ลีวีไทราซีแทม (Levetiracetam)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 มีนาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ลีวีไทราซีแทมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ลีวีไทราซีแทมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลีวีไทราซีแทมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลีวีไทราซีแทมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ลีวีไทราซีแทมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลีวีไทราซีแทมอย่างไร?
- ลีวีไทราซีแทมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลีวีไทราซีแทมอย่างไร?
- ลีวีไทราซีแทมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลมชัก (Epilepsy)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette syndrome)
บทนำ
ยาลีวีไทราซีแทม (Levetiracetam) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการโรคลมชัก (Epilepsy) โดยแพทย์อาจใช้ร่วมกับยากันชักตัวอื่นในการรักษา รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้มีทั้งยารับประทาน และยาฉีด ประเทศไทยจะพบเห็นการใช้ยาชนิดรับประทานตามสถานพยาบาลมากกว่ายาฉีด
ยาลีวีไทราซีแทมเป็นยาที่ใช้ได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ทั่วไป ตัวยาลีวีไทราซีแทมจะต้องใช้ เวลาประมาณ 6 - 8 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย สำหรับผู้ป่วยโรคไตแพทยอาจต้องปรับขนาดการรับประทานลดลงเพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของไตและช่วยลดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยานี้ลงอีกด้วย
ทั้งนี้มีข้อห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาลีวีไทราซีแทมรวมถึงเงื่อนไขทางสุขภาพหรือโรคประจำตัวบางอย่างที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังหากต้องใช้ยานี้เช่น
- เป็นผู้ที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ป่วยด้วยโรคไตหรือต้องล้างไตเป็นประจำ
- มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าหรือเคยคิดทำร้ายตนเองมาก่อนหรือไม่ ด้วยกลุ่มยารักษาอาการลมชักสามารถทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้าหรือการคิดทำร้ายตัวเองเพิ่มได้มากขึ้น
- ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถได้รับผลกระทบหรือเกิดอาการข้างเคียงต่างๆจากยานี้ ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน หากเกิดอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ยาลีวีไทราซีแทมสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงทางผิวหนังหรือที่เรียกว่า Stevens- Johnson syndrome กับผู้ป่วยบางรายโดยมักพบเกิดในช่วงระยะเวลาประมาณ 14 - 17 วันหลัง จากใช้ยานี้ ซึ่งหากเกิดอาการนี้เช่น ผิวหนังลอก บวม ตาแดง เป็นแผลในปาก - ในคอและในจมูก ควรพาผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วไม่ต้องรอวันนัดเพื่อแพทย์บำบัดรักษาอาการดังกล่าว
- กรณีที่ใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีลงมาควรต้องตรวจความดันโลหิตควบคู่กันไปตามแพทย์แนะนำเพราะยานี้อาจส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงได้
อนึ่งยาลีวีไทราซีแทมสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้เหมือนกับยาชนิดอื่นๆเช่น ทำให้ เกิดอาการไอ เบื่ออาหาร ท้องเสีย วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ โดยอาการข้างเคียงหลายอาการที่ร่างกายสามารถปรับตัวได้จนผู้ป่วยคุ้นเคยหรืออาการหายไปเองโดยไม่ต้องใช้ยาใดๆมารักษา
ทางคลินิกเคยศึกษาใช้ยาลีวีไทราซีแทมรักษากลุ่มอาการ Tourette syndrome โรควิตกกังวลและโรคอัลไซเมอร์ แต่กลับพบว่าตัวยานี้ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงกับผู้ป่วยมากกว่าที่จะได้รับประโยชน์ จึงยังหาข้อสรุปไม่ได้ที่จะระบุสรรพคุณของยานี้ในการรักษาโรคดังกล่าวเพิ่มเติม
ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ตัวยาลีวีไทราซีแทมอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยจัดเป็นประเภทยาอันตราย และมีเงื่อนไขของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชักที่มีการทำงานของตับบกพร่องหรือผู้ป่วยโรคลมชักที่ใช้ยาอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล และต้องใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทเท่านั้น สิ่งสำคัญของการใช้ยานี้คือผู้ป่วยต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดไม่ปรับขนาดการรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
ลีวีไทราซีแทมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาลีวีไทราซีแทมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการโรคลมชัก
ลีวีไทราซีแทมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยาลีวีไทราซีแทมยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่การศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (การกระจายตัวของยาเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด) พบว่าตัวยาลีวีไทราซีแทมจะเข้ารวมตัวกับสารโปรตีนที่มีชื่อว่า Synaptic vesicle glycoprotein ในสมอง ทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานในบริเวณสมองที่มีชื่อเรียกว่า Presynaptic calcium channels จากกลไกเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้อาการของโรคลมชักสงบและดีขึ้น
ลีวีไทราซีแทมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลีวีไทราซีแทมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 250, 500, 700 และ 1,000 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นานขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีดขนาด 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ลีวีไทราซีแทมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาลีวีไทราซีแทมมีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัมวัน ละ 2 ครั้งเช้า - เย็นทุกๆ 2 สัปดาห์ แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาขึ้นเป็น 1,000 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับ ประทานสูงสุดไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4 ปี - ต่ำกว่า 16 ปี: รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยรับประทานวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นทุกๆ 2 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มอีก 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี: ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีลงมาให้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่งยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลีวีไทราซีแทม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาลีวีไทราซีแทมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาลีวีไทราซีแทมสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาลีวีไทราซีแทมตรงเวลา
ลีวีไทราซีแทมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลีวีไทราซีแทมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน เดินเซ ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีอาการไอ โพรงจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ คอหอยอักเสบ
- ผลต่อจิตประสาท: เช่น มีอารมณ์ซึมเศร้า กระสับกระส่าย วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ รู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ตับอ่อนอักเสบ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดทุกชนิดต่ำหรือเม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น การทำงานของตับผิดปกติ มีภาวะตับอักเสบ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดบริเวณต้นคอ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด เบื่ออาหาร
*อนึ่งลักษณะของผู้ที่ได้รับยาลีวีไทราซีแทมเกินขนาดจะพบอาการง่วงนอน กระสับกระส่าย มีอารมณ์ก้าวร้าว ซึมเศร้า หายใจลำบาก จนอาจถึงขั้นโคม่า เมื่อพบมีอาการเหล่านี้หลังใช้ยานี้ ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันทีฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ลีวีไทราซีแทมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลีวีไทราซีแทมเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ไม่ใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่ง ของแพทย์
- การหยุดใช้ยานี้ทันทีอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะถอนยา แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ปรับลดขนาดยานี้ได้อย่างเหมาะสมโดยใช้เวลาทุก 2 - 4 สัปดาห์เพื่อปรับขนาดรับประทานลง
- ญาติควรเฝ้าระวังเรื่องการทำร้ายตัวเองอันเนื่องมาจากฤทธิ์ต่ออารมณ์ของยานี้
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลีวีไทราซีแทมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ลีวีไทราซีแทมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลีวีไทราซีแทมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาลีวีไทราซีแทมร่วมกับยา Aripiprazole, Dexbrompheniramine, Hydrocodone, Propoxyphene อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้นเช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดสมาธิ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาลีวีไทราซีแทมร่วมกับยา Buprenorphine อาจทำให้เกิดการกดการทำงานของประสาทส่วนกลางเช่น หายใจไม่ค่อยออก/หายใจลำบาก เกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นเสียชีวิต หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามรับประทานยาลีวีไทราซีแทมร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน และขาดสมาธิ
ควรเก็บรักษาลีวีไทราซีแทมอย่างไร
ควรเก็บยาลีวีไทราซีแทมในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ลีวีไทราซีแทมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลีวีไทราซีแทมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Keppra (เคปปรา) | GlaxoSmithKline |
Lecetam (เลเซแทม) | Unison |
Spritam (สปริแทม) | Aprecia Pharmaceutical |
Elepsia XR (อีเลปเซีย เอ็กซ์อาร์) | Sun Pharmacetical |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Levetiracetam [2016,Feb27]
- http://www.drugs.com/dosage/levetiracetam.html [2016,Feb27]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/79#item-8548 [2016,Feb27]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Keppra/?type=full#Indications [2016,Feb27]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/levetiracetam-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Feb27]