ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 พฤศจิกายน 2554
- Tweet
- บทนำ
- ลีโวนอร์เจสเตรลมีสรรพคุณอย่างไร?
- ลีโวนอร์เจสเตรลออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลีโวนอร์เจสเตรลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลีโวนอร์เจสเตรลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานลีโวนอร์เจสเตรลควรทำอย่างไร?
- ลีโวนอร์เจสเตรลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลีโวนอร์เจสเตรลอย่างไร?
- ลีโวนอร์เจสเตรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลีโวนอร์เจสเตรลอย่างไร?
- ลีโวนอร์เจสเตรลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ประจำเดือน (Menstruation)
- การคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency Contraception)
- ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง (Birth control patch or contraceptive patch)
- ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant)
บทนำ
ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เป็นยาคุมกำเนิด จัดเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์กลุ่มเดียวกับฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) และถูกนำไปใช้เป็นยาคุมกำเนิดอย่างแพร่หลาย โดยผลิตเป็นยาฮอร์โมนเดี่ยวและผลิตผสมรวมกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคุมกำเนิดฉุกเฉิน) ซึ่งต้องเพิ่มปริมาณความเข้มข้นของฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรลหลายเท่าตัว
ลีโวนอร์เจสเตรลมีสรรพคุณอย่างไร?
ยาลีโวนอร์เจสเตรลมีสรรพคุณดังนี้
- ใช้เป็นยาคุมกำเนิดและป้องกันการตั้งครรภ์
- ใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินในกรณีที่การคุมกำเนิดเดิมเกิดข้อผิดพลาด เช่น ถุงยางอนามัยรั่วหรือฉีกขาดในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ หรือกรณีถูกข่มขืน
- ใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในหญิงที่หมดประจำเดือน
- รักษาอาการประจำเดือนมามาก
ลีโวนอร์เจสเตรลออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาลีโวนอร์เจสเตรลออกฤทธิ์โดยยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือนของผู้หญิง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นและยากต่อการฝังตัวของไข่ นอกจากนี้ยังทำให้บริเวณปากมดลูกมีสารคัดหลั่งลักษณะเหนียวข้นจึงทำให้ตัวอสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยาก
ลีโวนอร์เจสเตรลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบจำหน่ายของยาลีโวนอร์เจสเตรลสำหรับคุมกำเนิดคือ
- ชนิดเม็ด ขนาด 30 และ 37.5 ไมโครกรัม
- ชนิดเม็ดร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ขนาด 150 และ 50 - 125 ไมโครกรัม
- ชนิดฝังใต้ผิวหนัง ขนาด 75 มิลลิกรัม
รูปแบบจำหน่ายของยาลีโวนอร์เจสเตรลสำหรับคุมกำเนิดฉุกเฉินคือ
- ชนิดเม็ด ขนาด 750 ไมโครกรัม
รูปแบบจำหน่ายของยาลีโวนอร์เจสเตรลสำหรับใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือนคือ
- ชนิดเม็ด ขนาด 75 ไมโครกรัม
- ชนิดแผ่นปิดผิวหนัง 7 ไมโครกรัม/24 ชั่วโมง และขนาด 15 ไมโครกรัม/24 ชั่วโมง
รูปแบบจำหน่ายของยาลีโวนอร์เจสเตรลสำหรับรักษาอาการประจำเดือนมามากคือ
- ชนิดสอดช่องคลอด ขนาด 52 มิลลิกรัม
ลีโวนอร์เจสเตรลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดต่างๆรวมทั้งยาลีโวนอร์เจสเตรลจะมีวิธีรับประทานที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ ขนาด และปริมาณฮอร์โมนที่ประกอบอยู่ในเม็ดยาปกติสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ที่สำคัญต้องได้รับคำแนะนำและวิธีรับประทานที่ถูกต้องจากแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการคุมกำเนิด ผู้บริโภคควรอ่านข้อแนะนำและรายละเอียดปลีกย่อยได้จากเอกสารกำกับยา การรับประทานยาลีโวนอร์เจสเตรลผิดวิธีหรือผิดขนาด นอกจากจะไม่ได้รับประสิทธิผลของการคุมกำเนิดและการรักษาแล้ว ยังอาจได้รับผลอันไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงติดตามมา กรณีที่ใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลสำหรับคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่ควรใช้เกิน 2 ครั้ง/เดือน
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาลีโวนอร์เจสเตรล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดรวมทั้งอาการจากการแพ้ยาเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก - มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคเบาหวาน โรคไมเกรน โรคความดันโลหิตสูง ซึมเศร้า และอื่นๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดมักผ่านรกหรือ ผ่านเข้าสู่น้ำนมและส่งผลข้างเคียงต่อทารก สำหรับยาลีโวนอร์เจสเตรลห้ามใช้กับหญิงมีครรภ์โดยเด็ดขาดเพราะสามารถทำให้ทารกในครรภ์พิการได้
หากลืมรับประทานลีโวนอร์เจสเตรลควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาลีโวนอร์เจสเตรลที่ใช้คุมกำเนิด (ยาเม็ดคุมกำเนิด) สามารถรับประทานทันทีที่นึกได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า แต่ถ้าลืมรับประทานยาลีโวนอร์เจสเตรล ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆรวมทั้งในภาวะฉุกเฉิน ควรต้องปรึกษาแพทย์
ลีโวนอร์เจสเตรลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากยาลีโวนอร์เจสเตรลได้แก่ มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คัดเต้านม ซึมเศร้า อาจเกิดฝ้า ผมร่วง มีอาการบวมน้ำ โรคความดันโลหิตสูง และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ลีโวนอร์เจสเตรลอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลคือ
- ระวังการใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลกับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ด้วยมีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการ
- ระวังการใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลกับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะยาสามารถปนออก มาในน้ำนมได้ซึ่งอาจส่งผลถึงทารก ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ หรือสตรีที่มีประวัติท้องนอกมดลูกเพราะอาจเกิดการท้องนอกมดลูกซ้ำได้
- ห้ามใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลรักษาภาวะเลือดออกบริเวณช่องคลอดโดยที่ไม่ได้ผ่านการตรวจร่างกายและวิเคราะห์อาการจากแพทย์ว่าเกิดจากสาเหตุใด เพราะอาจทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลกับหญิงที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือกำลังเป็นโรคมะเร็งด้วยจะทำให้โรคมะเร็งกำเริบและรุนแรงขึ้น
- ระวังการใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลกับผู้ป่วยโรคตับ-ไต ผู้ที่มีภาวะตับโต ตับทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหืดลมชัก โรคไมเกรน เพราะอาจส่งผลให้โรครุนแรงขึ้นได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาลีโวนอร์เจสเตรล) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ลีโวนอร์เจสเตรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลีโวนอร์เจสเตรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆดังนี้
- การกินยาลีโวนอร์เจสเตรลร่วมกับยาต้านฮอร์โมนบางชนิดจะกระตุ้นการทำงานของตับ และก่อให้เกิดภาวะลีโวนอร์เจสเตรลในกระแสเลือดต่ำ ดังนั้นต้องปรับปริมาณการรับประทานของลีโวนอร์เจสเตรลเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ยาต้านฮอร์โมนดังกล่าวเช่น ยาอะมิโนกลูเททิไมด์ (Aminoglutethimide)
- การกินยาลีโวนอร์เจสเตรลร่วมกับยาที่กดภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายพบว่า ยาลีโวนอร์เจสเตรลจะทำให้ความเข้มข้นของยาดังกล่าวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับได้ด้วยยากดภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายเช่น ไซโคลสปอริน (Ciclosporin หรือ Cyclosporin)
ควรเก็บรักษาลีโวนอร์เจสเตรลอย่างไร?
ควรเก็บยาลีโวนอร์เจสเตรลให้พ้นแสงแดด เก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 เซลเซียส (Celsius) เลี่ยงการเก็บในที่ชื้น ไม่ควรเก็บยาที่หมดอายุควรทิ้งทำลาย และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ลีโวนอร์เจสเตรลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลีโวนอร์เจสเตรลมีชื่อทางการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anna (แอนนา) | Thai Nakorn Patana |
Dior 21 (ไดออร์ 21) | Thai Nakorn Patana |
Dior 28 (ไดออร์ 28) | Thai Nakorn Patana |
Hyan (ไฮแอน) | Famy Care |
Jadelle (จาเดล) | Bayer HealthCare Pharma |
Madonna (มาดอนนา) | Biolab |
Microgynon 30 ED (ไมโครไกนอน 30 อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
Microlenyn 30 ED (ไมโครลีนิน 30 อีดี) | DKT Healthcare |
R-Den (อาร์-เดน) | Thai Nakorn Patana |
Trigestrel (ไตรเจสเตรล) | Famy Care |
Triquilar ED (ไตรควิลาร์ อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
บรรณานุกรม
1. Levonorgestrel. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/levonorgestrel [2014,Oct25]
2. บุษบา จินดาวิจักษณ์. (2533). การใช้ยาในสตรีเพศ.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Updated 2014, Oct 25