ลูราซิโดน (Lurasidone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลูราซิโดน(Lurasidone หรือ Lurasidone hydrochloride หรือ Lurasidone HCl) เป็นยารักษาโรคจิตรุ่นที่ 2(Atypical antipsychotics) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยา Dainippon Sumitomo Pharma ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ.2010(พ.ศ. 2553) ทางคลินิก ใช้ยาลูราซิโดนบำบัดอาการทางจิตเภท(Schizophrenia) และใช้รักษาโรคอารมณ์สองขั้ว(Bipolar disorder) เริ่มในปี ค.ศ.2013(พ.ศ. 2556) การใช้ยาชนิดนี้อาจใช้เป็นลักษณะยาเดี่ยวๆหรือจะใช้ร่วมกับ ยาLithium หรือยาValproate ก็ได้

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาลูราซิโดนเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารประมาณ 9-19% จากนั้นเอนไซม์ในตับจะคอยทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาลูราซิโดนอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 18-40 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ ด้วยกลไกทางเภสัชจลนศาสตร์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ป่วยที่รับประทานยานี้วันละ1ครั้ง ก็สามารถควบคุมอาการทางจิตได้ตลอดทั้งวัน

ข้อจำกัดการใช้ยาลูราซิโดนบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาลูราซิโดน
  • เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) จึงห้ามใช้ลูราซิโดนร่วมกับยาต่างๆ ต่อไปนี้ เช่น Avasimibe, Carbamazepine, Clarithromycin, Efavirenz, Ritonavir, Phenytoin, Itraconazole, Ketoconazole, Mibefradil, Nefazodone, Nevirapine, Phenobarbital, Primidone, Rifampin, Telithromycin, และ Voriconazole
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างอาจได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)เมื่อต้องใช้ยาลูราซิโดน เช่น โรคหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ ผู้ที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอร์ไลด์ ในเลือดสูง ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคความจำเสื่อม โรคพาร์กินสัน ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนโปรแลกตินในเลือดสูง ผู้ที่มีปริมาณเลือดในร่างกายน้อย/โลหิตจาง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่มีประวัติชอบทำร้ายตนเอง

อนึ่ง การใช้ยาลูราซิโดนอย่างได้ผล ต้องอาศัยการรับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามคำสั่งแพทย์ ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหัน เพราะจะทำให้ได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ตามมา โดยระหว่างที่ได้รับยานี้ อาจเกิดอาการวิงเวียนและง่วงนอน กรณีที่มีอาการดังกล่าว ห้ามผู้ป่วยไปขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ หรือทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ยาลูราซิโดน ยังทำให้เกิดภาวะเป็นลมแดดได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน นอกจากนี้ยังอาจทำให้ภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายต่ำลง เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อของร่างกาย จึงไม่ควรนำผู้ป่วยที่รับประทานยานี้ไปอยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัด

การเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยที่รับประทานยาลูราซิโดนขณะอยู่ในที่พักอาศัย เป็นสิ่งสำคัญอีกประการ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการ วิตกกังวล กระสับกระส่าย ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หรือมีอาการอยากทำร้ายร่างกายตนเอง จะต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีเพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียงจากการใช้ยานี้ที่อาจรุนแรง และเพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยโดยเร็ว

ทั้งนี้การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดและระดับไขมันในเลือด รวมถึงการประเมินสภาพจิตใจของผู้ป่วย เป็นสิ่งที่ควรต้องพึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง

ปัจจุบันเรา อาจจะพบเห็นการใช้ยาลูราซิโดนตามสถานพยาบาลที่เปิดรักษาอาการทางจิตประสาท/อาการทางจิตเวชเท่านั้น และในตลาดยาต่างประเทศ ยาลูราซิโดนจะถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Latuda”

ลูราซิโดนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ลูราซิโดน

ยาลูราซิโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการทางจิตเภท
  • บำบัดอาการโรคอารมณ์สองขั้ว

ลูราซิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาลูราซิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า D2/Dopamine2 receptor และ 5-HT2A (5-hydroxytryptamine 2A )receptorในสมอง และก่อให้เกิดการปรับสมดุลของปริมาณสารสื่อประสาทในสมอง ให้กลับมาใกล้เคียงกับระดับปกติ จึงส่งผลให้อาการทางจิตประสาทของผู้ป่วยดีขึ้น

ลูราซิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลูราซิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Lurasidone 20, 40, 60, 80, และ 120, มิลลิกรัม/เม็ด

ลูราซิโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาลูราซิโดนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับบำบัดรักษาอาการทางจิตเภท:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยา 40 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง พร้อมอาหาร ขนาด รับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 160 มิลลิกรัม/วัน

ข. สำหรับบำบัดรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว:

  • ผู้ใหญ่ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยา 20 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง พร้อมอาหาร ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน

*อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุที่มีความจำเสื่อม อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การจะใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้หรือไม่ จึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ระหว่างที่ใช้ยาลูราซิโดน ต้องเฝ้าระวังสภาพอารมณ์ของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพฤติกรรมทำร้ายร่างกายตนเอง
  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลูราซิโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลูราซิโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลูราซิโดน สามารถให้ผู้ป่วยรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้รับประทานในขนาดปกติ

อนึ่ง การหยุดรับประทานยาลูราซิโดนทันที อาจเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆตามมา

ลูราซิโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลูราซิโดนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง หิวอาหารบ่อยหรือเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน เกิดอาการลมชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด ปากแห้ง ท้องเสีย ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นช้า/หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ วิตกกังวล ฝันร้าย อยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เลือดจาง เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดEosinophilในเลือดสูง(Eosinophilia)

มีข้อควรระวังการใช้ลูราซิโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลูราซิโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และ ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยมีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยความจำเสื่อม
  • การรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะก่อให้เกิดอาการวิงเวียนมากและทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น จึงห้ามดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลูราซิโดนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมถึงควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองทุกครั้ง

ลูราซิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลูราซิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาลูราซิโดนร่วมกับกลุ่มยา Alpha-blockers เช่น ยาDoxazosin ด้วยจะทำให้เกิดอาการความดันโลหิตต่ำตามมา
  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาลูราซิโดนร่วมกับกลุ่มยา Anticholinergics เช่น ยาScopolamine เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเป็นลมแดดได้มากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาลูราซิโดนร่วมกับยา Aprepitant, Fluconazole, Ketoconazole, Itraconazole, Voriconazole, Clarithromycin, Diltiazem, Erythromycin, Fosaprepitant, Ritonavir, Mibefradil, Nefazodone, Telithromycin, Verapamil, ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการขางเคียงจากยาลูราซิโดนมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาลูราซิโดนร่วมกับยา Avasimibe, Carbamazepine, Efavirenz, Phenytoin, Nevirapine, Phenobarbital, Primidone, Rifamycin , เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาลูราซิโดนลดน้อยลง

ควรเก็บรักษาลูราซิโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาลูราซิโดนในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ลูราซิโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลูราซิโดน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Latuda (ลาทูดา)Sunovion Pharmaceuticals Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Lurasidone[2017,Sept16]
  2. https://www.drugs.com/cdi/lurasidone.htm[2017,Sept16]
  3. https://www.drugs.com/dosage/lurasidone.html[2017,Sept16]
  4. https://www.drugbank.ca/drugs/DB08815[2017,Sept16]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/200603s000lbl.pdf[2017,Sept16]