ลิเจียนแนร์ผ่านแอร์ในตึก (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 18 เมษายน 2562
- Tweet
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าร้อนจะมีอากาศร้อนกว่าปกติ ทำให้หลายคนมีความจำเป็นต้องเปิดแอร์เพื่อคลายความร้อนในเวลากลางวันและกลางคืน อาทิ ที่ทำงาน ที่บ้าน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
ซึ่งภายในแอร์นั้นมีความชื้นจำนวนมากและอาจเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคเจริญเติบโต โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลา หากหายใจเอาละอองน้ำที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนเข้าไป จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยลักษณะอาการมี 2 แบบ คือ แบบปอดอักเสบรุนแรง จะมีอาการไข้ขึ้นสูง ไอ หนาวสั่น เรียกว่า โรคลิเจียนแนร์ และแบบที่จะมีลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไข้ปอนตีแอก หรือ ปอนเตียก
นายแพทย์ดนัย อธิบายว่า แอร์ที่ใช้ทั่วไปจะมี 2 ระบบ คือ
1) แอร์แบบระบบรวม เมื่อไม่ได้ใช้ควรปล่อยน้ำทิ้งจากหอหล่อเย็นให้แห้ง หลังจากนั้นก็ทำความสะอาดและใช้น้ำยาที่ผสมคลอรีนที่มีความเข้มข้น 10 ppm เข้าไปที่ท่อผึงเย็นให้ทั่วถึงทั้งระบบอย่างน้อย 3-6 ชั่วโมง แล้วรักษาระดับคลอรีนให้มีความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 0.2 ppm โดยทำความสะอาดหอหล่อเย็นอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อเดือน และ
2) แอร์ในห้องพัก ควรทำความสะอาดถาดรองทุกๆ 1-2 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้มีตะไคร่เกาะ และเมื่อเปิดแอร์ควรสังเกตว่าอากาศที่ออกมาจากแอร์มีกลิ่นเหม็นหรือมีกลิ่นอับหรือไม่ หากมีกลิ่น ในเบื้องต้นควรล้างทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศที่อยู่ในแอร์ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
หากล้างทำความสะอาดแล้วกลิ่นไม่หาย ควรเรียกช่างเพื่อทำความสะอาดเต็มระบบ ซึ่งการล้างแอร์เต็มระบบ ควรล้างอย่างน้อยปีละครั้ง แต่หากใช้เป็นประจำควรล้างอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง เพราะนอกจากลดเชื้อโรคแล้วยังช่วยประหยัดไฟฟ้าได้อีกด้วย
“โรคลิเจียนแนร์” (Legionnaires’ disease) เป็นโรคปอดติดเชื้อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ Legionella ที่เรียกว่า Legionella pneumophila หากเป็นอาการป่วยระดับอ่อนจะเรียกว่า “ไข้ปอนเตียก” (Pontiac fever)
จากสถิติ จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นสูงตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 โดยกรมอนามัยของสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า ในปี พ.ศ.2560 มีชาวอเมริกันป่วยด้วยโรคนี้เกือบ 7.500 ราย
โรคนี้ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน แต่ติดต่อกันด้วยการหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในน้ำอุ่นที่ขังอยู่ที่อุณหภูมิ 25 C – 42 C โดยการแพร่ระบาดของเชื้อมักเกิดขึ้นในอาคารที่สถานที่มีระบบน้ำที่ซับซ้อน เช่น โรงแรม โรงพยาบาล สถานพักฟื้นระยะยาว และในเรือท่องเที่ยว (Cruise ships) ผ่านทาง
- หัวฝักบัวและก๊อกน้ำ (Sink faucets)
- ท่อน้ำร้อน (Hot tubs ที่ไม่ได้มีการไขน้ำออกหลังการใช้)
- หอทำความเย็น (Cooling towers)
- น้ำพุเพื่อความสวยงาม (Decorative fountains)
- เครื่องทำน้ำร้อน
- ระบบประปาขนาดใหญ่ (Large plumbing systems)
แหล่งข้อมูล:
- เตือน !!! ด้วยความห่วงใย ไม่ล้างแอร์นาน เชื้อโรคสะสม เสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบ. https://www.anamai.moph.go.th/ewt_news.php?nid=14025&filename=index[2019, April 17].
- Legionnaires’ Disease. https://www.cdc.gov/about/facts/cdcfastfacts/legionnaires.html[2019, April 17].
- Legionella (Legionnaires' Disease and Pontiac Fever). https://www.cdc.gov/legionella/index.html [2019, April 17].
- Legionnaires' Disease and Pontiac Fever (Legionellosis). https://www.medicinenet.com/legionnaire_disease_and_pontiac_fever/article.htm#what_causes_legionellosis__what_is_the_history_of_legionnaires#39_disease [2019, April 17].