ลูมีแฟนทรีน (Lumefantrine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ลูมีแฟนทรีน (Lumefantrine หรือ เบนฟลูมีทอล/ Benflumetol) คือ ยาต้านมาลาเรีย/ ไข้จับสั่นที่มีสาเหตุจากเชื้อสัตว์เซลล์เดียวชนิด Plasmodium falciparum (P.falciparum)  โดยใช้ร่วมกับยาต้านมาลาเรียอีกชนิดคือ ยา Artemether  และมีรูปแบบเป็นยารับประทาน โดยมีสัดส่วนตัวยาต่อเม็ด เช่น  ยาArtemether 20 มิลลิกรัม + ยา Lumefantrine 120 มิลลิกรัม

การรับประทานยาลูมีแฟนทรีน ร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้มีการดูดซึมตัวยาได้มากที่สุด,  เมื่อตัวยานี้อยู่ในกระแสเลือด จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็นสารออกฤทธิ์ที่เรียกว่า ‘สาร เดสบิวทิล-ลูมีแฟนทรีน (Desbutyl-lumefantrine)’ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 – 6 วันในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดของผู้ป่วย, การออกฤทธิ์ของตัวยานี้จะเกิดต่อวงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรียในระยะที่ฟักตัวอยู่ในเม็ดเลือดแดง (Erythrocytic stages), โดยยาลูมีแฟนทรีนจะยับยั้งการสร้างกรดนิวคลีอิก(Nucleic acid/สารเกี่ยวข้องกับสารพันธุกรรม DNA) และกับสารโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย 

ข้อจำกัดของการใช้ยาลูมีแฟนทรีนที่ผู้บริโภคควรทราบ: เช่น

  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับการติดเชื้อมาลาเรียที่มีอาการป่วยขั้นรุนแรง
  • ห้ามใช้เป็นยาป้องกันโรคมาลาเรีย

ทั้งนี้: การใช้ยาลูมีแฟนทรีน ร่วมกับยา Artemether  สามารถใช้รักษามาลาเรียได้ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก,  การใช้ยานี้ในเด็ก จะใช้น้ำหนักตัวเด็กมาประกอบในการคำนวณขนาดรับประทาน,  สำหรับการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ มีข้อมูลทางคลินิกสนับสนุนว่า ไม่ก่อให้เกิดความพิการกับทารกในครรภ์แต่อย่างใด, แต่การใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรสามารถส่งผลต่อทารกที่ดื่มน้ำนมมารดาได้ ด้วยยาลูมีแฟนทรีนสามารถถูกขับออกมากับน้ำนมของมารดา,  อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มใดก็ตามจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ลูมีแฟนทรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ลูมีแฟนทรีน

 

ยาลูมีแฟนทรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดรักษาอาการป่วยจากโรคไข้จับสั่น ที่มีการติดเชื้อเฉียบพลัน และมีอาการไม่รุนแรง

ลูมีแฟนทรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาลูมีแฟนทรีน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อเชื้อมาลาเรียในระยะที่เชื้อฟักตัวอยู่ในเม็ดเลือดแดง โดยจะเข้ารบกวนการสร้างสารเชิงซ้อนที่มีชื่อเรียกว่า Beta-hematin (สารช่วยการดำรงชีวิตของเชื้อมาลาเรีย), รวมถึงยับยั้งการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก (Neucleic acid), และสารโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย, ส่งผลให้เชื้อมาลาเรียหยุดการเจริญเติบโต  ไม่สามารถขยายพันธุ์ และตายลงในที่สุด

ลูมีแฟนทรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลูมีแฟนทรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีตัวยาประกอบกัน เช่น                                                                                                                       

  • Artemether 20 มิลลิกรัม +Lumefantrine 120 มิลลิกรัม /เม็ด
  • Artemether 80 มิลลิกรัม +Lumefantrine 480 มิลลิกรัม /เม็ด

ลูมีแฟนทรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ในขนาดความแรงของยา Artemether 20 มิลลิกรัม+Lumefantrine 120 มิลลิกรัม /เม็ด, ยานี้มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ขนาดรับประทานของผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป: เช่น ให้รับประทานยาเป็นเวลา 3 วัน ดังนี้

  • วันแรก: เริ่มรับประทานยาพร้อมอาหาร 4 เม็ด, ครั้งเดียว, จากนั้นอีก 8 ชั่วโมงถัดมาให้รับประทานอีก 4 เม็ด
  • วันที่ 2, และวันที่ 3: รับประทานยาครั้งละ 4 เม็ด, เช้า – เย็น
  • สรุป: *ผู้ป่วยต้องรับประทานยา 24 เม็ด, ในเวลา 3 วัน

*กรณีที่ผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 35 กิโลกรัม: ให้ใช้ขนาดรับประทานตามเกณฑ์น้ำหนักตัวของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ที่รวมถึงเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ดังจะกล่าวต่อไป

ข. ขนาดรับประทานของผู้ที่อายุต่ำกว่า 16ปี ที่รวมถึงเด็ก: เช่น

  • น้ำหนักตัว 5 – 15 กิโลกรัม:
    • วันแรก รับประทาน 1 เม็ด, หลังอาหาร, อีก 8 ชั่วโมงต่อมารับประทานอีก 1 เม็ด,
    • วันที่2, และวันที่3, รับประทานครั้งละ 1 เม็ด, เช้า – เย็น,
    • *สรุป: รับประทานยาทั้งหมด 6 เม็ด, ในเวลา 3 วัน
  • น้ำหนักตัวมากกว่า 15 – 25 กิโลกรัม:
    • วันแรก รับประทาน 2 เม็ดหลังอาหาร, อีก 8 ชั่วโมง, รับประทานอีก 2 เม็ด
    • วันที่ 2 และวันที่ 3, รับประทานครั้งละ 2 เม็ด, เช้า – เย็น
    • *สรุป:รับประทานยาทั้งหมด 12 เม็ด, ในเวลา 3 วัน
  • น้ำหนักตัวมากกว่า 25 – 35 กิโลกรัม:
    • วันแรก รับประทาน 3 เม็ดหลังอาหาร, อีก 8 ชั่วโมง รับประทานอีก 3 เม็ด
    • วันที่ 2 และวันที่ 3, รับประทานครั้งละ 3 เม็ด, เช้า – เย็น
    • *สรุป: รับประทานยาทั้งหมด 18 เม็ด, ในเวลา 3 วัน
  • น้ำหนักตัวมากกว่า 35 กิโลกรัม:
    • วันแรก เริ่มรับประทานยาพร้อมอาหาร 4 เม็ด ครั้งเดียว,จากนั้นอีก 8 ชั่วโมงถัดมาให้รับประทานอีก 4 เม็ด
    • วันที่ 2 และวันที่ 3, รับประทานยาครั้งละ 4 เม็ด, เช้า – เย็น   
    • *สรุป รุปรับประทานยา 24 เม็ด, ในเวลา 3 วัน

*อนึ่ง: กรณีผู้ติดเชื้อมาลาเรียที่มีอาการของ โรคตับ  โรคไต ในระดับกลางลงมา ไม่ต้องปรับขนาดรับประทานแต่อย่างใด, แต่ถ้ามี โรคตับ โรคไต ระดับรุนแรง การใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม  ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาลูมีแฟนทรีน  ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น  หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลูมีแฟนทรีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                                      
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ใน ภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้       

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลูมีแฟนทรีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาลูมีแฟนทรีน ตรงเวลา

ลูมีแฟนทรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลูมีแฟนทรีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: อาจทำให้ ปวดหัว  วิงเวียน  เกิดเสียงในหู/หูอื้อ  กล้ามเนื้อแขน-ขาทำงานไม่ประสานกันและเกิดภาวะเดินเซตามมา,  อาจเกิดอาการกระตุกและสั่นของกล้ามเนื้อ/กล้ามเนื้อกระตุก, ความไวต่อการสัมผัสน้อยลง, และหนังตากระตุก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: อาจเกิดอาการ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก  ท้องอืด  มีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เกิดภาวะใจสั่น ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อระบบเลือด: อาจเกิดอาการม้ามโตด้วยมีเลือดคั่งในม้าม มีภาวะโลหิตจาง มีเม็ดเลือดขาวมาก เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: อาจปวดกล้ามเนื้อ  ปวดข้อ
  • ผลต่อระบบการหายใจ: อาจมีอาการ ไอ หอบหืด ปวด/เจ็บบริเวณคอหอยและกล่องเสียง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: ในการตรวจปัสสาวะ อาจพบสารโปรตีน และเลือดปนมากับปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: อาจเกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อภาวะจิตใจ: อาจมีอาการนอนไม่หลับ อาจมีอารมณ์แปรปรวน 
  • ผลต่อผิวหนัง: อาจมี ผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: อาจมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลงและเกิดการติดเชื้อของอวัยวะต่างๆได้ง่าย เช่น หู หลอดลม กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบทางเดินปัสสาวะ  รวมถึงเกิดการติดเชื้อพยาธิต่างๆ

มีข้อควรระวังการใช้ลูมีแฟนทรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลูมีแฟนทรีน: เช่น              

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)  และผู้สูงอายุ  โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์     
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ในระยะรุนแรง
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการแพ้ยานี้ และรีบนำตัวผู้ป่วยพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • อาการข้างเคียงของยานี้ที่ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือที่ไม่รุนแรง หลายข้อ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นรักษา อาการเหล่านั้นจะทุเลาลง และหายได้เองหลังจากหยุดรับประทานยานี้  *แต่หากมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง หรือที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด หรือ ฉุกเฉิน/ทันทีขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
  • *หากได้รับยานี้ครบคอร์สตามกำหนด/ตามแพทย์สั่ง แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือกลับทรุดหนักลง *ให้รีบนำตัวผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ก่อนวันนัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลูมีแฟนทรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติ ตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com   บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ลูมีแฟนทรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลูมีแฟนทรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาลูมีแฟนทรีน ร่วมกับยา Rifampin, Carbamazepine, Phenytoin, สามารถทำให้ระดับยาลูมีแฟนทรีนในเลือดลดต่ำลง จนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการต่อต้านมาลาเรีย,  เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะดังกล่าว จึงไม่สมควรใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • การใช้ยาลูมีแฟนทรีน ร่วมกับยา Apomorphine (ยาโรคพาร์กินสัน), Promethazine,  Azithromycin,  Hydroxyzine,  อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลูมีแฟนทรีน ร่วมกับน้ำผลไม้ เช่น  Grapefruit juice ด้วยจะทำให้ระดับยาลูมีแฟนทรีนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น ร่างกายต้องใช้เวลายาวนานกว่าเดิมเพื่อกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย, จึงอาจส่งผลให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา

ควรเก็บรักษาลูมีแฟนทรีนอย่างไร?

ควรเก็บยาลูมีแฟนทรีน:เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ลูมีแฟนทรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลูมีแฟนทรีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
AARNET PLUS (อาร์เนท พลัส) Alpha Aromatic 
ABHA-LM (แอบฮาม) Cure Quick
ADITHER PLUS (แอดิเทอร์ พลัส) Adley
AIGHT-L PLUS (เอช-แอล พลัส) Acinom Healthcare
ALITHER (อะลิเทอร์) Allenge
ANTHER (แอนเทอร์) Cosmas
Coartem (คอร์เทม) Novartis
FALCID-L (ฟาลซิด-แอล) Impact

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/artemisinin-resistance   [2022,Oct15]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Lumefantrine  [2022,Oct15]
  3. https://www.drugs.com/dosage/artemether-lumefantrine.html  [2022,Oct15]
  4. https://go.drugbank.com/drugs/DB06708  [2022,Oct15]
  5. https://www.drugs.com/monograph/artemether-and-lumefantrine.html  [2022,Oct15]
  6. https://www.novartis.us/sites/www.novartis.us/files/coartem.pdf  [2022,Oct15]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/artemether-lumefantrine-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Oct15]