วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Vaccine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcemia หรือ Meningococcal disease) เป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิด ไนซีเรีย มีนิงไจทิดิส (Neisseria meningitidis) หรือมีนิงโกคอกคัส (Meningococcus) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้ จะก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) และยังสามารถก่อการติดเชื้อในเนื้อเยื่อต่างๆได้ด้วยเช่นกัน เช่น ข้อ เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งการติดเชื้อโรคนี้มีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยพบว่า ผู้ติดเชื้อโรคนี้ร้อยละ 10-15(10-15%) เสียชีวิตจากโรคนี้ แม้จะได้เข้ารับการรักษาที่เหมาะสมแล้วก็ตาม

การแพร่กระจายของโรคนี้เกิดขึ้นจากคนสู่คน ผ่านการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ของผู้ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โรคนี้มีการแพร่ระบาดในประเทศในแถบทวีปแอฟริกา ในบริเวณที่เรียกว่า แอฟริกันมีนิงไจทิสเบลต์ (African Meningitis Belt) หรือบริเวณตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า ส่วนในประเทศไทย พบการแพร่ระบาดของโรคนี้น้อยมาก

โรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถป้องกันได้โดย “วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น หรือทั่วไปเรียกว่า วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น(Meningococcal Vaccine)” ซึ่งมีอยู่หลายประเภท แต่ละประเภทมีความสามารถในการป้องกันเชื้อมีนิงโกคอกคัสชนิดย่อยที่แตกต่างกัน เนื่องจากเชื้อมีนิงโกคอกคัสมีอยู่หลายชนิดย่อย ได้แก่ ชนิดเอ (A), ชนิดบี (B), ชนิดซี (C), ชนิดดับเบิลยู-135 (W-135), ชนิดวาย (Y), และชนิดเอ็กซ์ (X), แต่โดยทั่วไปแล้ว วัคซีนทุกชนิด จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคนี้จากเชื้อทุกชนิดย่อยถึงร้อยละ 85-100(85-100%) เป็นเวลานานประมาณ 2 ปี ภายหลังการฉีดวัคซีนนี้

วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นนี้ ไม่ใช่วัคซีนที่แนะนำให้กับคนไทยทุกคน แต่หากผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้ หรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ จึงควรได้รับวัคซีนนี้ก่อนทุกครั้ง ล่วงหน้าอย่างน้อย 10วัน หรือถ้าเคยได้รับวัคซีนนี้มาแล้ว ต้องอยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี แต่ถ้าได้รับวัคซีนนี้นานเกิน 2 ปีแล้ว ต้องได้รับการฉีดวัคซีนนี้ใหม่

วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นมีกลไกการทำงานอย่างไร?

วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น

จากการศึกษาพบว่า มีโปรตีนบนผิวเซลล์เชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย มีนิงไจทิดิส (Neisseria meningitidis) ชนิดที่เรียกว่า NHBA( Neisseria heparin binding antigen), NadA (Neisserial adhesin A) , fHbp (Factor H binding protein), และ PorA/PorinA เป็นตัวการก่อโรค ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น ประกอบไปด้วยแอนติเจน/Antigen (สารก่อการแพ้ หรือสารที่เป็นสิ่งแปลกปลอม)ของเชื้อแบคทีเรียนี้ ที่ใช้ไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้ต่อต้านการทำงานของโปรตีนต่างๆดังกล่าวบนผิวเซลล์แบคทีเรียก่อโรคไข้กาฬหลังแอ่น จึงส่งผลให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อโรคนี้ได้

วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นมีข้อบ่งใช้อย่างไร? มีขนาดและวิธีการบริหารวัคซีนอย่างไรบ้าง?

วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น มีข้อบ่งใช้เพื่อ ป้องกันการติดเชื้อมีนิงโกคอกคัส (Meningococcus) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคหลักของโรคไข้กาฬหลังแอ่น ซึ่ง วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความสามารถในการป้องกันชนิดของเชื้อโรคกลุ่มนี้ที่แตกต่างกัน ได้แก่

ก. วัคซีนประเภทคอนจูเกต (Conjugated Vaccine) หรือเอ็มซีวีโฟร์ (MCV4 , Meningococcal vaccine) : ได้แก่

1. มีแน็กทรา (Menactra®): เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีคอนจูเกต (Conjugated Vaccine) คือ การนำแอนติเจน/สารก่อการแพ้จากแบคทีเรียก่อเชื้อโรคนี้ไปเชื่อมต่อกับสารอื่นที่มีความสามารถในการนำพาแอนติเจนนี้สู่เซลล์เป้าหมายที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น วัคซีนนี้มีความสามารถในการป้องกันเชื้อไนซีเรีย มีนิงไจทิดิส (Neisseria meningitidis) หรือมีนิงโกคอกคัส ชนิดเอ (Serogroup A), ชนิดซี (Serogroup C), ชนิดวาย (Serogroup Y), และชนิดดับเบิลยู-135 (Serogroup W-135), และวัคซีนนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้กับกลุ่มคนตั้งแต่อายุ 9 เดือนถึง 55 ปี บริหาร/ใช้วัคซีนโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection, IM injection) ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร โดย

  • ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 9-23 เดือน ให้ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 3 เดือน
  • ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปี ถึงผู้ใหญ่อายุ 55 ปี ให้ฉีดเพียงครั้งเดียว

2. เม็นไฮบริกซ์ (MenHibrix®): เป็นวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นที่ครอบคลุมเชื้อชนิดซี(Serogroup C), และชนิดวาย (Serogroup Y), และยังเป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ฮีโมฟิลุส อินฟลูอินซา ชนิดบี หรือ วัคซีนฮิบ (Hemophilus influenzae Type B Vaccine or Hib)ได้ด้วย เป็นวัคซีนชนิดคอนจูเกต (Conjugated Vaccine) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ถึง 18 เดือน บริหารวัคซีนโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร ในอายุ 2, 4, 6 และ 12-15 เดือน (รวม 4 ครั้ง)

3. เม็นวีโอ (Menveo®): เป็นวัคซีนที่มีความสามารถในการป้องกันครอบคลุมเชื้อโรคไข้กาฬหลังแอ่นชนิดเอ (Serogroup A), ชนิดซี(Serogroup C), ชนิดวาย (Serogroup Y), และชนิดดับเบิลยู-135 (Serogroup W-135), ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้กับบุคลอายุ 2 เดือนถึง 55 ปี บริหารวัคซีนโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร

  • เด็กที่เริ่มฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน ให้ฉีด 4 ครั้ง ตอนอายุ 2, 4, 6 และ 12 เดือน
  • เด็กที่เริ่มฉีดเมื่ออายุ 7-23 เดือน ให้ฉีด 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ให้ฉีดเมื่ออายุ 2 ปี และให้ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 3 เดือน
  • ผู้ที่เริ่มฉีดเมื่ออายุ 2-55 ปี ให้ฉีดเพียงครั้งเดียว

ข. วัคซีนประเภทโพลีแซกคาไรด์ หรือ เอ็มพีเอสวีโฟร์ (MPSV4, Meningococcal polysaccharide vaccine) หรือ มีโนมูน (Menomune®): เป็นโพลีแซกคาไรด์วัคซีน (Polysaccharide Vaccine) หรือการนำวัคซีนไปทำให้อยู่ในรูปแคปซูลภายในน้ำตาลโมเลกุลใหญ่ เพื่อให้สามารถนำส่งไปยังเซลล์เป้าหมายที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งขึ้น วัคซีนนี้มีความสามารถในการป้องกันครอบคลุมเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น ชนิดเอ (Serogroup A), ชนิดซี(Serogroup C), ชนิดวาย (Serogroup Y), และชนิดดับเบิลยู-135 (Serogroup W-135), ใช้สำหรับบุคคลอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ฉีดครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร เข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneously) โดยทั่วไปสำหรับการป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น แนะนำให้ฉีดเพียงครั้งเดียว

ค. วัคซีนที่ครอบคลุมเชื้อกลุ่มบี (Serogroup B)หรือเม็นบี (MenB) หรือ เบ็กซ์ซีโร (Bexsero®): เป็นวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นที่ใช้รีคอมบีแนต์เทคโนโลยีในการผลิต (Recombinant Vaccine; การผลิตจากกระบวนการตัดต่อสารพันธุกรรมดีเอ็นเอของแบคทีเรียโรคนี้ เพื่อให้สามารถสร้างแอนติเจนออกมาได้ และนำสารที่ได้มาทำให้บริสุทธิ์) วัคซีนชนิดนี้ครอบคลุมเชื้อไนซีเรีย มีนิงไจทิดิส (Neisseria meningitidis) หรือมีนิงโกคอกคัส ชนิดบี (Serogroup B) และได้รับการขึ้นทะเบียนสำหรับใช้ในกลุ่มคนอายุ 10-25 ปี บริหารโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง (0.5 มิลลิลิตรต่อครั้ง) ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

*อนึ่ง ในการจะเลือกใช้วัคซีนนี้ชนิดใด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้สั่งการให้วัคซีน และอายุของผู้รับวัคซีน

กลุ่มบุคคลใดที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น?

กรมควบคุมโรคติดต่อ ประเทศไทย ไม่ได้แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นแก่คนไทยทุกคน เนื่องจากอัตราการเกิดการติดเชื้อโรคชนิดนี้ในประเทศไทยน้อยมาก อย่างไรก็ดี กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงที่เข้าข่าย ควรได้รับการฉีดวัคซีนนี้ ได้แก่

1. ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณที่มีการระบาดของเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น เช่น ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์และอุมเราะห์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย จะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นล่วงหน้าก่อนเข้าประเทศอย่างน้อย 10 วัน และไม่เกิน 2 ปี โดยต้องแสดงเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนดังกล่าวในการเดินทาง

2. กรณีก่อนไปศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นที่กำหนดให้ต้องฉีดวัคซีนนี้ก่อนเข้าเรียน ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกามีคำแนะนำ ให้วัคซีน MCV4 ทุกราย ในวัยรุ่นอายุ 11-18 ปี

3. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นและเป็นรุนแรง คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

4. กลุ่มบุคคลที่จะเข้าไปในบริเวณท่มีการแพร่ระบาดของเชื้อในทวีปแอฟริกา หรือแอฟริกันมีนิงไจทิสเบลต์ (African Meningitis Belt) ได้แก่ ประเทศแกมเบีย, ซีนีกัล, กีนี, มาลี, เบอร์กินาฟาโซ, การ์นา, ไนเจอร์, ไนจีเรีย, แคเมอรูน, แอฟริกากลาง, ซูดาน, ซูดานใต้, อูกันดา, เคนยา, เอธิโอเปีย, เป็นต้น

มีข้อห้ามอะไรบ้างในการใช้วัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น?

มีข้อห้าม หรือควรหลีกเลี่ยงการใช้/การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นในกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้ เช่น

  • ผู้ที่แพ้วัคซีน/แพ้ยาหรือส่วนประกอบของวัคซีนนี้/ยานี้
  • ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนในการให้วัคซีนนี้แก่หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร การให้วัคซีนนี้แก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ จึงควรอยู่ในวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษา

วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง?

วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง) เช่น มีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีด มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากการรับวัคซีนนี้ บางรายอาจพบอาการ ท้องเสีย อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน มีอาการง่วงซึม ซึ่งหากอาการดังกล่าว ไม่ทุเลาลงภายใน 2-3 วัน หรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้น ควรรีบกลับมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อนึ่ง ผู้ได้รับวัคซีนนี้ อาจมีอาการ เป็นลม หมดสติ ชั่วครู่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลังการรับวัคซีนนี้ ดังนั้น ผู้รับวัคซีนนี้ ควรนั่งหรือนอนรอ ณ สถานที่ๆรับวัคซีนนี้ประมาณ 15 นาทีภายหลังการรับวัคซีน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บจากการเป็นลม และเพื่อได้รับการรักษาได้รวดเร็ว ทันทีที่มีอาการ

นอกจากนั้น ผู้รับวัคซีนนี้ ควรเฝ้าระวังอาการแพ้ยา/แพ้วัคซีนนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ ถึงแม้จะพบเกิดขึ้นได้น้อยก็ตาม ได้แก่ มีผื่นคันขึ้นตามตัว ใบหน้า ลำคอ เนื้อตัว ใบหน้า บวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นภายใน 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง ภายหลังการรับวัคซีนนี้ หากเกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบพบแพทย์/กลับมาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

วัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นมีวิธีการเก็บรักษาอย่างไร?

โดยทั่วไป วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น ควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) โดยเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่มากับผู้ผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด/แสงสว่างส่องโดยตรง แต่อย่างไรก็ดี แต่ละสถานพยาบาล อาจมี นโยบายการเก็บรักษาวัคซีนนี้ที่แตกต่างกันออกไป จึงควรสอบถามจากฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาล ถึงวิธีการเก็บรักษาวัคซีนนี้ที่ถูกต้อง

ติดต่อขอเข้ารับวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นได้อย่างไร?

ผู้มีความประสงค์ที่จะเข้ารับวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น สามารถปรึกษาแพทย์ได้ที่คลนินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน สถาบันบำราศนราดูร หรือ ที่สถานเสาวภา

บรรณานุกรม

  1. Centers for Disease Control and Prevention. Meningococcal Vaccination http://www.cdc.gov/vaccines/vpd-vac/mening/ [2016,Oct15]
  2. Weekly epidemiological record. WHO. 2011, 86, 521–540.
  3. U.S. FDA. Prescribing Information:

    a. Menveo®

    http://www.fda.gov/downloads/BiologicsBloodVaccines/Vaccines/ApprovedProducts/UCM201349.pdf [2016,Oct15]
  4. b. Menhibrix®

    http://www.fda.gov/downloads/BiologicsBloodVaccines/Vaccines/ApprovedProducts/UCM308577.pdf [2016,Oct15]

    c. Bexsero®

    http://www.fda.gov/downloads/BiologicsBloodVaccines/Vaccines/ApprovedProducts/UCM431447.pdf [2016,Oct15]

    d. Menactra®

    http://www.fda.gov/downloads/BiologicBloodVaccines/Vaccines/ApprovedProducts/UCM131170.pdf [2016,Oct15]
  5. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และคณะ. วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น. ตำราวัคซีนและการสร้างเสิรมภูมิคุ้มกันโรค. สำหนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. 2556 หน้า 189-195.
  6. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่วนสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug [2016,Oct15]