ลีโวบูโนลอล (Levobunolol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 มกราคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ลีโวบูโนลอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ลีโวบูโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลีโวบูโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลีโวบูโนลอลมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
- ลีโวบูโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลีโวบูโนลอลอย่างไร?
- ลีโวบูโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลีโวบูโนลอลอย่างไร?
- ลีโวบูโนลอลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- ความดันตาสูง(Ocular hypertension)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- โรคเรเนาด์ (Raynaud disease) หรือ ปรากฏการณ์เรเนาด์ (Raynaud phenomenon)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ
ยาลีโวบูโนลอล(Levobunolol) เป็นยาในกลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์ (Beta-blocker) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาหยอดตาเพื่อบำบัดอาการโรคต้อหิน (Glaucoma) และอาการความดันในลูกตาสูง/ความดันตาสูง(Ocular hypertension) โดยตัวยาจะมีกลไกลดการผลิตของเหลวในลูกตา
ถึงแม้ยาลีโวบูโนลอลจะเป็นยาใช้ภายนอกก็จริง แต่ยาลีโวบูโนลอลก็มีข้อจำกัดการใช้เหมือนกับยาอื่นทั่วไป เช่น
- ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาลีโวบูโนลอล
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคหัวใจล้มเหลว ผู้ที่มีภาวะการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (Complete or second-degree heart block) ภาวะช็อกของหัวใจ (Heart shock) หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้ากว่า 45 ครั้ง/นาทีหลังจากมีภาวะหัวใจวาย
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืด จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา ลีโวบูโนลอล
- สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดา ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาลีโวบูโนลอล
- มียาต่างๆหลายรายการเมื่อใช้ร่วมกับยาลีโวบูโนลอล อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียง หรือทำให้เกิดอาการข้างเคียงด้วยเกิดจากภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ได้ จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาชนิดใดอยู่ก่อน โดยเฉพาะรายการยาดังต่อไปนี้ เช่น Beta-blockers, Bupivacaine, Calcium channel blockers, Reserpine, Digoxin, Disopyramide, Flecainide, Insulin, Ketanserin, Phenothiazines, Quinazolines, Verapamil, และ Clonidine
ยังมีหลักการง่ายๆของการใช้ยาหยอดตารวมถึงยาลีโวบูโนลอล ที่ผู้บริโภคควรเรียนรู้และนำมาปฏิบัติด้วยจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาของตัวผู้ป่วยเอง อาทิเช่น
- ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ขณะที่ต้องหยอดตาด้วยยาลีโวบูโนลอล แพทย์จะให้คำปรึกษาได้เป็นอย่างดีว่า หลังการหยอดตาแล้วสามารถใส่คอนแทคเลนส์ได้เมื่อใด
- ล้างมือก่อนทำการหยอดตาทุกครั้ง หยอดยาลงบริเวณด้านในของเปลือกตา/หนังตาแล้วหลับตา ใช้นิ้วคลึงบริเวณหัวตาอย่างแผ่วเบาเพื่อให้ตัวยากระจายได้ทั่ว ตา หลับตาประมาณ 1 – 2 นาที หลีกเลี่ยงการกระพริบตาถี่ๆ
- เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อโรคลงในตัวยา ห้ามมิให้ปลายหลอดหยดยา สัมผัสกับ เปลือกตา นิ้วมือ หรืออวัยวะอื่นใดของร่างกาย และปิดขวดอย่างมิดชิด หลังการหยอดตาเสร็จทันที
- ควรใช้ยาลีโวบูโนลอลต่อเนื่องจนอาการดีขึ้น หลีกเลี่ยงการลืมหยอดตา
อนึ่ง สำหรับข้อมูลด้านความปลอดภัยของการใช้ยาลีโวบูโนลอล ที่ควรทราบและนำไปปฏิบัติ มีดังนี้ เช่น
- หากพบว่ามีอาการ ตาพร่า ง่วงนอน เวียนศีรษะ หลังหยอดตาด้วยยาลีโวบูโนลอล ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิด และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ทุกครั้งที่ต้องพบ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ควรต้องแจ้งให้ทราบว่าขณะนี้ตนเองอยู่ในช่วงที่ใช้ยาหยอดตาลีโวบูโนลอล
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับยาลีโวบูโนลอล อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่าย สังเกตจากมีอาการ หัวใจเต้นเร็ว เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรับขนาดรับประทานของยาโรคเบาหวานด้วย
- ในส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาลีโวบูโนลอลบางสูตรตำรับ อาจมีองค์ประกอบทางเคมีของสารซัลไฟต์ (Sulfites) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นอาการแพ้ต่างๆ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางประเภท เช่น โรคหืด
- ระหว่างการใช้ยาหยอดตาลีโวบูโนลอล ผู้ป่วยควรได้รับการวัดความดันตา เป็นระยะๆตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
สำหรับผลข้างเคียงที่พบเห็นบ่อยสำหรับผู้ที่ใช้ยาหยอดตาลีโวบูโนลอล ได้แก่ มีอาการ ตาพร่า น้ำตามาก รู้สึกปวดบริเวณคิ้วหรือหน้าผาก และตาแพ้แสงได้ง่าย
กรณีที่ผู้ป่วยหยอดยาลีโวบูโนลอล เกินขนาด จะทำให้เกิดอาการ วิงเวียน หัวใจเต้นช้าตามมา หากพบอาการดังกล่าว ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว รีบด่วน
อนึ่ง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาลีโวบูโนลอลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากจักษุแพทย์หรือเภสัชกรได้โดยทั่วไป
ลีโวบูโนลอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ลีโวบูโนลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาโรคต้อหิน (Open-angle glaucoma)
- ใช้ลดความดันที่เกิดภายในลูกตา/ความดันตาสูง (Ocular hypertension)
ลีโวบูโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาลีโวบูโนลอล เป็นยาประเภทเบต้า-บล็อกเกอร์ (Beta-blocker) ตัวยาจะออกฤทธิ์ลดการผลิตของเหลวภายในลูกตา ส่งผลให้แรงดันภายในลูกตา/ความดันตาลดลง ด้วยกลไกนี้เอง ที่ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ลีโวบูโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลีโวบูโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.25 และ 0.50%
ลีโวบูโนลอลมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
ยาลีโวบูโนลอลมีขนาดการใช้ เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: หยอดตาด้วยยานี้ที่มีความเข้มข้น 0.25%, 1 – 2 หยด วันละ 2 ครั้ง หรือหยอดตาด้วยยาที่มีความเข้มข้น 0.5% 1 – 2 หยด วันละ 1 ครั้ง
- เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้อยู่ในวัยนี้ การใช้ยานี้ในผู้อยู่ในวัยดังกล่าว จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- กรณีที่พบว่าอาการต้อหินมีความรุนแรงมาก แพทย์สามารถปรับขนาดหยอดยาขนาดความเข้มข้น 0.5% ได้ถึง 2 ครั้ง/วัน
- หยอดตาด้วยยานี้ต่อเนื่องจนกระทั่งอาการดีขึ้นตามคำสั่งแพทย์ และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งว่าสมควรหยุดการใช้ยานี้ หรือต้องใช้ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง
- ยานี้ออกฤทธิ์ได้นานถึง 24 ชั่วโมง การใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์ (1 – 2 ครั้ง/วัน) สามารถบรรเทาอาการของต้อหินหรือภาวะความดันในลูกตาสูงได้เป็นอย่างดี
- หากพบว่าในขวดยานี้มีสิ่งปนเปื้อนหรือมีสิ่งสกปรกเจือปน ให้ทิ้งทำลายยาขวดนั้นและขอแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาขวดใหม่แทน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลีโวบูโนลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคความดันโลหิตต่ำ โรคปอด โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลีโวบูโนลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมหยอดตาด้วยยา ลีโวบูโนลอล สามารถหยอดตาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการหยอดยาเป็น 2 เท่า
ลีโวบูโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลีโวบูโนลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อตา: เช่น ปวดตา รู้สึกระคายเคืองตา เยื่อตาอักเสบ ตาแดงด้วยมีอาการเลือดคั่งในตา ลดการตอบสนองของกระจกตา/กระจกตาลดความรู้สึก ตาพร่า เปลือกตาบวม ตาแห้ง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น อาจมีภาวะหอบหืดเกิดขึ้น ระคายคอ แน่น/คัดจมูก หลอดลมหดเกร็ง/หายใจลำบาก ไอ ภาวะหายใจล้มเหลว
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อาจเกิดภาวะมือ – เท้าเย็น/ Raynaud’s phenomenon หัวใจเต้นช้า หัวใจหยุดเต้น ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว เจ็บหน้าอก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น รู้สึกสับสน วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ ความจำแย่ลง สมองขาดเลือด รู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนแรง ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง ปากแห้ง อาหารไม่ย่อย และอาเจียน
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น สมรรถภาพทางเพศน้อยลง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ฝันร้าย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบภาวะ Steven-Johnson syndrome เกิดลมพิษ ผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน เปลือกตาร้อนแดง ขนร่วง
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลน้ำตาลในเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ลีโวบูโนลอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลีโวบูโนลอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า18 ปีลงมา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า(Sinus bradycardia) ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ที่มีภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพของยาเปลี่ยนไปจากเดิม หรือในขวดยามีสิ่งแปลกปลอมเจือปนลงไป
- ห้ามใช้เป็นยารับประทานหรือนำไปหยอดหู
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่างๆ หรือผู้ป่วยด้วยโรคหืด การใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรต้องปรึกษาแพทย์/จักษุแพทย์ทุกครั้ง
- เพิ่มความระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้เคยมีประวัติหลอดลมเกร็งตัว/หายใจลำบาก ผู้ป่วยด้วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- มาพบจักษุแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อแพทย์วัดความดันตา และประเมินผลการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลีโวบูโนลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ลีโวบูโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลีโวบูโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาลีโวบูโนลอลร่วมกับยา Reserpine ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะ ความดันโลหิตต่ำ หรือหัวใจเต้นช้าตามมา
- การใช้ยาลีโวบูโนลอลร่วมกับยา Aminophylline อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาลีโวบูโนลอลด้อยลง และกลับทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Aminophylline มากยิ่งขึ้น โดยสังเกตได้จากอาการ คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาลีโวบูโนลอลร่วมกับยา Methyldopa อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาลีโวบูโนลอลร่วมกับยา Verapamil อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง ปวดศีรษะ เป็นลม มือ – เท้าบวม น้ำหนักตัวเพิ่ม หายใจขัด/หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาลีโวบูโนลอลอย่างไร?
ควรเก็บยาลีโวบูโนลอลในช่วงอุณหภูมิ 15 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
ลีโวบูโนลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลีโวบูโนลอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Betagan (เบทาแกน) | Allergan |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น AK-Beta, Liquifilm
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Levobunolol [2016,Dec24]
- http://www.allergan.com/assets/pdf/betagan_pi [2016,Dec24]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/levobunolol/?type=brief&mtype=generic [2016,Dec24]
- https://www.drugs.com/cdi/levobunolol-drops.html [2016,Dec24]