ลิเจียนแนร์ผ่านแอร์ในตึก (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ลิเจียนแนร์ผ่านแอร์ในตึก-1

      

      อาการของโรคลิเจียนแนร์ มักเกิดขึ้นใน 2-10 วัน หรืออาจนานถึง 16 วัน หลังการติดเชื้อ โดยมีอาการคล้ายโรคปอดอักเสบชนิดอื่น ซึ่งได้แก่ อาการ

  • ไอ
  • หายใจลำบาก
  • เป็นไข้
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดศีรษะ

      ส่วนผู้ที่เป็นไข้ปอนเตียกในเบื้องต้นจะมีอาการคล้ายไข้หวัด กล่าวคือ เป็นไข้และปวดกล้ามเนื้อ แต่อาการจะอ่อนกว่าโรคลิเจียนแนร์ อาการมักจะเกิดภายในไม่กี่ชั่วโมงถึง 3 วัน หลังการติดเชื้อ โดยสิ่งที่แตกต่างระหว่างไข้ปอนเตียกและโรคลิเจียนแนร์ ก็คือ ไข้ปอนเตียกจะไม่มีอาการปอดอักเสบ (Pneumonia)

      โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่

  • มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • สูบบุหรี่หรือเคยสูบมาก่อน
  • เป็นโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease = COPD) หรือ โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
  • มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอหรือกินยากดภูมิ เช่น ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือปลูกถ่ายอวัยวะ
  • เป็นโรคมะเร็ง
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ

      สำหรับการวินิจฉัยและยืนยันว่าเป็นโรคลิเจียนแนร์สามารถวิเคราะห์จากผู้ป่วยว่ามีปอดอักเสบหรือปอดติดเชื้อหรือไม่ ด้วยวิธีการ

  • ตรวจปัสสาวะ
  • นำเสมหะ (Sputum / phlegm) จากปอดไปตรวจในห้องแล้ป

      ส่วนการรักษาโรคลิเจียนแนร์ มักต้องพักรักษาตัวที่โรคพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ซึ่งยาที่มักใช้กันทั่วไปมีอยู่ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  • Fluoroquinolones เช่น ยา Levofloxacin และ ยา Moxifloxacin
  • Macrolides เช่น ยา Erythromycin ยา Azithromyocin และ ยา Clarithromycin
  • Tetracyclines เช่น ยา Doxycycline

      หรือการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่อย่าง Glycylcyclines ก็ได้ผลเช่นกัน ทั้งนี้ การเลือกใช้ยาก็ขึ้นอยู่กับอาการ ความทนทานต่อยา และสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย

      โดยผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงมักจะฟื้นตัวได้ดีหลังการรักษา อย่างไรก็ดี โรคลิเจียนแนร์มีอัตราการเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนอยู่ที่ร้อยละ 10 ในขณะที่ไข้ปอนเตียกมักหายได้เองใน 2-5 วันโดยไม่ต้องรักษา

      เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคลิเจียนแนร์ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ทำได้คือ การดูแลรักษาระบบน้ำของอาคารหรือตึกให้สะอาดเพื่อลดความเสี่ยงในการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Legionnaires’ Disease. https://www.cdc.gov/about/facts/cdcfastfacts/legionnaires.html [2019, April 18].
  2. Legionella (Legionnaires' Disease and Pontiac Fever). https://www.cdc.gov/legionella/index.html [2019, April 18].
  3. Medical Definition of Pontiac fever. https://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=25522 [2019, April 18].
  4. Legionnaires' Disease and Pontiac Fever (Legionellosis). https://www.medicinenet.com/legionnaire_disease_and_pontiac_fever/article.htm#what_causes_legionellosis__what_is_the_history_of_legionnaires#39_disease [2019, April 18].