ลีโวมิลนาซิแพรน (Levomilnacipran)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 เมษายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ลีโวมิลนาซิแพรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ลีโวมิลนาซิแพรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลีโวมิลนาซิแพรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลีโวมิลนาซิแพรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ลีโวมิลนาซิแพรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลีโวมิลนาซิแพรนอย่างไร?
- ลีโวมิลนาซิแพรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลีโวมิลนาซิแพรนอย่างไร?
- ลีโวมิลนาซิแพรนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- ทุกหัวข้อ
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- เลือดออกใต้เยื่อตา (Subconjunctival hemorrhage)
- โรคไต (Kidney disease)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ครีอะตินีน (Creatinine) และ ครีอะตินีนเคลียรานซ์ (Creatinine clearance)
บทนำ
ยาลีโวมิลนาซิแพรน(Levomilnacipran)เป็นยาในกลุ่มซีโรโทนิน-นอร์อิพิเนฟริน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์/เอสเอนอาร์ไอ(Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor /SNRI) ใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า (Depression) ตัวยาทำหน้าที่ยับยั้งการดูดกลับของ สารสื่อประสาท 2 ชนิด คือ Serotonin และ Norepinephrine ในอัตราส่วน 1:2
ทางคลินิกพบว่าการเพิ่มขึ้นของสารสื่อประสาททั้ง 2 ชนิดในอัตราส่วนดังกล่าวสามารถทำให้ผู้ป่วยด้วยอาการซึมเศร้ามีสภาพทางจิตดีขึ้น แต่ผลข้างเคียงจากสารสื่อประสาทนั้นก็เพิ่มตามมาเช่นกัน
ยาลีโวมิลนาซิแพรนถูกพัฒนาโดย Forest Laboratories และ Pierre Fabre group ตัวยาได้รับการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศและนำมาใช้เมื่อปี ค.ศ.2013 (พ.ศ.2556) รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทานและเหมาะที่จะใช้กับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 24 ปีขึ้นไป
ตัวยาลีโวมิลนาซิแพรนจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 92% ตับเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลประมาณา 12 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดตัวยานี้ออกไปกับปัสสาวะ
ไม่ควรใช้ยาลีโวมิลนาซิแพรนนี้กับผู้ป่วยที่มีอายุในกลุ่มวัยรุ่นตลอดจนกระทั่งกับเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ด้วยยานี้อาจทำให้เกิดภาวะทางจิตที่อยากทำร้ายตัวเองหรืออยากฆ่าตัวตายตามมา
ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาลีโวมิลนาซิแพรน แพทย์จะแนะนำให้ญาติหรือผู้ดูแลเฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาการซึมเศร้าและพฤติกรรมมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปทิศทางใด อาทิ มีความวิตกกังวล เกิดความก้าวร้าว รู้สึกอยากฆ่าตัวตายหรือไม่ เพื่อที่แพทย์จะได้นำข้อมูลดังกล่าวมาปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
ข้อควรระวังที่สำคัญคือ ห้ามใช้ยาลีโวมิลนาซิแพรนร่วมกับยากลุ่ม เอมเอโอไอ (MAOIs) ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) ตามมา นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงต่างๆที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เช่น ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง, หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ, เกิดภาวะเลือดออกง่าย, อาการต้อหิน, ปัสสาวะไม่ออก, และอื่นๆอีกมากมาย
ดังนั้นการใช้ยาลีโวมิลนาซิแพรนจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและการดูแลของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว ประเทศไทยจะไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยานี้สักเท่าใดนัก แต่ในต่างประเทศมีการวางจำหน่ายยาลีโวมิลนาซิแพรนภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Fetzima’
ลีโวมิลนาซิแพรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาลีโวมิลนาซิแพรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder
ลีโวมิลนาซิแพรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาลีโวมิลนาซิแพรน จะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดของสารสื่อประสาท 2 ตัวคือ Serotonin และ Norepinephrine กลับเข้าสู่เซลล์ประสาท ทำให้ระดับสารสื่อประสาทดังกล่าวมีปริมาณเพียงพอต่อกระบวนการทางชีวเคมีของสมอง การปรับสมดุลเคมีดังกล่าวส่งผลให้การควบคุมกระบวนการทางความคิด เช่น อารมณ์ ความรู้สึก การตอบสนองต่อสิ่งเร้าความสามารถในการจดจำ เป็นไปอย่างปกติจนทำให้ภาวะ/โรคซึมเศร้าดีขึ้นตามลำดับ
ลีโวมิลนาซิแพรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลีโวมิลนาซิแพรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Levomilnacipran ขนาด 20 และ 40 มิลลิกรัม/แคปซูล
ลีโวมิลนาซิแพรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาลีโวมิลนาซิแพรนมีขนาดรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่ที่มีอายุเกิน 24 ปีขึ้นไป: ใน 2 วัน แรกรับประทานยา 20 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง จากนั้นแพทย์อาจปรับการรับประทานเป็น 40 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
- ผู้มีอายุตั้งแต่ 24 ปีลงมารวมถึงเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดด้านขนาดยาและความปลอดภัยในการใช้ยานี้
*อนึ่ง:
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ
- ขนาดรับประทานยานี้สูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ป่วย แพทย์จะปรับขนาดรับประทานตามค่า Creatinine clearance/CrCl (ครีอะตินีน ครีอะตินีนเคลียรานซ์) ดังนี้เช่น:
- CrCl = 60–89 มิลลิลิตร/นาที ไม่ต้องปรับขนาดรับประทาน
- CrCl = 30–59 มิลลิลิตร/นาที รับประทานได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
- CrCl = 15–29 มิลลิลิตร/นาที รับประทานได้ไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายห้ามใช้ยานี้
- ประสิทธิผลในการรักษาอาการซึมเศร้าของยานี้จะแสดงออกอย่างชัดเจน เมื่อรับประทานยาไปแล้วประมาณ 5 สัปดาห์
- หากผู้ป่วยมีการใช้ยากลุ่ม MAOIs ก่อนรับประทานยาลีโวมิลนาซิแพรน ต้องหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOIs เป็นเวลา 2 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาลีโวมิลนาซิแพรน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลีโวมิลนาซิแพรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาลีโวมิลนาซิแพรน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาลีโวมิลนาซิแพรนที่ขนาดปกติเท่านั้น
ลีโวมิลนาซิแพรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลีโวมิลนาซิแพรน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด:เช่น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำหรือ ความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ชัก ปวดศีรษะไมเกรน มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน วิงเวียน หมดสติ เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์ : เช่น ความรู้สึกทางเพศถดถอย ปวดอัณฑะ ปัสสาวะขัด
- ผลต่อระบบเลือด :เช่น มีภาวะเลือดออกง่าย
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้-อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเฟ้อ เบื่ออาหาร
- ผลต่อสภาพทางจิตใจ:เช่น มีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง เกิดภาวะเครียด อาจมีอาการก้าวร้าว
- ผลต่อตา:เช่น มีภาวะต้อหิน ตาพร่า ตาแห้ง เลือดออกใต้เยื่อตา
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ:เช่น มีอาการหาวบ่อยครั้ง
- ผลต่อผิวหนัง:เช่น มีภาวะเหงื่อออกมาก เกิดอาการผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้ลีโวมิลนาซิแพรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลีโวมิลนาซิแพรน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และ ผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามไปซื้อหายานี้มาใช้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ปัญหาความดันโลหิตสูง ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือด โรคต้อหิน หรือเป็นผู้ที่ใช้ยากลุ่ม MAOIs อยู่ก่อน
- กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หากใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบ แพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ถึงประวัติโรคประจำตัว, มียาชนิดใดที่ใช้อยู่บ้างโดยละเอียดก่อนที่จะเข้ารับการรักษาทุกครั้ง
- ศึกษาเรื่องขนาดการรับประทาน ผลข้างเคียง ข้อห้าม ข้อควรระวัง ของการใช้ยานี้ ด้วยความเข้าใจ
- ระหว่างรับประทานยานี้ในระยะ 1 เดือนแรก ต้องเฝ้าดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพอารมณ์และความรู้สึก
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์ /มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลีโวมิลนาซิแพรนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ลีโวมิลนาซิแพรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลีโวมิลนาซิแพรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาลีโวมิลนาซิแพรน ร่วมกับ ยากลุ่ม เอนเสด (NSAIDs), Aspirin และ Warfarin ด้วยจะส่งผลทำให้มีภาวะเลือดออกง่าย ตลอดจนทำให้ระดับสาร Serotonin ในสมองผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาลีโวมิลนาซิแพรน ร่วมกับยา Ketoconazole และ Ritonavir ด้วยจะทำให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาลีโวมิลนาซิแพรนมากขึ้น อาทิ คลื่นไส้- อาเจียน ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น และความดันโลหิตสูง
- ห้ามรับประทานยาลีโวมิลนาซิแพรน ร่วมกับยา Amitriptyline และ Sumatriptan ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน โดยจะมีอาการ เช่น รู้สึกสับสน ชัก ประสาทหลอน ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เหงื่อออกมาก ตาพร่า กล้ามเนื้อเกร็งตัว เป็นตะคริวที่หน้าท้อง คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสีย
- ห้ามรับประทานยาลีโวมิลนาซิแพรน ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วน ประกอบด้วยจะก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสติ และไม่สามารถควบคุม ความคิดอ่านได้อย่างปกติ
ควรเก็บรักษาลีโวมิลนาซิแพรนอย่างไร?
สามารถเก็บยาลีโวมิลนาซิแพรน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงบนพื้นดินและแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
ลีโวมิลนาซิแพรนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลีโวมิลนาซิแพรน มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
FETZIMA (เฟทซิมา) | Allergan |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/204168s004lbl.pdf[2020,April4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Levomilnacipran [2020,April4]
- https://www.drugs.com/mtm/levomilnacipran.html [2020,April4]