ลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ลีโวฟลอกซาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ลีโวฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลีโวฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลีโวฟลอกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ลีโวฟลอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลีโวฟลอกซาซินอย่างไร?
- ลีโวฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลีโวฟลอกซาซินอย่างไร?
- ลีโวฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones)
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) คือ ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะประเภทยาฟลูออโร ควิโนโลน ยานี้ออกฤทธิ์ได้กว้าง (Broad spectrum) ต่อแบคทีเรียหลายชนิดทั้งชนิดแกรมลบและแกรมบวก อาทิ Escherichia coli, Haemophilus influenzae, Klebsiella pneumoniae, Legionella pneumophila, Moraxella catarrhalis, Proteus mirabilis, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus ureus, Streptococcus pneumoniae, Staphylococcus epidermidis, Entero coccus faecalis, Streptococcus pyogenes, Chlamydophila pneumoniae, Mycoplasma pneumoniae
ตัวยาลีโวฟลอกซาซิน ยังสามารถแทรกซึมเข้าไปตามเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายได้เป็นอย่างดี ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ใช้ยาชนิดนี้สำหรับรักษาอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ), ผิวหนังติดเชื้อ, โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ, ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, เยื่อหุ้มหัวใจ (เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ), การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, อาการท้องเสียระหว่างการเดินทาง (อาหารเป็นพิษ), รวมถึงวัณโรค
จากการศึกษาถึงการกระจายตัวของยานี้ในร่างกายมนุษย์พบว่า ตัวยาลีโวฟลอกซาซิน สามารถถูกดูดซึมได้รวดเร็วจากระบบทางเดินอาหารถึงประมาณ 99% เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 24 - 38% ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 - 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อขจัดยานี้ประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาลีโวฟลอกซาซินเป็นยาอันตราย และยานี้มีลักษณะของยาแผนปัจจุบันเป็นชนิด รับประทาน ชนิดฉีด และยาหยอดตา
สามารถใช้ยาลีโวฟลอกซาซินเป็นยาเดี่ยวในการรักษาโรค หรือใช้ร่วมกับยาต่อต้าน แบคทีเรียชนิดอื่นก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและข้อห้ามของการใช้ยานี้อยู่หลายกรณี การใช้ยาลีโวฟลอกซาซินได้อย่างปลอดภัยนั้น ผู้ป่วยจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองอาการจากแพทย์เสียก่อน
เราจะพบเห็นการใช้ยาลีโวฟลอกซาซินได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและของเอกชน และสามารถซื้อหายานี้ตามร้านขายยาขนาดใหญ่ได้ทั่วไป
ลีโวฟลอกซาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาลีโวฟลอกซาซินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาไซนัสอักเสบ, หลอดลมอักเสบเรื้อรัง, รวมถึงปอดบวม
- รักษาโรคผิวหนังติดเชื้อ
- รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, กรวยไตอักเสบ, และต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ
ลีโวฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธ์ของยาลีโวฟลอกซาซินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ เอนไซม์ในแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Topoisomerase IV และ DNA gyrase ส่งผลให้การจำลอง/การสร้างสารพันธุกรรม (DNA) หยุดชะงัก และกระทบต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ทำให้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้จนกระทั่งตายลงในที่สุด
ลีโวฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลีโวฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ขนาด 250 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 750 มิลลิกรัม/150 มิลลิลิตร
- ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.5%
ลีโวฟลอกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาลีโวฟลอกซาซินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับไซนัสอักเสบ: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 500 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง เป็นเวลา 10 - 14 วัน หรือรับประทาน 750 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน
ข. สำหรับหลอดลมอักเสบเรื้อรัง: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 500 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
ค. สำหรับปอดบวม: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 500 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งเป็นเวลา 7 - 14 วัน หรือรับประทาน 750 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งเป็นเวลา 5 วัน
ง. สำหรับการติดเชื้อทางผิวหนังที่ความซับซ้อนหรือรุนแรง: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 750 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง เป็นเวลา 7 - 14 วัน
จ. สำหรับโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 250 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน หากมีการติดเชื้อที่ซับซ้อนรุนแรงอาจต้องรับประทานยานานถึง 10 วันโดยต่อเนื่อง
ฉ. สำหรับกรวยไตอักเสบ: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 250 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งเป็นเวลา 10 วัน
ช. สำหรับต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 500 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 28 วัน
*อนึ่ง
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ พร้อมกับดื่มน้ำตามเป็นปริมาณที่มากเพียงพอ
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาลีโวฟลอกซาซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลีโวฟลอกซาซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาลีโวฟลอกซาซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ลีโวฟลอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลีโวฟลอกซาซินอาจก่อให้เกิดผล /อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
- คลื่นไส้
- ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก
- ปวดหัว
- นอนไม่หลับ
- ผู้ป่วยบางรายอาจแพ้ยานี้
- ผิวแพ้แสงแดดง่าย
- อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เส้นเอ็นปริแตก (เอ็นบาดเจ็บ)
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบอาการ ลมชัก, รู้สึกสับสน, ไม่สบายในกระเพาะอา หาร – ลำไส้, หากพบอาการดังกล่าวให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งการรักษาเบื้องต้น แพทย์อาจใช้วิธีล้างท้องและควบคุมมิให้ร่างกายผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำ หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจต้องใช้วิธีการฟอกเลือด (การล้างไต)
มีข้อควรระวังการใช้ลีโวฟลอกซาซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ลีโวฟลอกซาซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยากลุ่ม Quinolones
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเกี่ยวกับโรคตับ ผู้ที่เป็นโรคลมชัก ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บของเส้นเอ็นเนื่องจากการใช้ยากลุ่ม Quinolone
- ระหว่างการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงเพราะอาจเกิดภาวะผิวแพ้แสงแดด
- ควรได้รับการตรวจเลือดดูการทำงานของ ไต ตับ ระบบเลือด ระหว่างการใช้ยานี้
- หากใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติอยู่เสมอ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลีโวฟลอกซาซิน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ลีโวฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลีโวฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลีโวฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยาลดกรดกลุ่มที่มีแมกนีเซียมและอะ ลูมิเนียม (Aluminium) เป็นส่วนประกอบ เช่นยา Magnesium trisilicate, Aluminium hydro xide ด้วยจะส่งผลต่อการดูดซึมของยาลีโวฟลอกซาซินและทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาลีโวฟลอกซาซินก่อนยาลดกรดประมาณ 2 -4 ชั่วโมง หรือประมาณ 4 - 6 ชั่วโมงหลังจากการรับประทานยาลดกรด
- การใช้ยาลีโวฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่นยา Hydrocortisone Prednisone, Triamcinolone อาจทำให้เกิดภาวะเส้นเอ็นอักเสบจนถึงขั้นปริแตก โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาลีโวฟลอกซาซิน ร่วมกับยา Tramadol ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นลมชักมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา Procainamide ร่วมกับยาลีโวฟลอกซาซิน ด้วยจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการวิงเวียนและเป็นลมติดตามมา
ควรเก็บรักษาลีโวฟลอกซาซินอย่างไร
ควรเก็บยาลีโวฟลอกซาซิน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ลีโวฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลีโวฟลอกซาซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ตัวแทนจำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต/จำหน่าย |
---|---|
Cravit (คราวิท) | Daiichi Sankyo |
Cravit IV (คราวิท ไอวี) | Daiichi Sankyo |
Cravit Ophthalmic (คราวิท ออฟทาลมิก) | Santen |
Lefloxin (ลีฟลอกซิน) | Siam Bheasach |
Levocin (ลีโวซิน) | L. B. S. |
Levoflox GPO (ลีโวฟลอก จีพีโอ) | GPO |
Levofloxacin-Teva (ลีโวฟลอกซาซิน-ทีวา) | Teva |
Levores (ลีโวเรส) | Novell Pharma |
Levox (ลีวอกซ์) | Claris Lifesciences |
Loxof (ลอกซอฟ) | Daiichi Sankyo |
Nirliv (เนอร์ลิฟ) | Nirma |
Olfovel (โอลโฟเวล) | T.O. Chemicals |
Veflox (เวฟลอก) | Community Pharm PCL |
Xalecin (ซาเลซิน) | MacroPhar |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Levofloxacin[2021,Oct23]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/levofloxacin?mtype=generic [2021,Oct23]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=levofloxacin [2021,Oct23]
- https://www.drugs.com/mtm/levofloxacin.html [2021,Oct23]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/aluminum-hydroxide-magnesium-hydroxide-simethicone-with-levofloxacin-145-0-1457-0.html [2021,Oct23]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/cravit?type=full [2021,Oct23]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/cravit%20ophthalmic%20solution-cravit%201-5percent%20ophthalmic%20solution?type=full [2021,Oct23]