ลิ้นหัวใจติดเชื้อ หรือ เยื่อบุหัวใจติดเชื้อ (Infective endocarditis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ลิ้นหัวใจติดเชื้อ/เยื่อบุหัวใจติดเชื้อ (Infective endocarditis)คือ โรคเกิดจากเยื่อบุหัวใจ และ/หรือลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อซึ่งเกือบทั้งหมดติดจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนน้อยมากจากโรคเชื้อรา ลิ้นหัวใจติดเชื้อเป็นโรครุนแรงที่ต้องรีบด่วนมาโรงพยาบาลเพราะเป็นสาเหตุถึงตายได้ โดยอาการสำคัญ คือ มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย มีผื่นผิวหนัง และ/หรือจุดเลือดออกใต้เยื่อตา ที่ผิวหนัง และ/หรือใต้เล็บ ปวดข้อ ปวดเนื้อตัว เจ็บคอ อาจหอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน เจ็บหน้าอก โดยพบเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย

เยื่อบุหัวใจติดเชื้อ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อพบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบทุกวัยตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ แต่พบสูงขึ้นในอายุตั้งแต่ 50-60 ปีขึ้นไป มีรายงานอัตราเกิดในประเทศที่เจริญแล้วพบในแต่ละปีประมาณ 3-9 รายต่อประชากร 1 แสนคน แต่ยังไม่มีรายงานแน่ชัดในประเทศกำลังพัฒนา, และในผู้ป่วยที่ใส่อุปกรณ์ช่วยการทำงานที่หัวใจพบอัตราเกิดได้ประมาณ 13-19%, ทั้งนี้เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 3 เท่า

ลิ้นหัวใจติดเชื้อ/เยื่อบุหัวใจติดเชื้อมีสาเหตุจากอะไร?

ลิ้นหัวใจติดเชื้อ

เยื่อบุหัวใจติดเชื้อ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อเกิดจากเซลล์เชื้อโรคที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด เมื่อเลือดเข้าสู่หัวใจ เชื้อโรคเหล่านี้จะไปจับเกาะที่เยื่อบุหัวใจโดยเฉพาะที่ลิ้นหัวใจและเจริญแบ่งตัวจนเกิดเป็นการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ/ลิ้นหัวใจ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย(Bacterial endocarditis) โดยพบบ่อยที่สุดคือ ชนิด Streptococcus และ Staphylococcus, ส่วนน้อยโดยเฉพาะในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และ/หรือเป็นผู้ติดเชื้อขณะอยู่ในโรงพยาบาลอาจติดจากโรคเชื้อราได้ เช่น ชนิด แคนดิดา(แคนดิไดอะซิส)

ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของเชื้อโรคในกระแสเลือดมักมาจาก

  • ช่องปาก/ โรคช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ ฟันผุ
  • แผลหรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • เชื้อในระบบทางเดินหายใจ (โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ) เช่น คออักเสบ/คอหอยอักเสบ
  • เชื้อจากระบบทางเดินอาหาร(โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร) เช่น ลำไส้อักเสบ, มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • เชื้อจากระบบทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดลิ้นหัวใจติดเชื้อ/เยื่อบุหัวใจติดเชื้อ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดลิ้นหัวใจติดเชื้อ/เยื่อบุหัวใจติดเชื้อ ได้แก่

  • ใส่อุปกรณ์รักษาโรคหัวใจในหัวใจ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker implantation)
  • โรคลิ้นหัวใจ
  • โรคหัวใจแต่กำเนิด
  • เคยมีประวัติเยื่อบุหัวใจอักเสบมาก่อน
  • มีสุขอนามัยช่องปากที่แย่
  • ใช้สาร/ยาเสพติดด้วยการฉีด
  • หลังหัตการทางการแพทย์ และ/หรือทางทันตกรรม โดยเฉพาะที่ทำให้เกิดแผลโดยเฉพาะแผลกับเนื้อเยื่อเมือก และ/หรือกับหลอดเลือด เช่น
    • การทำฟัน/ถอนฟัน
    • ใส่สายสวนต่างๆ โดยเฉพาะใส่ผ่านทางหลอดเลือด
    • การผ่าตัดหัวใจ
    • การล้างไตด้วยการฟอกเลือด
  • โรคเรื้อรังที่ส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เบาหวาน เอชไอวี ติดสุรา มะเร็งลำไส้ใหญ่

ลิ้นหัวใจติดเชื้อ/เยื่อบุหัวใจติดเชื้อมีอาการอย่างไร?

อาการของเยื่อบุหัวใจติดเชื้อ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อ เป็นอาการที่คล้ายโรคติดเชื้อทั่วไป ไม่มีอาการเฉพาะโรค ซึ่งอาการต่างๆอาจเกิดอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเป็นวัน(ติดเชื้อเฉียบพลัน), หรือค่อยๆมีอาการนานเป็นสัปดาห์(ติดเชื้อแบบกึ่งเฉียบพลัน), หรือมีอาการไม่มากแต่เป็นอยู่นานเป็นเดือน(ติดเชื้อแบบเรื้อรัง) ทั้งนี้ขึ้นกับ ความรุนแรงของสาเหตุ, ชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ, และสุขภาพเบื้องต้นของแต่ละผู้ป่วย

อาการต่างๆ เช่น

  • มีไข้ มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค อาจร่วมกับ หนาวสั่น, เหงื่อออกมากผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • เจ็บหน้าอก
  • เจ็บคอ
  • ไอ
  • ปวดหัว
  • ปวดเนื้อตัว ปวดข้อทั่วตัว
  • ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ ปัสสาวะสีคล้ำเหมือนน้ำปลา
  • อาจคลื่นไส้อาเจียน
  • ภาวะซีด
  • เลือดออกใต้เยื่อตา
  • มีอาการทางผิวหนัง เช่น
    • ผิวหนังขึ้นผื่นทั่วตัว
    • มีเลือดออกใต้เล็บ
    • มีตุ่ม/ผื่นสีแดงกระจายทั้ง 2 ฝ่ามือ
  • กรณีรุนแรง จะเกิดลิ่มเลือดขนาดเล็กมาก(Embolus/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือด)ซึ่งลิ่มเลือดเหล่านี้จะติดเชื้อร่วมด้วยเสมอ ที่กระจายจากลิ้นหัวใจเข้าหลอดเลือดทั่วร่างกายจนไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็กของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายจนอวัยวะต่างๆเหล่านั้นขาดเลือด รวมทั้งก่อให้เกิดการติดเชื้อ/ฝี-หนองในอวัยวะนั้นๆ เช่น สมอง ปอด ม้าม ไต
    • อาการทางสมอง เช่น อาการของอัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง
    • อาการทางปอด เช่น ปอดอักเสบ/ ปอดบวม
    • อาการทางม้าม เช่น ม้ามโต และเกิดฝีที่ม้าม
    • อาการทางไต เช่น ไตอักเสบติดเชื้อ
  • ตรวจร่างกายพบ
    • เสียงหัวใจเต้นผิดปกติ
    • ม้ามโต

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ และโดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยง ดัง กล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ต้องรีบด่วนไปโรคพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที เพราะโรคนี้เป็นสาเหตุการตายได้อย่างรวดเร็ว และประสิทธิผลของการรักษายังขึ้นกับการได้รับการรักษาทันท่วงที

แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นลิ้นหัวใจติดเชื้อ/เยื่อบุหัวใจติดเชื้ออย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเยื่อบุหัวใจติดเชื้อ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อได้จาก

  • ซักถามประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติปัจจัยเสียงต่างๆ เช่น โรคประจำตัว การรักษาที่ผ่านมา การผ่าตัด การใส่สายสวนต่างๆ การทำฟัน การใช้ยาเสพติด
  • ตรวจวัดสัญญาณชีพ
  • การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะ ฟังเสียงเต้นของหัวใจ, ตรวจคลำตับและม้าม
  • การตรวจเอคโคหัวใจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
  • ตรวจเลือด ดูค่าต่างๆ เช่น
    • ค่าความสมบูรณ์ของเลือด, ภาวะซีด, ภาวะติดเชื้อ/ ตรวจซีบีซี/CBC
    • ค่าน้ำตาล, ค่าการทำงานของ ตับ ไต
    • ค่าเกลือแร่ในเลือด
  • การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ รวมถึงการตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ
  • อื่นๆ: ตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจภาพหัวใจ และ/หรือ อวัยวะที่มีอาการด้วย เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, ซีทีสแกน (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) และ/หรือเอมอาร์ไอ เช่น ปอด, สมอง
    • การตรวจเพาะเชื้อจากฝี/หนองที่เกิดในอวัยวะต่างๆ เช่น ที่ผิวหนัง

รักษาลิ้นหัวใจติดเชื้อ/เยื่อบุหัวใจติดเชื้ออย่างไร?

การรักษาหลักของโรคเยื่อบุหัวใจติดเชื้อ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อ คือ การรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อให้ยาฆ่าเชื้อได้ครบถ้วน, การรักษาสาเหตุ, และ รักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาตามอาการ

ก. ให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ:

  • ให้ยาปฏิชีวนะกรณีติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ให้ยาต้านเชื้อรา กรณีติดโรคเชื้อรา

ข. รักษาสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ เช่น รักษาควบคุม เหงือกอักเสบ, ฟันผุ, เบาหวาน, ลำไส้อักเสบ, ผ่าตัดรักษา โรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น (แนะนำอ่านรายละเอียดวิธีรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้จากเว็บ haamor.com)

ค. การรักษาตามอาการ: เช่น สูดดมออกซิเจนเมื่อมีปัญหาทางการหายใจ, ให้สารน้ำและ/หรือสารอาหารทางหลอดเลือดกรณีกินอาหาร/ดื่มน้ำได้น้อย, ให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้, ให้ยาแก้ปวดตามอาการ เป็นต้น

ลิ้นหัวใจติดเชื้อ/เยื่อบุหัวใจติดเชื้อก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อันตรายของโรคเยื่อบุหัวใจติดเชื้อ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อ ได้แก่

ก. เกิดลิ่มเลือดขนาดเล็กๆ’(สิ่งหลุดอุดหลอดเลือด)ที่ติดเชื้อ (Septic embolus)’จำนวนมากมายซึ่งหลุดจากลิ้นหัวใจลอยกระจายเข้าหลอดเลือดทั่วร่างกายโดยเฉพาะหลอดเลือดแดง, และจะไปอุดตันหลอดเลือดของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย จนอวัยวะเหล่านั้นขาดเลือด โดยเฉพาะถ้าลิ่มเลือดขนาดใหญ่และอุดตันหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่, และมักร่วมกับการติดเชื้อรุนแรง จนเกิดฝี/หนอง เช่น อัมพาต, ฝีในสมอง, ปอดปวม/ปอดเป็นหนอง/ฝี, ไตวาย, ฝี/หนองในไต, ม้ามโต ติดเชื้อ ฝี/หนองในม้าม, และในที่สุดจะเกิดภาวะช็อกจากการติดเชื้อรุนแรง(Septic shock)ซึ่งเป็นสาเหตุการตายได้สูงมาก

ข. อีกผลข้างเคียงที่รุนแรงและเป็นสาเหตุของการตายได้สูงเช่นกัน คือ การเกิดภาวะ’หลอดเลือดโป่งพอง’จากผนังหลอดเลือดเสียหายจากการอักเสบติดเชื้อ(Septic aneurysm) โดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่ติดเชื้อได้ทั้งจากเชื้อในกระแสเลือดและ/หรือเชื้อจากสิ่งหลุดอุดหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดนั้นๆโป่งพองขาดประสิทธิภาพในการนำส่งเลือด อวัยวะต่างๆจึงขาดเลือดร่วมกับการติดเชื้อ นอกจากนั้นผนังหลอดเลือดที่โป่งพองนี้จะแตกได้ง่ายจนอาจเป็นสาเหตุเกิดเลือดออกได้มากในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย จนผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกได้ทั้งจากติดเชื้อและจากเสียเลือดมาก

ลิ้นหัวใจติดเชื้อ/ เยื่อบุหัวใจติดเชื้อรุนแรงไหม?/มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

เยื่อบุหัวใจติดเชื้อ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อเป็นโรครุนแรงแรงมาก มีการพยากรณ์โรคแย่ โดยการพยากรณ์โรคขึ้นกับ ต้นเหตุ, ความรุนแรงของอาการตั้งแต่แรก, สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยตั้งแต่แรก, และการได้รับการรักษารวดเร็วทันท่วงที, ทั้งนี้มีรายงานอัตราตาย ประมาณ 15%-35% ขึ้นกับปัจจัยต่างๆดังกล่าว

ใครมีการพยากรณ์โรคแย่?

ผู้ป่วยโรคเยื่อบุหัวใจติดเชื้อ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อที่มีการพยากรณ์โรคแย่ คือ มีอัตราตายสูง ได้แก่

  • มาโรงพยาบาลล่าช้า
  • ผู้สูงอายุ
  • ติดเชื้อดื้อยา
  • ติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน
  • มีสุขภาพไม่ดีตั้งแต่แรก มีหลายโรคประจำตัวที่ควบคุมได้ไม่ดี
  • มีโรคเกิดที่ลิ้นหัวใจตำแหน่งระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับท่อเลือดแดง(Aortic valve)
    • และ/หรือเกิดกับลิ้นหัวใจหลายตำแหน่ง
    • และโดยเฉพาะเมื่อเกิดหนองขึ้นที่ลิ้นหัวใจ
  • มีผลข้างเคียงดังกล่าวใน’ หัวข้อผลข้างเคียงฯ’
  • เป็นการติดเชื้อที่ ‘ลิ้นหัวใจเทียม’

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเยื่อบุหัวใจติดเชื้อ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อหลังรับการรักษาในโรงพยาบาลและแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองต่อที่บ้าน ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ อย่างเคร่งครัด
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพและตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำให้สม่ำเสมอทุกวัน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง หรือมีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเป็นเลือด
    • กลับมามีไข้
    • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจากยาที่แพทย์สั่ง เช่น วิงเวียนศีรษะ ท้องผูกหรือท้องเสีย
    • กังวลในอาการ

ป้องกันลิ้นหัวใจติดเชื้อ/เยื่อบุหัวใจติดเชื้อได้อย่างไร?

โรคเยื่อบุหัวใจติดเชื้อ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อ ไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย แต่สามารถลดโอกาสเกิดได้โดย

  • รักษาสุขภาพช่องปากและฟัน โดยปฏิบัติตามของปฏิบัติพื้นฐานของการดูแลช่องปากและฟัน ได้แก่
    • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ2ครั้ง ก่อนเข้านอนตอนเย็น และหลังตื่นนอนตอนเช้า
    • ทำความสะอาดซอกซี่ฟันอย่างน้อยวันละ1ครั้งก่อนแปรงฟันตอนเย็นก่อนเข้านอน
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
    • ไม่ดื่มสุรา
    • ไม่สูบบุหรี่
    • พบทันตแพทย์ทุก6เดือน หรือบ่อยตามทันตแพทย์แนะนำ
  • เมื่อเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคลิ้นหัวใจติดเชื้อ/เยื่อบุหัวใจติดเชื้อ(ดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคฯ’) และ กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดลิ้นหัวใจติดเชื้อรุนแรงที่อาจถึงตายได้สูง(ดังกล่าวใน’หัวข้อ ใครมีการพยากรณ์โรคแย่’) ควรต้องแจ้ง แพทย์ และทันตแพทย์ ผู้รักษาทุกครั้งเพราะแพทย์/ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะนำก่อนการรักษาที่มีหัตการที่ทำให้เกิดแผลเพื่อป้องกันการเกิดโรคลิ้นหัวใจติดเชื้อรุนแรงจากมีแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดจากหัตการนั้นๆ

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/216650-overview#showall [2021,May1]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Infective_endocarditis [2021,May1]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5240923/ [2021,May1]
  4. https://www.msdmanuals.com/professional/cardiovascular-disorders/endocarditis/infective-endocarditis [2021,May1]
  5. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/16957-endocarditis [2021,May1]