ลิวโพรไลด์ (Leuprolide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลิวโพรไลด์(Leuprolide หรือ Leuprolide acetate) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ลิวโพรเรลิน (Leuprorelin) เป็นสารประเภทฮอร์โมนที่นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และเนื้องอกมดลูก ยาลิวโพรไลด์ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาโรคครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ควรมีอยู่ในสถานพยาบาล ตัวยานี้มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด สามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือใต้ผิวหนังก็ได้ ด้วยยาลิวโพรไลด์มีโครงสร้างเลียนแบบฮอร์โมนร่างกาย(ฮอร์โมน GnRH)หรือที่เรียกว่า Gonadotropin-releasing hormone (GnRH) analogue ยานี้จึงออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากอัณฑะ หรือจากรังไข่ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้มะเร็ง และเนื้องอกเจริญเติบโต

ยาลิวโพรไลด์มีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยาลิวโพรไลด์ รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีใน ภาวะให้นมบุตร หรือ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างอาจได้รับผลกระทบ/พิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากการใช้ยานี้ อาทิเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีกระเพาะปัสสาวะอุดตัน ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ที่มีหัวใจเต้นผิดปกติ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด สมอง ผู้ที่มีโรคของกระดูก ผู้ที่มีภาวะเกลือแมกนีเซียม หรือเกลืออโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น

ก่อนการใช้ยาลิวโพรไลด์ แพทย์จะต้องตรวจร่างกายและดูความผิดปกติของฮอร์โมนในกระแสเลือดของผู้ป่วย หากพิจารณาแล้วพบว่าผู้ป่วยเหมาะสมที่จะได้รับยานี้ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมารับการฉีดยาเป็นระยะๆไป

ยังมีข้อมูลความปลอดภัยของยาลิวโพรไลด์ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเพื่อทำความเข้าใจและใช้เป็นแนวทางในการดูแลตนเอง ใช้สื่อสารกับ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ระหว่างการรักษาได้อย่างถูกต้อง อย่างเช่น

  • ระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้ในช่วงสัปดาห์แรก อาจพบอาการ ปวดกระดูก มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ ปัสสาวะขัด /ปัสสาวะลำบาก จะต้องรีบปรึกษาแพทย์ ด้วยภาวะดังกล่าวเป็นผลข้างเคียงของตัวยาลิวโพรไลด์
  • ยานี้มีฤทธิ์ทำให้ระดับฮอร์โมนต่างๆของร่างกายลดต่ำลง ส่งผลให้อวัยวะบางอย่างเปลี่ยนแปลง เช่น หน้าอก/เต้านม อัณฑะ รังไข่ ส่งผลให้มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกในตอนกลางคืน กรณีเหล่านี้ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อบำบัดอาการดังกล่าวได้
  • ยานี้อาจทำให้มวลกระดูกของผู้ป่วยบางลง(โรคกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน)และเสี่ยงต่อการ้กิดกระดูกหักได้ง่าย ดังนั้นหากรู้สึกปวดกระดูก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • อาจเกิดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรือเกิดปัญหาต่อการทำงาน ของหัวใจ เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก/ แน่นหน้าอก ชาแขน-ขา พูดไม่ชัด อาเจียน ปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่า ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ผู้ป่วยอาจมีภาวะเบาหวานเล่นงานหลังใช้ยานี้ สังเกตจากมีอาการ กระหายน้ำ ง่วงนอน รู้สึกสับสน ใบหน้าแดง หายใจเร็ว ลมหายใจคล้ายกลิ่นผลไม้ ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้ แพทย์ ทราบโดยเร็ว เพื่อแพทย์จะได้ให้การดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ
  • หากพบอาการผิดปกติของต่อมใต้สมองซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ โดยสังเกตจากมีอาการ ปวดศีรษะทันทีทันใด อาเจียน เป็นลม การกลอกตาทำได้อย่างลำบาก ผู้ป่วยจะรีบต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาทันที/ฉุกเฉิน

ยาลิวโพรไลด์ เป็นยาชนิดฉีดและมีการใช้งานแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น เพื่อประสิทธิผลในการรักษา ผู้ป่วยต้องมารับการให้ยานี้อย่างสม่ำเสมอ และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

อนึ่ง หากมีข้อสงสัยการใช้ยาลิวโพรไลด์เพิ่มเติม ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือสอบถามจากเภสัชกรในสถานพยาบาลนั้นๆได้ตลอดเวลา

ลิวโพรไลด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ลิวโพรไลด์

ยาลิวโพรไลด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • บำบัดอาการโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • รักษาโรคเนื้องอกมดลูก
  • บำบัดเด็กที่มีภาวะเจริญพันธุ์ก่อนวัย

ลิวโพรไลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาลิวโพรไลด์เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ ยับยั้งการสร้าง/การหลั่งฮอร์โมน Testosterone ของเพศชาย และยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน Estrogen ในเพศหญิง ฮอร์โมนทั้ง 2 ตัว มีผลกระตุ้นเซลล์มะเร็ง หรือเซลล์เนื้องอก ให้โตขึ้น จากการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเพศดังกล่าว ทำให้อาการ มะเร็งต่อมลูกหมาก และภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เกิดการชะลอตัว และทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

ลิวโพรไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลิวโพรไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Leuprolide ขนาด 3.75, 11.25, 15, 30, และ 45 มิลลิกรัม โดยบรรจุในหลอดฉีดยาที่มีรูปแบบพร้อมใช้

ลิวโพรไลด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาลิวโพรไลด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับบำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยา 7.5 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังเดือนละ 1 ครั้ง, หรือ ฉีดยา 22.5 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อทุกๆ 3 เดือน, หรือ ฉีดยา 30 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อทุกๆ 4 เดือน, หรือฉีดยา 45 มิลลิกรัม เข้าใต้ผิวหนังทุกๆ 6 เดือน

ข. สำหรับบำบัดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 3.75 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อเดือนละ 1 ครั้ง อาจต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องถึง 6 เดือน หรือ ฉีดยาขนาด 11.25 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อทุก 3 เดือน

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ผู้ป่วยควรมารับการฉีดยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ระหว่างการใช้ยานี้กับสตรี อาจต้องได้รับการตรวจมวลกระดูก /ความหนาแน่นกระดูก ร่วมด้วยตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลิวโพรไลด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลิวโพรไลด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมมารับการฉีดยาลิวโพรไลด์ ให้ทำการนัดหมายกับ แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับการให้ยานี้โดยเร็ว ไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้รักษา

ลิวโพรไลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลิวโพรไลด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวลดลง เม็ดเลือดแดงต่ำ/ลดลง และฮีโมโกลบินต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน ท้องอืด เบื่ออาหาร ระบบทางเดินอาหารอักเสบ(เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ) เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ท้องผูกหรือท้องเสีย คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย ค่าECG เปลี่ยนไป ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดดำอักเสบ หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดที่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น รู้สึกร้อนวูบวาบ เกิดเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เกิดสิว ผิวแห้ง ผมร่วง เหงื่อออกกลางคืน เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ กระดูกหักง่าย ปวดหลัง กล้ามเนื้อฝ่อ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม วิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หยุดหายใจ แน่นหน้าอก แน่นจมูก ปอดบวม หลอดลมอักเสบ
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ในสตรี จะพบ ช่องคลอดแห้ง มีประจำเดือนผิดปกติ ในบุรุษ จะพบ ปวดลูกอัณฑะ ลูกอัณฑะเล็กลง, และอาการผิดปกติที่พบได้ในทั้ง 2 เพศ เช่น เจ็บเต้านม สมรรถภาพทางเพศถดถอย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ สมรรถภาพทางเพศถดถอย เต้านมขยาย
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ตับโต ตับทำงานผิดปกติ/เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง

มีข้อควรระวังการใช้ลิวโพรไลด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลิวโพรไลด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ยาขุ่ม ตกตะกอนแข็ง หรือ สียาเปลี่ยนไป
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ทีมีภาวะมวลกระดูกต่ำ ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะแมกนีเซียม หรือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
  • หากเกิดอาการผิดปกติต่างๆกับร่างกาย เช่น แน่นหน้าอก ปัสสาวะมีเลือดปน อวัยวะเพศผิดปกติไป ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ฯลฯ ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันนัด
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลิวโพรไลด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ลิวโพรไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลิวโพรไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาลิวโพรไลด์ร่วมกับยา Anagrelide, Dolasetron , Sotalol, Clozapine, Quinidine, ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
  • ห้ามใช้ยาลิวโพรไลด์ร่วมกับยา Loperamide เพราะอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นตามมา
  • การใช้ยาลิวโพรไลด์ร่วมกับยา Glimepiride อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด ผิดปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาลิวโพรไลด์อย่างไร?

เก็บยาลิวโพรไลด์ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ลิวโพรไลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลิวโพรไลด์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Lupron (ลูพรอน)Abbott

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Lupron Depot, Lupron Depot-Ped, Eligard, Lucrin depot, Leuprofact, Luprofact, Lupride

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/leuprolide.html[2017,April29]
  2. https://www.drugs.com/lupron.html[2017,April29]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/020011s040lbl.pdf[2017,April29]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/leuprolide-index.html?filter=3&generic_only=[2017,April29]