ลิโดเคน (Lidocaine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลิโดเคน(Lidocaine หรือ Lidocaine hydrochloride หรือ Lidocaine HCl) หรือในชื่ออื่นคือ ไซโลเคน(Xylocaine) หรือ ลิกโนเคน(Lignocaine) ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ช่วยระงับความรู้สึกของเส้นประสาท กรณีที่นำมาผสมกับยาAdrenalineในปริมาณเล็กน้อยจะใช้เป็นยาชาและช่วยห้ามเลือด ยาชนิดนี้ยังใช้บำบัดอาการหัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อีกด้วย มีการค้นตัวยาลิโดเคนพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองจ่ายเพื่อให้บริการกับผู้ป่วย ด้วยประสิทธิภาพและเป็นยาที่มีราคาไม่แพงทำให้ยาลิโดเคนเป็นที่ยอมรับของหลายประเทศ

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาลิโดเคนมีทั้ง ยาฉีด ยาสเปรย์ ยาทาในช่องปาก ยาหยอดหู ยาหยอดตา ยาหล่อลื่นเพื่อช่วยสอดสายสวนปัสสาวะ ซึ่งมีการใช้ทั้ง ในลักษณะของยาเดี่ยวและของสูตรตำรับแบบผสม

ยาลิโดเคนมีข้อควรระวัง ที่ควรให้ความสำคัญและเรียนรู้อยู่หลายประการ เช่น การฉีดยาเข้าบริเวณ ศีรษะ ลำคอ ฟัน ปมประสาท จะต้องเป็นไปโดยคำสั่งแพทย์เท่านั้น

*หากผู้ป่วยได้รับยาลิโดเคนเกินขนาด สามารถก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ อาทิ เกิดความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกสับสน มีอาการชัก กดการหายใจ หัวใจเต้นช้า อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น มีอาการโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

ระหว่างที่ได้รับยาลิโดเคน แพทย์อาจสอบถามถึงความรู้สึกของผู้ป่วยว่า มีอาการชาหรือยังมีความรู้สึกเจ็บปวดอยู่หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบและประเมินประสิทธิผลของการใช้ยานี้ ในประเทศไทยลิโดเคนถูกกำหนดให้เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งมีใช้ตามสถานพยาบาลทั่วไปและมีหลายชื่อการค้า

ลิโดเคนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ลิโดเคน

ยาลิโดเคนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ(Ventricular fibrillation)
  • บำบัดภาวะหัวใจเต้นเร็ว(Ventricular tachycardia)
  • ใช้เป็นยาชาร่วมกับยาอื่นสำหรับเป็น ยาหยอดตา ยาหยอดหู
  • ใช้เป็นยาชาสำหรับเป็นยาเหน็บทวารหนัก
  • บรรเทาอาการเจ็บคอโดยรูปแบบของยาเม็ดอม
  • ใช้เป็นยาชาร่วมกับยาอื่นเพื่อหัตถการต่างๆทางการแพทย์

ลิโดเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาลิโดเคนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะปิดกั้นการส่งกระแสประสาทในบริเวณที่ได้รับยา ทำให้ความรู้สึกต่างๆถูกจำกัด มีอาการชาเกิดขึ้น และลดอาการเจ็บปวด

สำหรับการบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และ/หรือหัวใจเต้นเร็ว กลไกการออกฤทธิ์จะโดยตัวยาจะทำให้ความไวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ส่งผลให้หัวใจลดแรงบีบตัวแล้วกลับมาเต้นเป็นปกติ การใช้ลิโดเคนในลักษณะนี้จะต้องมีการควบคุมคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติเสมอ

ลิโดเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลิโดเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดอมแก้เจ็บคอที่ประกอบด้วยตัวยา Dichlorobenzyl alcohol 1.2 มิลลิกรัม + Amylmetacresol 0.6 มิลลิกรัม+ Lignocaine HCl 10 มิลลิกรัม
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 10 , 20 , 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 1% และ 2%
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 10 มิลลิกรัม + Adrenaline 5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และ Lidocaine HCl 20 มิลลิกรัม + Adrenaline 5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาหยอดตา ที่ประกอบด้วย Lidocaine 4% + Fluorescein 0.25%
  • ยาหยอดหู ที่ประกอบด้วย Chloramphenicol 1% + Lidocaine HCl 2%
  • ยาชา สำหรับทาสายสวนท่อปัสสาวะที่ประกอบด้วยตัวยา Lidocaine HCl 2 กรัม + Chlorhexidine dihydrochloride 0.05 กรัม/100กรัม
  • ยาครีมที่ประกอบด้วย Lidocaine 25 มิลลิกรัม + Prilocaine 25 มิลลิกรัม/กรัม
  • ยาเจลที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 2%
  • ยาเจลทาในช่องปากที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 20 มิลลิกรัม+ Chamomile flower tincture 185 มิลลิกรัม/10กรัม
  • ยาเจลใช้ทาผิวประกอบด้วย Lidocaine 4% + Epinephrine 1:2,000 + Tetracaine 0.5%
  • ยาพ่นสเปรย์ลดความเจ็บปวด ขนาดความแรง 10%
  • เป็นส่วนประกอบของยาประเภทฟิลเลอร์(Filler injection,ฉีดเติมริ้วรอย)ที่ประกอบด้วย Hyaluronic acid 24 มิลลิกรัม + Lidocaine HCl 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเหน็บทวารแก้ริดสีดวงทวาร ที่ประกอบด้วย Lidocaine 40 มิลลิกรัม + Tribenoside 400 มิลลิกรัม

ลิโดเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยาลิโดเคน ในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ หรือในเอกสารกำกับยา ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาวิธีและขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมจากแพทย์หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลิโดเคน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายติดขัด /หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ มีแผลติดเชื้อ เป็นโรคเริม รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลิโดเคนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ลิโดเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลิโดเคนมีหลายรูปแบบเภสัชภัณฑ์ กรณีใช้ยาลิโดเคน ฉีดเข้าร่างกายจะมีความเสี่ยง ต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้หลายประการดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจทำให้มีภาวะ Methemoglobinemia
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้าหรือ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน พูดไม่ชัด เป็นอัมพาต
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดภาวะตาพร่า เห็นภาพซ้อนซึ่งอาจเป็นเพียงชั่วคราว
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว/ หายใจขัด/หายใจลำบาก หยุดหายใจ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีลมพิษ มีผื่นคัน ผิวหนังเป็นแผลหรือ บวม แดง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดขา ปวดสะโพก

มีข้อควรระวังการใช้ลิโดเคนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลิโดเคน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการปรับขนาดการใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกร
  • ห้ามทายาลิโดเคนลงบนแผลที่มีสภาวะติดเชื้อ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะลมชัก
  • หลีกเลี่ยงการฉีดยาลิโดเคนกับผู้ป่วยที่หมดสติ และยังไม่ได้รับการใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • ห้ามฉีดยาลิโดเคนที่มีส่วนประกอบของสารยับยั้งเชื้อ(Preservative)เข้าน้ำไขสันหลัง
  • การใช้ยาลิโดเคน ควรเริ่มที่ขนาดต่ำสุดแต่ให้ประสิทธิผลด้านบำบัดอาการป่วย สูงที่สุด
  • ขณะฉีดยาลิโดเคนให้ผู้ป่วย ต้องควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต เป็นต้น
  • การใช้ยาใดๆร่วมกับยาลิโดเคน ควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลิโดเคนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ลิโดเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลิโดเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลิโดเคนแบบยาฉีด ร่วมกับยาTramadol ด้วยจะทำให้เกิดภาวะลมชักได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาลิโดเคนชนิดฉีด ร่วมกับยาAmprenavir เพราะจะทำให้ระดับยาลิโดเคนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆมากขึ้นจากยาลิโดเคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ระวังการใช้ยาลิโดเคนร่วมกับ ยาPrilocaine การใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน อาจทำให้มี ภาวะ Methemoglobinemia ตามมา ซึ่งเป็นผลให้เม็ดเลือดแดงมีความสามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้น้อยลงจนอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต
  • การใช้ยาลิโดเคนชนิดฉีด ร่วมกับยาAcebutolol อาจเป็นเหตุให้มีอาการง่วงนอน หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาลิโดเคนอย่างไร?

สามารถเก็บยาลิโดดเคนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามข้อแนะนำของเอกสารกำกับยา

  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว และ
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

ลิโดเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลิโดเคน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
EMLA (เอมลา)AstraZeneca
Kamistad Gel N (คามิสเตด เจล เอน)Stada
Lidocaine GPO (ลิโดเคน จีพีโอ)GPO
Lidocaine HCl Injection Vesco (ลิโดเคน เอชซีแอล อินเจคชั่น เวสโก)Vesco Pharma
Lidocaine Union Drug (ลิโดเคน ยูเนียน ดรัก)Union Drug
Xylocaine with adrenaline (ไซโลเคน วิท อะดรีนาลีน)AstraZeneca
Xylocaine Topical viscous (ไซโลเคน ท็อปปิคัล วิสคัส)AstraZeneca

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Chalocaine

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Lidocaine [2018,Sep1]
  2. http://apps.who.int/medicinedocs/documents/s23176en/s23176en.pdf [2018,Sep1]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=lidocaine&page=0 [2018,Sep1]
  4. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.2396.pdf [2018,Sep1]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/lidocaine-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Sep1]
  6. https://www.drugs.com/pro/lidocaine.html#s-34070-3 [2018,Sep1]
  7. http://web1.dent.cmu.ac.th/mis/dis/UserFiles/File/surg/SheetDOS381/local%20anes.pdf [2018,Sep1]