ลิ้นอักเสบ (Glossitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ลิ้นอักเสบ(Glossitis)หมายถึง ภาวะหรือโรคที่ทำให้เกิดมีการอักเสบขึ้นกับลิ้น/ เนื้อเยื่อลิ้นที่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติกับลิ้นได้หลายรูปแบบ เช่น ลิ้น บวม แดง อาจซีด อาจมีแผล อาจเป็นร่องผิดปกติ อาจมองดู ลื่น ราบเรียบ(ผิวลิ้นปกติจะเป็นตะปุ่มตะป่ำ/ตุ่มเล็กๆ/ขรุขระ) อาจรู้สึก เจ็บ แสบ หรือไม่ก็ได้

ลิ้นอักเสบ พบได้บ่อยใน ทุกคน ทุกเพศ(โดยบางสาเหตุพบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง บางสาเหตุพบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย บางสาเหตุพบได้ใกล้เคียงกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย) ทุกวัย โดยไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ ซึ่งมีรายงานพบลิ้นอักเสบได้ประมาณ 0.1-14.3% ของประชากรทั้งหมดทั่วโลก

ลิ้นอักเสบมีกี่ชนิด มีสาเหตุจากอะไร?

ลิ้นอักเสบ

ลิ้นอักเสบมีได้หลายชนิดที่มีสาเหตุต่างกัน โดยบางชนิด แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ

ก. Atrophic glossitis: เป็นลิ้นอักเสบที่ลิ้นมีลักษณะ ฝ่อ ลีบ เหี่ยวลง และผิวของลิ้นที่ขรุขระจะกลับมีลักษณะเรียบและดูลื่น(Smooth) ซึ่งทำให้เรียกการอักเสบแบบนี้ได้อีกชื่อว่า “Smooth tongue” แต่สีลิ้นยังคงเป็นสีชมพู หรืออาจออกสีแดง ซึ่งการอักเสบชนิดนี้มีได้หลายสาเหตุ เช่น จากภาวะขาดสารอาหาร(เช่น ขาดธาตุเหล็ก, ขาด Folic acid/วิตามินบี9, วิตามิน บี12, วิตามินบี 2, วิตามิน บี 3) โรค Celiac disease(โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย จัดอยู่ในกลุ่มโรคออโตอิมมูนต่อระบบทางเดินอาหารจากตัวกระตุ้นคือโปรตีนที่เรียกว่า Gluten) ภาวะที่มีปากแห้งมาก เช่นในโรค Sjogren's syndrome

ทั้งนี้ ลิ้นอักเสบชนิดนี้ อาจไม่มีอาการ หรือเมื่อมีอาการ คือ การรู้สึก เจ็บ แสบลิ้น

ข. Median rhomboid Glossitis: คือ ลิ้นอักเสบที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อด้านบนของลิ้น ตรงส่วนกลางที่ค่อนไปด้านหลังติดกับส่วนของโคนลิ้น โดยการอักเสบนี้ให้รูปลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยม(Rhomdoid) ซึ่งลิ้นส่วนที่อักเสบจะมีลักษณะ ลื่น เรียบ ออกสีแดง มีขอบเขตของการอักเสบชัดเจน ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บ แสบ และคัน ที่รอยโรค ทั้งนี้สาเหตุมักเกิดจากลิ้นติดเชื้อรา โดยเฉพาะเชื่อราชนิด Candida และการอักเสบชนิดนี้ มักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง/ผิดปกติ

ค. Benign migratory glossitis(Geographic tongue) หรือลิ้นแผนที่: เป็นลิ้นอักเสบที่พบได้บ่อยในทุกคน โดยการอักเสบ/รอยโรคจะเกิดบนลิ้น มีลักษณะยักไปมาคล้ายแผนที่ บริเวณรอยโรคจะเป็นสีแดง มีขอบเป็นสีขาวชัดเจน และรอยโรคนี้สามารถเคลื่อนที่เกิดตามจุดต่างๆได้ทั่วด้านบนของลิ้น สาเหตุเกิดลิ้นอักเสบชนิดนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงคือ มักเกิดหลังกินอาหารร้อนจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาจเกิดโดยไม่มีอาการ แต่ถ้ามีอาการ ที่พบคือ ระคายเคืองที่รอยโรค อาจร่วมกับ อาการเจ็บ แสบ และมักพบร่วมกับลิ้นอักเสบชนิดที่เรียกว่า Fissure tongue

ง. Fissure tongue: ลักษณะลิ้นจะแตกเป็นร่องลึก ที่มีเศษอาหารเข้าไปติดได้ จะก่อให้เกิดกลิ่นปาก และก่อการระคายเคือง เจ็บแสบ โดยเฉพาะเวลากิน แต่อาจไม่มีอาการก็ได้ รอยโรคจะเกิดส่วนบนในตอนกลางของลิ้น มักพบเกิดร่วมกับ “ลิ้นแผนที่” ซึ่งสาเหตุเกิดของ Fissure tongue แพทย์ยังไม่ทราบเช่นกัน แต่เชื่อว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับการอักเสบแบบลิ้นแผนที่

จ. Geometric tongue หรือ Herpetic geometric glossitis: คือ การอักเสบของลิ้นที่เกิดจากลิ้นติดเชื้อไวรัสชนิด Herpes simplex(โรคเริม) รอยโรค/การอักเสบจะเกิดบริเวณตรงกลาง ด้านบนของลิ้น ลักษณะรอยโรคจะแตกเป็นร่องคล้ายเป็นกิ่งก้านเล็กๆ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง มักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว อาการที่พบคือ เจ็บ แสบ ลิ้น

ฉ. Strawberry tongue หรือ Raspberry tongue: เป็นการอักเสบของลิ้นชนิดที่ทำให้ตุ่มเล็กๆบนลิ้นบวมขึ้นและมีสีแดง ส่งผลให้มองดูเหมือนผลStrawberry หรือ Raspberry แต่ถ้ามีฝ้าขาวๆเกิดขึ้นปกคลุมบนลิ้นร่วมด้วย จะทำให้มีลักษณะเหมือน Strawberry สีขาว ซึ่งเรียกการอักเสบนี้ว่า “White strawberry tongue” การอักเสบที่เรียกว่า Strawberry tongue พบได้ในโรค Scarlet fever ซึ่งเกิดจากร่างกายและลิ้นติดเชื้อแบคทีเรีย กลุ่ม Hemolytic Streptococcus และลิ้นอักเสบชนิดนี้ยังพบได้ในโรค Kawasaki disease และในการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงที่ทำให้เกิดอาการช็อกจากสารชีวพิษ(Toxin)ของแบคทีเรียที่เรียกว่า กลุ่มอาการ “Toxic shock syndrome”

ช. Hairy tongue (ลิ้นมีขน): การอักเสบชนิดนี้ จะเกิดบนลิ้นบนตุ่มเล็กๆของลิ้น ทำให้มีการสร้างสารโปรตีนที่เรียกว่า Keratin ที่มีลักษณะเหมือนขน ที่อาจมีสี ดำ น้ำตาล หรือขาว สาเหตุมักเกิดจากเนื้อเยื่อลิ้นอักเสบ จากการสูบบุหรี่ จากผลข้างเคียงจากใช้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องยาวนาน และ/หรือการขาดสุขลักษณะของช่องปากที่รวมถึงลิ้นด้วย การอักเสบชนิดนี้มักไม่ก่ออาการ แต่ในบางคนพบมีอาการเจ็บ แสบ ระคายเคืองลิ้น หรืออาจรู้สึกว่ามีอะไรติดอยู่ที่ลิ้น หรือรู้สึกติดคอเวลากลืน

ซ. Leukoplakia(ฝ้าขาว): เป็นการอักเสบเรื้อรังของลิ้น ที่พบได้น้อย ทั่วไปมักพบเกิดที่กระพุ้งแก้มและเหงือก และการอักเสบชนิดนี้สามารถกลายเป็นมะเร็งลิ้นได้(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง ฝ้าขาว ฝ้าแดง)

ฌ. Burning tongue: ลิ้นอักเสบที่เกิดจากการกิน หรือดื่ม อาหาร/เครื่องดื่มมีร้อนจัด จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อลิ้นบาดเจ็บ และก่อให้เกิดความรู้สึก แสบ ร้อน เจ็บที่ลิ้น แต่มักมองไม่เห็นลักษณะผิดปกติของลิ้น แต่บางครั้ง อาจพบอาการ บวม แดงของลิ้นได้ ซึ่งอาการจะหายไปเองใน 1-2 วัน

ญ. Apthus(แผลร้อนใน): เป็นการอักเสบที่มักเกิดที่ด้านข้างและเนื้อเยื่อใต้ลิ้น มักพบร่วมกับแผลร้อนในที่กระพุ้งแก้ม เหงือก และเพดานปาก อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง แผลร้อนใน)

อนึ่ง:

  • นอกจาก การอักเสบชนิดฝ้าขาว ที่จะสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลิ้น การอักเสบของลิ้นชนิดอื่นๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อนี้ ยังไม่มีรายงานที่จะกลายเป็นมะเร็งลิ้นได้
  • ลิ้นเป็นฝ้าขาว(บางครั้งสีออกเหลือง)ที่เรียกว่า White tongue หรือ Coated tongue ไม่ใช่การอักเสบของลิ้น แต่เกิดจากมีการเจริญเติบโตผิดปกติของเชื้อโรคทั่วไป(แบคทีเรีย หรือเชื้อรา)ในช่องปากจากมีการตกค้างของเศษอาหารและสารคัดหลั่งในช่องปากในร่อง/ในซอกระหว่างตุ่มเล็กๆบนลิ้น ทั้งนี้สาเหตุ เช่น สุขอนามัยช่องปาก/ลิ้นไม่ดี, ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาปฎิชีวนะ, ปากแห้ง, ฟันปลอมไม่สะอาด, สูบบุหรี่, ดื่มสุรา, โรคภูมิแพ้ ซึ่งอาการนี้จะค่อยๆดีขึ้นและหายไปเองได้จากการดูแลตนเองโดย การรักษาสุขอนามัยช่องปาก การแปรงลิ้นเบาๆร่วมด้วยเมื่อแปรงฟัน ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียง และเลิกสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุให้เกิดอาการนี้

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดลิ้นอักเสบ?

ผู้มีปัจัยเสี่ยงเกิดลิ้นอักเสบ เช่น

  • ผู้มีภาวะโลหิตจาง เช่น ขาดธาตุเหล็ก หรือจากมีภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร หรือมีประจำเดือนผิดปกติ(เช่น เลือดประจำเดือนออกมาก หรือมีรอบเดือนสั้นกว่าปกติ) โรคออโตอิมมูน
  • มีภาวะขาดอาหาร/ทุโภชนาการ ส่งผลให้ร่างกายขาดวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินบี 2, วิตามินบี 3, วิตามิน บี9, วิตามินบี12 เช่น การกินแต่อาหารขยะ และกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติที่บริโภคไม่ถูกวิธี
  • การติดสุรา ส่งผลให้เกิดภาวะทุโภชนาการ
  • ลิ้นได้รับสารก่อการระคายเคืองต่อเนื้อเยื้อลิ้นโดยตรง ส่งผลให้เซลล์เนื้อเยื่อลิ้นบาดเจ็บ/อักเสบ เช่น อาหารร้อนจัด อาหารรสจัด สุรา บุหรี่ ยาสีฟันบางชนิด น้ำยาบ้วนปากบางชนิด(เช่น ทีมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์)
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, โรคติดเชื้อเอชไอวี
  • มีการติดเชื้อบางชนิดในร่างกาย เช่น แบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา โรคซิฟิลิส
  • ภาวะปากคอแห้งมากจากขาดน้ำลาย เช่นจากกลุ่มอาการโจเกรน กลุ่มอาการเอสเอส โรคปากแห้งตาแห้ง
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ทำให้ ปาก คอ แห้งมาก เช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Beta blocker หรือยาบางชนิดในกลุ่มยาขยายหลอดลม
  • โรคต่างๆของระบบทางเดินอาหาร ที่สงผลถึงการดูดซึมสารอาหารต่างๆ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง โรคCrohn disease
  • โรคภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้หูคอจมูก
  • ลิ้นได้รับอุบัติเหตุโดยตรง เช่น ฟันขบ การเจาะลิ้นใส่เครื่องประดับ การแปรงลิ้น การขูดลิ้น

ลิ้นอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของลิ้นอักเสบ จะเป็นอาการจากรอยโรคที่อักเสบที่ตัวลิ้นเอง และอาการจากสาเหตุที่ทำให้ลิ้นอักเสบ

ก. อาการจากรอยโรคที่ตัวลิ้นเอง: อาการที่พบได้ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง ที่พบบ่อย คือ เจ็บ บวมเล็กน้อย แสบ ระคายเคือง ลิ้นส่วนอักเสบมีสีเปลี่ยนไป จะขึ้นกับสาเหตุ เช่น สีแดง น้ำตาล ขาว การอักเสบบางชนิดอาจทำให้เกิดกลิ่นปาก เช่น การอักเสบจากลิ้นติดเชื้อแบคทีเรีย อาจเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย กินอาหารได้น้อยลงจากเจ็บลิ้น ต้องกินอาหารเหลว หรืออาหารน้ำ จึงอาจทำให้น้ำหนักตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยลิ้นอักเสบบางราย อาจไม่มีอาการผิดปกติ

ส่วนอาการจากลิ้นอักเสบที่รุนแรงคือ ลิ้นอาจบวมมาก เช่นในโรคภูมิแพ้ที่รุนแรง จะส่งผลให้เกิด อาการกลืนลำบาก เสียงพูดเปลี่ยน และหายใจลำบากจากลิ้นบวมจนปิด/อุดกั้นช่องทางเดินหายใจซึ่งถ้าไปโรงพยาบาลล่าช้า ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากช่องทางเดินหายใจอุดตันนี้ได้

ข. อาการจากสาเหตุ: เป็นอาการที่จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายจากสาเหตุที่ต่างกัน เช่น อาการของโรคออโตอิมมูน อาการจากภาวะซีดจากขาดธาตุเหล็ก หรือจากภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร หรืออาการจากพิษสุราเรื้อรัง อาการจากโรคมะเร็ง หรือจากการติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น ซึ่งอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดของอาการแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุได้ในบทความเรื่องโรคนั้นๆในเว็บ haamor.com

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวในหั้วข้อ”อาการฯ” และอาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเองประมาณ 7-10วัน หรืออาการต่างๆเลวลง ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

*ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วเมื่อมีอาการลิ้นบวมจนส่งผลต่อการกินอาหาร เสียงพูดเปลี่ยน และ

*ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เมื่อลิ้นบวมจนก่อปัญหาทางการหายใจ/หายใจลำบาก

แพทย์วินิจฉัยลิ้นอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยลิ้นอักเสบได้จาก ประวัติอาการ และการตรวจดูช่องปาก และลิ้นของผู้ป่วย นอกจากนั้นคือการวินิจฉัยหาสาเหตุโดยการสอบถามประวัติทางการแพทย์เพิ่มเติม เช่น ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ และการตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและ/หรือตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือด ดูค่าซีบีซี/CBC เพื่อดูภาวะซีด การตรวจเลือดดูค่า วิตามิน เกลือแร่ ชนิดต่างๆที่แพทย์สงสัยว่าเป็นสาเหตุลิ้นอักเสบ การตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทาน และ/หรือดูสารก่อภูมิต้านทาน ของโรคต่างๆที่แพทย์สงสัยเป็นสาเหตุ เป็นต้น

รักษาลิ้นอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาลิ้นอักเสบคือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: ที่การรักษษจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายจากสาเหตุที่ต่างกัน เช่นการรักษา โรคออโตอิมมูน, ภาวะซีดจากขาดธาตุเหล็ก, ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร, โรคมะเร็ง, การติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น ซึ่งอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดของการรักษา แต่ละโรคที่เป็นสาเหตุได้ในบทความเรื่องโรคนั้นๆในเว็บ haamor.com

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือ การรักษาอาการที่เกิดขึ้นกับรอยโรคบนลิ้น เช่น ยาแก้ปวด Paracetamol กรณีมีอาการเจ็บลิ้น/รอยโรค การดื่มน้ำมากขึ้นเพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้นเมื่อมีภาวะปากแห้ง คอแห้ง การรักษาความสะอาดช่องปาก การกิน อาหารรสจืด อาหารอ่อนหรืออาหารน้ำเมื่อเจ็บลิ้นจนกินอาหารปกติไม่ได้ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ “การดูแลตนเองฯ”)

ลิ้นอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

รอยโรคบนลิ้นที่เป็นการอักเสบของลิ้น มักมีการพยากรณ์โรคที่ดี ที่สามารถรักษาได้หายเสมอ แต่การพยากรณ์โรคที่แท้จริงจะขึ้นกับสาเหตุของลิ้นอักเสบ เช่น ถ้าเกิดจากภาวะทุโภชนาการ การพยากรณ์โรคมักจะดี รักษาได้หาย แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง การพยากรณ์โรคก็จะแย่กว่าจากสาเหตุอื่นๆ

มีผลข้างเคียงจากลิ้นอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากลิ้นอักเสบ คือ อาจมีน้ำหนักตัวลดลงจากกินอาหารได้น้อยลง จากเจ็บลิ้นเวลากิน หรือกรณีรุนแรงจากการมีลิ้นที่บวมมาก คือ การปิดกั้น/อุดกั้นทางเดินลมหายใจ ซึ่งกรณีการอุดกั้นรุนแรงที่การรักษาคือ การต้องเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยเปิดทางเดินหายใจ ดังนั้นกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้ป่วยมาโรงพยาบาลล่าช้า ผู้ป่วยจึงอาจเสียชีวิตได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

กรณีมีลิ้นอักเสบ การดูแลตนเองคือ

  • การรักษาความสะอาดของลิ้นและช่องปากด้วยการแปรฟันอย่างน้อยวันละ 2ครั้งด้วยแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม โดยใช้ยาสีฟันที่รสชาติไม่ก่อการระคายเคืองต่อลิ้น อาจร่วมกับการแปรงเบาๆบนลิ้นๆเพื่อกำจัดเศษอาหารหรือสารคัดหลั่งจากรอยโรค
  • ดื่มน้ำสะอาดในแต่ละวันให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของช่องปาก อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • กินอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) กินครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยขึ้น
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือเจือจาง หรือน้ำเปล่าสะอาด หลังการบริโภคทุกครั้ง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • เลิกบุหรี่ เลิกสุรา
  • กินยาแก้ปวด/เจ็บ Paracetamol กรณีมีอาการเจ็บลิ้นมาก
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลกรณีอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองแล้ว 7-10 วัน แต่ถ้าอาการเลวลง โดยเฉพาะกรณีมีลิ้นบวม ต้องรีบด่วนไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึง 7-10วัน และ*ถ้าลิ้นบวมมากจนส่งผลต่อการหายใจ ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

กรณีลิ้นอักเสบและได้พบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองเพิ่มเติมจากที่กล่าวในตอนต้นคือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น รอยโรคที่ลิ้นกว้างขึ้น หรือเจ็บมากขึ้น ลิ้นบวมขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ลิ้น เช่น รอยโรคมีเลือดออก หรือเกิดเป็นแผล หรือมีหนอง
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก ท้องเสียมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันลิ้นอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันลิ้นอักเสบ คือการป้องกัน/หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยง” ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะร่างกายขาดสารอาหาร
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง ลดโอกาสเกิดการติดเชื้อต่างๆ
  • ดูแลรักษาสุขอนามัยช่องปากด้วยการแปรงฟันวันละ2ครั้ง เมื่อตื่นนอนและก่อน เข้านอน ร่วมกับรู้จักการใช้ไหมทำความสะอาดซอกฟัน(Dental floss)
  • ไม่ดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮลล์
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ไม่กินอาหารรสจัดเกินไป ไม่กินอาหาร/ดื่มเครื่องดื่มที่อุณหภูมิร้อนจัดเกินไป
  • ดูแล ควบคุม โรคภูมิแพ้ ให้ได้ดี
  • ไม่กินยา/ใช้ยาต่างๆโดยไม่จำเป็น

บรรณานุกรม

  1. Reamy,B., and Bunt,C. Am Fam Physician.2010;81(5):627-634 [2017,Feb25]
  2. Chi,A. et al. Am Fam Physician.2010;82(11):1381-1388 [2017,Feb25]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Glossitis [2017,Feb25]
  4. https://medlineplus.gov/ency/article/001053.html [2017,Feb25]