โรคไขข้ออักเสบ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และโรคไข้สมองอักเสบ

นอกจากเชื้อโรคนี้จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ติดเชื้อแล้วนั้น เชื้อไวรัสรูเบลลายังก่อให้เกิดความผิดปกติของพัฒนาการทารกในครรภ์ในสตรีมีครรภ์โดยเชื้อไวรัสมีความสามารถในการผ่านรกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อดังกล่าวในช่วงสามเดือนแรก ทารกที่ติดไวรัสรูเบลลาในครรภ์มารดาแต่กำเนิด (Congenital Rubella Syndrome; CSR) จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ มีอาการหูหนวก ตาบอด ตาเป็นต้อกระจก ต้อหิน หัวใจพิการ และพิการทางสมองได้ ทั้งนี้ขึ้น กับความรุนแรงและช่วงระยะเวลาในการติด ไม่สามารถคาดคะเนได้อย่างแน่นอน

โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน มีทั้งชนิดวัคซีนเดี่ยวและวัคซีนผสมร่วมกับโรคหัดและโรคคางทูมหรือเรียกย่อว่า วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (Measles /หัด, Mumps/คางทูม, Rubella; MMR) เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ (Live Attenuated Vaccine) แต่ยังมีความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้วัคซีนโรคหัดเยอรมันเป็นวัคซีนพื้นฐาน โดยทั่วไปการฉีดเพียงครั้งเดียวจะให้การป้องกันได้ทั้งชีวิต อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัตินิยมฉีดกระตุ้นซ้ำอีกหนึ่งครั้ง ในส่วนของประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำให้วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) เป็นวัคซีนจำเป็นที่ต้องให้กับเด็กทุกคน โดยฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 9 - 12 เดือนและอีกครั้งหนึ่งในช่วงอายุ 2 ปีครึ่ง นอกจากในเด็กแล้ว วัคซีนนี้ยังเป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดแก่ผู้หญิงที่วางแผนที่จะมีบุตรหากไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแก่ทารกในครรภ์

วัคซีนหัดเยอรมันมีกี่รูปแบบ? อะไรบ้าง? แต่ละรูปแบบมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

วัคซีนหัดเยอรมัน

วัคซีนหัดเยอรมันมีรูปแบบดังนี้

ก. วัคซีนหัดเยอรมัน (Rubella Vaccine) ชนิดเป็นวัคซีนชนิดเดี่ยว: เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้เชื้อไวรัสหัดเยอรมันอ่อนแรงแล้ว (Live, attenuated Vaccine) หมายความว่า เชื้อที่อยู่ในวัคซีนไม่ได้มีจำนวนมากพอในการก่อโรค แต่มีมากพอที่จะกระตุ้นระบบภูมคุ้มกันของร่างกาย *มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นวัคซีนชนิดผงแห้ง (Freeze Dry) ที่ก่อนฉีดจะใช้ละลายในสารละลาย โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังในผู้ที่อายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป วัคซีนหัดเยอรมันชนิดเดี่ยวนั้นไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากนิยมใช้วัคซีนผสมชนิด MMR หรือ MMRV (Measles, Mumps, Rubella และ Varicella/อีสุกอีใส Vaccine) ซึ่งจะกล่าวต่อไป

ข. วัคซีนผสม: ที่มีวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันเป็นองค์ประกอบ มี 3 รูปแบบได้แก่

*อนึ่ง ในการบริหาร/การใช้วัคซีนเหล่านี้แต่ละครั้ง แพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้ผสมสารละลายให้วัคซีนมีสภาพพร้อมใช้ ขนาดและปริมาตรของสารละลายที่ใช้ในการผสมวัคซีนแห้งอาจมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นกับคำแนะนำจากบริษัทผู้ผลิต โดยทั่วไปจะใช้ยา/วัคซีน 1 ขวด/vial ต่อการฉีด 1 ครั้ง

วัคซีนหัดเยอรมันมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้อะไรบ้าง?

วัคซีนหัดเยอรมันมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้เช่น

  • ห้ามใช้วัคซีนนี้กับผู้ที่แพ้ยา/วัคซีนนี้หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนนี้ วัคซีนนี้อาจมีส่วนประกอบของยานีโอมันซิน (Neomycin), เอมบริโอของไข่ไก่ (Chick Embryo), น้ำตาล/สาร ให้ความหวานซอร์บิทอล (Sorbitol sweetener) และสารเจลาติน (Gelatin, สาร Collagen ชนิดหนึ่งที่ได้จากสัตว์) ผู้ที่แพ้ยานีโอมันซิน แพ้โปรตีนจากไข่ แพ้น้ำตาลซอร์บิทอล และ/หรือแพ้เจลาตินควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับวัคซีนนี้ อย่างไรก็ดีผู้รับวัคซีนนี้ควรสอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกรถึงส่วนประกอบของวัคซีนหากมีประวัติแพ้สารใดๆก่อนการรับวัคซีนนี้
  • ห้ามให้วัคซีนนี้กับผู้ที่มีปัญหาของระบบภูมิคุ้มกันเช่น ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง/ โรคเอดส์ (AIDS) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่มีอาการแสดง
  • ห้ามให้วัคซีนนี้แก่สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ สตรีที่ได้รับวัคซีนนี้ไปแล้วในช่วง 3 เดือนควรคุมกำเนิดหรือป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์
  • หากมีอาการป่วยต่างๆเช่น มีไข้ โรคหวัด ไม่สบาย ให้เลื่อนนัดการรับวัคซีนนี้ออกไป โดยติดต่อสถานพยาบาลเพื่อนัดวันรับวัคซีนใหม่
  • หลังการรับวัคซีนนี้แล้ว ผู้รับวัคซีนควรอยู่ ณ สถานพยาบาลที่ได้รับวัคซีนต่อไปอีกระยะหนึ่งประมาณ 15 - 30 นาทีเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการแพ้วัคซีนนี้แบบเฉียบพลันชนิดที่รุนแรงที่เรียกว่า Anaphylaxis หรือมีอาการหมดสติ (Syncope) หลังได้รับวัคซีนนี้
  • ผู้รับวัคซีน MMRV (Measles, Mumps, Rubella, Varicellar/โรคอีสุกอีใส Vaccine) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) ซึ่งเป็นยาแก้ปวด ยาลดไข้ หรือยาต้านเกล็ดเลือด ทั้ง ก่อนและหลังการรับวัคซีนนี้อย่างน้อย 6 สปัดาห์เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดกลุ่มอาการเรย์/ไรย์ (Reye’s Syndrome) ซึ่งเป็นโรค/กลุ่มอาการที่เกิดความผิดปกติขึ้นกับตับร่วมกับสมองโดยอาจมีอาการคลื่นไส้ กระสับกระส่าย ก้าวร้าว สับสน รวมไปถึงอาการชักและหมดสติ
  • ห้ามใช้วัคซีนที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บวัคซีนที่หมดอายุ

วัคซีนหัดเยอรมันก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างไรบ้าง?

วัคซีนโรคหัดเยอรมันอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ผลข้างเคียงเฉพาะที่: เช่น เจ็บ ปวด บวม แดง ณ บริเวณที่ฉีดวัคซีน และอาจมีผื่นคันรอบๆบริเวณที่ฉีด
  • ผลข้างเคียงทั่วไป: เช่น อาจมีไข้หรือรู้สึกไม่สบายหลังได้รับวัคซีนนี้ อาจไอ

ทั้งนี้หากอาการผิดปกติต่างๆไม่ดีขึ้นใน 1 - 2 วันหรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

อนึ่งวัคซีนโรคหัดเยอรมันอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรงเช่น มึนงง สับสน ร่วมกับมีไข้ ไอ เจ็บคอ รวมไปถึงอาการแพ้ยา/แพ้วัคซีนเช่น มีผื่นคันขึ้นตามลำตัว ใบหน้า เปลือกตา/หนังตา หรือริมฝีปากบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ซึ่งเมื่อเกิดอาการเหล่านี้หลังได้รับวัคซีนให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันที/ฉุกเฉิน

วัคซีนโรคหัดเยอรมันมีตารางการฉีดอย่างไรบ้าง?

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำให้เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนหัด-หัดเยอร มัน-คางทูม หรือวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) เข็มแรกในช่วงอายุ 9 - 12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกหนึ่ง ครั้งเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้และประสงค์จะได้รับ สามารถปรึกษาแพทย์อายุรกรรมทั่วไปหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวได้เป็นกรณีไป

วัคซีนโรคหัดเยอรมันมีชื่อการค้าอื่น ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยอะไรบ้าง?

วัคซีนโรคหัดเยอรมันที่มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตหรือ จัดจำหน่ายดังต่อไปนี้

บรรณานุกรม

  1. Weekly epidemiological record Health Section of the Secretariat of the League of Nations. World Health Organization (WHO). 2011; 86 (29): 301–16.
  2. WHO Model List of EssentialMedicines. World Health Organization. October 2013.
  3. พนิดา มีลาภกิจ. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันระหว่างตั้งครรภ์. http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=818:2013-02-05-23-10-09&catid=45&Itemid=561 [2016,July16]
  4. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทยปกติ แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2559.http://www.pidst.net/A478.html [2016,July16]
  5. Summarization of Product Characteristic. eMC. MMRVAXPRO. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/20968 [2016,July16]
  6. Summarization of Product Characteristic. eMC. Priorix http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/2054 [2016,July16]
  7. Rubella. Vaccines.gov [Online] http://www.vaccines.gov/diseases/rubella/ [2016,July16]
  8. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp [2016,July16]
  9. วัคซีนหัดเยอรมัน ควรฉีดก่อนตั้งครรภ์หรือไม่. วารสารบันทึกคุณแม่. http://www.mothersdigest.in.th/วัคซีนหัดเยอรมัน-ควรฉีด [2016,July16]
  10. รายงานข้อมูลวัคซีน MMR. Immunization Action Coalition. http://www.immunize.org/vis/thai_mmr.pdf [2016,July16]
  11. PROQUAD. FDA Summary. http://www.fda.gov/downloads/BiologicsBloodVaccines/Vaccines/ApprovedProducts/UCM123796.pdf [2016,July16]
  12. CDC. MMR Vaccine.http://www.cdc.gov/vaccinesafety/vaccines/mmrv-vaccine.html [2016,July16]