ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน (Lisdexamfetamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนอย่างไร?
- ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนอย่างไร?
- ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Norepinephrine-dopamine releasing agent
- ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง (CNS stimulants)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
- ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
บทนำ
ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน(Lisdexamfetamine หรือ Lisdexamfetamine dimesylate หรือ Lisdextroamphetamine หรือ L-lysine-dextroamphetamine) เป็นยามีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทของเซลล์ประสาทในสมอง ด้วยกลไกทางเภสัชวิทยา จึงทำให้ยาชนิดนี้/ยานี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Norepinephrine-dopamine releasing agent ด้านคลินิก ได้นำยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมาใช้รักษาอาการ/โรคสมาธิสั้นทั้งกับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาลดความอยากอาหารมากเกินปกติ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้เป็นยาลดน้ำหนักในผู้ป่วยด้วยโรคอ้วน ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนได้รับการขึ้นทะเบียนครั้งแรกในปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) และมีการใช้มาจนกระทั่งปัจจุบัน
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารประมาณ 96.4% ธรรมชาติของยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนในกระแสเลือดยังไม่ใช่ยาที่ออกฤทธิ์ได้ แต่จะต้องถูกเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลไปเป็นสาร Dextroamphetamine โดยใช้เอนไซม์ในเม็ดเลือดแดงเสียก่อนจึงจะเริ่มทำหน้าที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองอย่างต่อเนื่อง การกำจัดตัวยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนออกจากร่างกายจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่สำหรับสาร Dextroamphetamine ต้องใช้เวลาประมาณ 9–11 ชั่วโมง ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานี้อยู่ระหว่าง 10–12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วย คือ รับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้ง ก็เพียงพอต่อการควบคุมอาการโรคได้แล้ว
อย่างไรก็ตามยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน มีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังที่คล้ายกับยากระตุ้นประสาทประสาทส่วนกลางตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ เช่น ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
- ห้ามใช้กับผู้ที่เพิ่งได้รับยากลุ่มMAOI ภายใน 14 วันที่ผ่านมา ด้วยจะทำให้มี ภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ตามมา
- ห้ามใช้กับผู้ที่มี ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ผู้ที่มีภาวะทางจิต/อาการทางจิตเวช ผู้ป่วยโรคต้อหิน
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กเล็ก
- ห้ามใช้ร่วมกับยาลดความอยากอาหาร/ยาลดความอ้วนตัวอื่นนอกจากมีคำสั่งจากแพทย์ และ การใช้ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนร่วมกับยาชนิดอื่นใดนั้นต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้ยานี้เป็นเวลายาวนานกว่าคำสั่งแพทย์
- ระหว่างที่ใช้ยานี้แล้วมีอาการ ลมชัก ร่างกายกระตุก เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง หากพบเกิดอาการดังกล่าว ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพท/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที
- เฝ้าสังเกตอาการทางจิตใจ เช่น มีอารมณ์เหวี่ยง/อารมณ์แปรปรวนหรือไม่ มีความก้าวร้าว ประสาทหลอน หลงผิด หวาดระแวง วิตกกังวล หรือซึมเศร้า อาการเหล่านี้ ไม่ควรปล่อยไว้นาน ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยานี้เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
- หากผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนหลังรับประทานยานี้ ห้ามผู้ป่วยขับขี่ยานพาหนะใดๆ หรือทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- หลังการใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 1 เดือน และผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบเข้ามา พบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม
- *กรณีรับประทานยาชนิดนี้เกินขนาด จะพบอาการ กระสับกระส่าย ตัวสั่น การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายแย่ลง มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก หายใจเร็ว รู้สึกสับสน ได้ยินเสียง/หูแว่ว มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยง่าย ซึมลง ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว และมีอาการโคม่า กรณีพบเห็น ผู้ที่ได้รับยาเกินขนาด ต้องรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามหยุดการรับประทานยานี้ทันทีด้วยจะทำให้อาการโรคกลับมาเป็นใหม่ แพทย์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการหยุดรับประทานยานี้ได้ดีที่สุด
- หลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มใช้ยานี้ แนะนำให้มาตรวจร่างกายทุก 6 เดือนหรือตามที่แพทย์นัดหมาย สิ่งที่แพทย์มักจะขอตรวจสอบ ได้แก่ ความอยากอาหาร น้ำหนักตัว ความดันโลหิต การทำงานของหัวใจ และภาวะทางอารมณ์
- การให้ยานี้กับผู้ป่วยนานติดต่อกัน 1 ปีขึ้นไป แพทย์มักจะสั่งหยุดรับประทานยานี้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ทั้งนี้เพื่อทดสอบว่ามีอาการถอนยาเกิดขึ้นหรือไม่ ตลอดจนกระทั่งประเมินผู้ป่วยว่าสมควรหยุดการใช้ยานี้ได้หรือยัง
- ผู้ป่วยควรเรียนรู้ถึงผลข้างเคียงของยาชนิดนี้เพื่อจะได้ปฏิบัติตนได้ถูกต้อง เช่น หากวิงเวียนเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้วิงวียนมาช่วยเหลือ แต่กรณีมีอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก ความดันโลหิตสูง หรือมีผื่นคันตามร่างกาย กรณีนี้ต้องรีบมาปรึกษาแพท/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
การใช้ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนที่ผิดหลักวิชาการ อย่างเช่น ในต่างประเทศมีการแอบซื้อขายและใช้ยานี้โดยไม่ผ่านการตรวจร่างกายจากแพทย์ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายกับผู้ที่ใช้ยานี้ได้อย่างมากมาย เช่น อาการทางจิตเวช โคม่า
ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน เป็นยาอีกหนึ่งรายการที่ยังไม่มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทย แต่จะพบเห็นการใช้อยู่ที่ต่างประเทศภายใต้ชื่อการค้าต่างๆ เช่น Elvanse หรือ Tyvense
ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดอาการโรคสมาธิสั้นกับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นมา
- ใช้บำบัดอาการรับประทานอาหารมากผิดปกติ แต่ห้ามใช้เป็นยาลดน้ำหนัก
- บางกรณีแพทย์อาจใช้ยานี้ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้เกิดประสิทธิภาพมีความตั้งใจและทำให้มีสมาธิมากขึ้น การใช้ยาในวัตถุประสงค์ข้อนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์เป็นกรณีๆไป
ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะถูกเอนไซม์ในเม็ดเลือดแดงเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็นสารออกฤทธิ์ที่ชื่อว่า Dextroamphetamine ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการปลดปล่อยสารสื่อประสาทในสมอง อย่างเช่น Norepinephrine และ Dopamine ส่งผลให้กระตุ้นศูนย์ควบคุมความรู้สึกอิ่มในสมองให้ทำงานดีขึ้น แต่สำหรับกลไกการรักษาสมาธิสั้น ทางคลินิกยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้อย่างชัดเจน โดยสันนิษฐานได้เพียงว่า ขนาดรับประทานยานี้ที่ถูกต้อง สามารถสร้างสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆได้อย่างมีสมดุลเหมาะสมมากขึ้นจนเป็นผลให้อาการสมาธิสั้นดีขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวมาทั้งหมด จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Lisdexamfetamine ขนาด 20, 30, 50 และ 70 มิลลิกรัม/แคปซูล
ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. บำบัดอาการรับประทานอาหารมากผิดปกติ:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 30 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนอาหารเช้า แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานทุกสัปดาห์ ครั้งละ 10–20 มิลลิกรัม ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 50–70 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 70 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: กรณีการใช้เพื่อจุดประสงค์นี้ ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กกรณีนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ข.บำบัดอาการโรคสมาธิสั้น:
- ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 17 ปี และเด็กอายุตั้งแต่ 6 – 17 ปี: เริ่มต้นรับประทานยา 30 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนอาหารเช้า แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานทุกสัปดาห์ ครั้งละ 10–20 มิลลิกรัม ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 30–70 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 70 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กกรณีนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ก่อนใช้ยานี้ต้องให้แพทย์ตรวจร่างกายก่อนเสมอ
- การรับประทานยานี้ทำได้ 2 ลักษณะ คือ กลืนทั้งแคปซูลพร้อมน้ำดื่มอย่างเพียงพอ หรือจะแกะแคปซูล แล้วใช้ผงยาละลายกับน้ำดื่มแล้วค่อยรับประทานก็ได้
****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต( โรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคความดันโลหิตต่ำ) โรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
ผู้ที่ลืมรับประทานยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน สามารถรับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน อาจทำให้เกิดภาวะถอนยาตามมาได้
อนึ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการหยุดใช้ยา ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน ควรขอคำปรึกษาจาก แพทย์ เพื่อแพทย์ค่อยๆปรับลดขนาดการใช้ยานี้อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการป้องกันภาวะถอนยาตามมา
ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสียหรือ ท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปวดบริเวณคอหอย หายใจขัด/หายใจลำบาก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระตือรือร้นผิดปกติ นอนไม่หลับ วิตกกังวล กระสับกระส่าย ก้าวร้าว ซึมเศร้า ความรู้สึกทางเพศลดลง ประสาทหลอน รู้สึกสับสน
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ฝันร้าย มีอาการชัก การเคลื่อนไหวช้า
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาขยาย ตาพร่า เห็นภาพซ้อน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่ออกมาก มีผื่นคัน ลมพิษ Stevens-Johnson -Syndrome ผิวหนังบวม
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
มีข้อควรระวังการใช้ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือเคยติดยาเสพติดมาก่อน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูลยาแตกหัก
- ห้ามรับประทานยานี้กับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้ตามมา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจต่างๆ โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยฤทธิ์ของยานี้สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างมากมายกับผู้ป่วยกลุ่มนี้
- หากรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามเวลาที่แพทย์กำหนด แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดการใช้ยานี้ และรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์อีกครั้ง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนร่วมกับยา Bupropion และ Tramadol ด้วยเสี่ยงกับการเกิดลมชักตามา
- ห้ามใช้ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนร่วมกับยา Methylene blue เพราะจะทำให้ มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนร่วมกับยา Methenamine เพราะจะ ทำให้ระดับยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนในกระแสเลือดลดต่ำลง จนเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพ การรักษาของยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนด้อยลงตามมา
- การใช้ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนร่วมกับยา Phenylephrine อาจทำให้อัตราการ เต้นของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ลิสเด็กซ์แอมเฟตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลิสเด็กซ์แอมเฟตามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Elvanse (เอลแวนซ์) | Shire Pharmaceuticals Limited |
Tyvense (ไทเวนซ์) | Shire Pharmaceuticals Limited |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Vyvanse, Samexid, Venvanse
บรรณานุกรม
- http://www.hpra.ie/img/uploaded/swedocuments/2142630.PA0689_006_002.a795d918-c7e8-4ee1-86da-5cdd36364759.000001Package%20leaflet.140714.pdf [2017,Dec2]
- https://www.drugs.com/uk/elvanse-20-mg-capsules-hard-leaflet.html [2017,Dec2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Lisdexamfetamine#History.2C_society.2C_and_culture [2017,Dec2]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB01255 [2017,Dec2]
- https://www.drugs.com/cdi/lisdexamfetamine-capsules.html [2017,Dec2]
- https://www.drugs.com/dosage/lisdexamfetamine.html [2017,Dec2]
- https://www.drugs.com/dosage/lisdexamfetamine.html [2017,Dec2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/lisdexamfetamine-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Dec2]